แข้งใหญ่ แห่งไทยลีก

แข้งใหญ่ แห่งไทยลีก

แข้งใหญ่ แห่งไทยลีก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ปานใจ ปิ่นจินดา

การกลับมาบูมอีกครั้งของฟุตบอลไทยลีก ว่ากันว่ามาจากพลังของพวกเขา นักเตะคนที่ 12 ...ขาใหญ่ข้างสนาม

สีสัน กีฬาไทยปีนี้ต้องขอยกให้กับไทยลีก เกมลูกหนังระดับพรีเมียร์ของเมืองไทย ซึ่งแม้จะก่อตั้งมานานในหลากหลายชื่อเรียก แต่เพิ่งจะมาเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง ก็เมื่อปีสองปีมานี้

โดยเฉพาะสีสันการเชียร์ที่เรียกว่าชิงซีนเกมในสนามได้ไม่น้อย ทั้งจากพลังเสียงเชียร์ โห่ร้อง กึกก้องของแฟนบอลหลายทีม ที่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนออกลวดลายการเชียร์กันอย่างเป็นระบบ

สาเหตุเป็นมาอย่างไร คงต้องฟังความเห็นแฟนบอลระดับพระกาฬของกีฬาลูกหนังไทย มีทั้งตัวแทนแฟนบอลทีมชาติอย่าง พินิจ งามพริ้ง ประธานชมรมเชียร์ไทย www.cheerthaipower.com ซึ่งถือเป็นกองเชียร์ทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการก็ว่าได้ เพราะจัดว่าเป็นการรวมกลุ่มแฟนทีมชาติที่เหนียวแน่นและเป็นเรื่องเป็นราวมาก ที่สุด

พินิจในวันนี้นอกเหนือจากการเป็นแกนกลางของกลุ่มเชียร์ไทยทำหน้าที่ส่ง พลังเชียร์ทีมชาติแล้ว เขายังมีภารกิจรอง นั่นคือ การยกระดับมาตรฐานการเชียร์กีฬาไทยให้ก้าวสู่สากล

..เปล่า เขาไม่ได้จะส่งเสริมให้กองเชียร์ร้องเพลงภาษาอังกฤษ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือ ผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการเชียร์ที่เข้ากันกับเกมกีฬา มากกว่าร้องเพลงสามช่า อย่างที่ทำกันมาเป็นสิบปี

นอกจากนี้ยังมี สองอุลตร้า ณ เมืองทอง อย่าง นพพร มหายศ และ พิพัฒน์ วราเมธพิพัฒน์ ตัวแทนแฟนบอลจากเมืองทองยูไนเต็ด ที่เรียกขานตัวเองว่า "อุลตร้าเมืองทอง" ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากราว 20 คนในวันเปิดสนาม สามารถสร้างพลังนับหมื่นเสียงเชียร์ให้กับทีมได้ภายในฤดูกาลเดียว

ไม่ใช่ว่าเพราะนักเตะเมืองทองเล่นเก่งระดับมหัศจรรย์ แต่ที่สามารถเรียกคนมาเชียร์ได้มากขนาดนี้ ทั้งสองคนบอกว่า เพราะบรรยากาศการเชียร์ล้วนๆ

และตบท้ายด้วย สัญชัย ชนะสงคราม แกนนำเชียร์ "ชลบุรี เอฟซี" ที่มีภารกิจส่งต่อพลังเชียร์สู่ทัพนักเตะฉลามชล ให้มีสีสัน ดุดัน และเป็นมากกว่าการเชียร์กีฬาสี

พลังข้างสนาม

หากถามถึงความสำคัญของพลังเชียร์ว่าส่งผลต่อความสำเร็จของสโมสรขนาดไหน นั้น อุลตร้าทั้งสอง รวมจนถึงพินิจ ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ..มาก!

"พวกเราคือ ผู้เล่นคนที่ 12" พิพัฒน์ตอบสั้น ง่าย แต่ได้ใจความ และนั่นจึงเป็นเหตุผลของการยึดพื้นที่โซนหลังซุ้มนักเตะสำรองเป็นฐาน บัญชาการเชียร์ของกลุ่มอุลตร้าเมืองทอง

"ถึงจะโดนยิงนำแต่เสียงเชียร์เราก็จะดังกว่าทีมคู่แข่งอยู่เสมอ เพราะเราเชื่อในพลังเชียร์ว่ามันสามารถกู้สถานการณ์ให้กลับมาดีได้จริงๆ พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วตั้งหลายครั้ง ขนาดตามอยู่ 2 ประตู ก็ยังกลับมาชนะได้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมเชื่อว่า มากกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ของปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของสโมสร อยู่ที่แฟนคลับ บอลถึงเล่นกันให้ตาย เตะอย่างเทพ แต่ถ้าไม่มีคนดู ก็จบ" นพพรเล่า

ก่อนที่พิพัฒน์จะสำทับต่อ โดยยกตัวอย่าง ทีมขั้นเทพที่กวาดแชมป์มาแล้วนักต่อนัก อย่างราชประชา, ราชวิถี, แบงก์กรุงเทพ และ กสิกร ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความเก่ง แต่แล้วก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากหลุดจากวงโคจรไทยลีกไป เพราะไม่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยหรือไม่ก็ปรับไม่ทัน

"ไทยลีกวันนี้ไม่มีที่ยืนสำหรับทีมที่ไม่มีแฟนคลับ" อาจเป็นคำกล่าวที่แรงไป แต่ในฐานะแฟนบอลไทยชนิดซึมเข้าเส้นเลือดอย่าง พินิจ ยืนยันว่าเขาไม่ได้พูดเกินจริง

เพราะโดยปกติกงล้อความสำเร็จของทีมฟุตบอลจะต้องประกอบด้วยนักเตะที่เก่ง การบริหารงานที่ดี และ จะต้องมีแฟนคลับที่เหนียวแน่น ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้จะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

นักเตะเก่งก็ย่อมสร้างผลงานดี และดึงดูดแฟนๆ ให้มาเชียร์ และเมื่อเกิดกลุ่มก้อนของแฟนคลับที่มีพลัง สปอนเซอร์ย่อมวิ่งเข้ามา นั่นย่อมหมายถึงรายได้ก้อนโตจากการแปะโลโก้สินค้าบนหน้าอกเสื้อ หรือ ป้ายโฆษณาข้างสนาม ซึ่งก็วนกลับมาให้ทีมมีเงินจ้างนักเตะดีๆ มีเงินตอบแทนค่าเหนื่อยอย่างสมน้ำสมเนื้อ

แต่ทราบหรือไม่ว่าห่วงโซ่ที่ว่านี้ ยังมีทางลัดสู่ความสำเร็จที่สร้างได้ด้วยพลังเชียร์

ในมุมมองของพินิจ ต่อให้ทีมรวยล้นฟ้า มีนายทุนเงินหนาเป็นแบ็คอัพ แต่ถ้าเตะไม่มัน เอาแต่คิดจะชนะไม่ว่าจะด้วยแทคติกใดๆ จนกระทั่งละเลยไม่เห็นความสำคัญของเสน่ห์ในเกมกีฬาและกองเชียร์แล้วนั้น ต้องถือเป็นหายนะของทีมได้เลย เพราะต่อให้คว้าแชมป์ได้ก็อาจอยู่ไม่นานเพราะเมื่อทีมหมดเสน่ห์ คนเชียร์ก็น้อย ยอดขายตั๋วไม่ดี อีกทั้งสปอนเซอร์ก็ไม่เข้า

นายทุนเงินหนาขนาดไหนก็ต้องถอย เพราะมีแต่จะจ่ายออกอย่างเดียวนั้น ไม่ใช่เรื่องสมเหตุสมผลทางธุรกิจแน่นอน

หมดยุค เชียร์ไทยหัวใจสามช่า

แต่แล้วเกมไทยลีกที่ลุ่มๆ ดอนๆ มานับสิบปี เปลี่ยนชื่อและรูปแบบการจัดการมาหลายหน ก็กลับกลายเป็นเรื่องอินเทรนด์ของคนรักเกมกีฬาที่ยกพวกมาเชียร์กันถึงขอบ สนาม จากที่แต่ก่อนให้ดูถ่ายทอดสดทางทีวีอยู่กับบ้านสบายๆ ยังไม่เอาเลย สิ่งที่เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญ นั่นคือ สีสันของกองเชียร์ของไทยลีกวันนี้ ที่มีการปรุงแต่งเพิ่มรสชาติให้ดุเด็ดเผ็ดมันยิ่งขึ้น

เทียบกับสมัยก่อน หากจะร้องเพลงเชียร์สักเพลงให้พร้อมเพรียงกันได้ทั้งสนาม คงเหลือตัวเลือกให้ร้องอยู่ไม่มาก และนั่นก็ทำให้ "สามสิบยังแจ๋ว" ไต่ชาร์ทขึ้นเป็นอันดับหนึ่งตลอดกาลในใจกองเชียร์ชาวไทยที่นึกอะไรไม่ออก เป็นต้องร้อง "..โอ้แม่มะพร้าวเนื้อตัน น้องเอยมามัน เอาเมื่อตอนสามสิบ"

ก่อนจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนให้เพลงตระกูลสามช่าด้วยกันอย่าง ไก่นาตาฟาง, จักรยานคนจน หรือแม้กระทั่งเพลงช้าง..ช้าง..ช้าง ก็ยังเคยได้ขึ้นแท่นเป็นเพลงประจำชาติชั่วคราวกับเขาได้เหมือนกัน

แต่กับสีสันการเชียร์ฟุตบอลไทยวันนี้ เริ่มมีการปรุงแต่งรูปสีกลิ่นรสใหม่ เพื่อให้เข้ากับการเชียร์กีฬาให้ได้อารมณ์ทั้งกับคนเชียร์และคนเตะ จึงเกิดเพลงเชียร์จังหวะมาร์ช ปลุกใจ ตลอดจนเพลงทำนองฮึกเหิมขึ้นมาในหลากหลายรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นเชียร์ไทย กลุ่มอุลตร้า หรือจะเป็นฉลามชล ต่างก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่า เพลงที่แต่งขึ้นใหม่ก็นำทำนองเพลงเชียร์จากทีมยักษ์ใหญ่ซีกโลกตะวันตกมาใช้ ปรับใช้ ใส่เนื้อร้องไทย เพื่อใช้แทนเพลงลูกทุ่งสามช่าเดิมๆ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อปลุกเร้าบรรยากาศการแข่งขันให้เข้มข้นและเหมาะสมกับ เกมกีฬามากขึ้นจากสไตล์ "ติ๊ดชึ่ง" ที่มีมาแต่เดิมและดูเหมือนจะโจ๊ะกันเองมากกว่าจะส่งพลังใจไปให้นักเตะ

เชียร์ไทยยุคใหม่ สไตล์ญี่ปุ่น

สไตล์การเชียร์บอลทั้งในไทยลีกจนถึงการเชียร์ทีมชาติวันนี้ พินิจ ในฐานะประธานชมรมเชียร์ไทยยอมรับว่า รูปแบบการเชียร์ของเชียร์ไทยมีต้นแบบมาจากญี่ปุ่น มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเกิดจากความตั้งใจและเลือกมาแล้ว ว่าจะพัฒนาตาม

สาเหตุที่เลือกเอาสไตล์การเชียร์แบบญี่ปุ่นมาปรับใช้ในบ้านเรานั้น พินิจ ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะพื้นฐานนิสัยคล้ายกันตรงที่ต่างก็มีความขี้อาย จึงจำเป็นต้องมีผู้นำเชียร์เพื่อสร้างบรรยากาศลดความเขินอาย และทำให้ง่ายต่อการเข้ามามีส่วนร่วม

"สไตล์ของเราหนักไปทางญี่ปุ่นคือมีผู้นำเชียร์ มากันเป็นทีม ยกกลองมาตีให้จังหวะ มีการร้องเพลงร่วมกัน แต่นอกเหนือจากนั้นก็มีสไตล์ประเทศอื่นมาผสมบ้างในส่วนน้อย อย่างผ้าพันคอ ก็เอามาจากยุโรป เขามี เราก็อยากมีบ้าง ไม่หนาวก็เอาไว้ซับเหงื่อแทน" พินิจเล่า

นอกจากจังหวะการเชียร์ที่เปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบการเชียร์ก็ยังมีระบบมากขึ้น

ตัวอย่าง เพลงเชียร์ของกลุ่มอุลตร้าเมืองทองนั้น พิพัฒน์ เล่าว่าในส่วนของเพลงเชียร์ ก็มีการจัดสรรนำมาใช้ให้เหมาะกับแต่ละช่วงเวลาของเกม มีตั้งแต่เพลงร้องเปิดสนาม , เพลงส่งกำลังใจหากโดนนำ และ เพลงปลุกใจ เนื้อหาทำนองสนุกสนาน เมื่อทีมนำ หรือ เป็นผู้ชนะ นอกจากนี้ยังมีกระทั่งท่าประจำทีม นั่นคือ ท่าแปลงร่างอุลตร้าแมน โดยจะทำพร้อมเปล่งคำว่า "เมืองทองสุดยอด!"

ซึ่งก็ไม่ต่างกับฉลามชล ที่มีการแต่งเพลงทำนองเพื่อใช้เชียร์กีฬาให้เหมาะกับแต่ละสถานการณ์เช่น เดียวกัน เพียงแต่เพิ่มความดุดันฮึกเหิมใส่เข้ามาจนเป็นเอกลักษณ์ของแฟนบอลเมือง ชลบุรี

แต่ทั้งนี้ แม้จังหวะจะถูกปรุงแต่งเติมรสชาติความเป็นสากลเข้าไปเพียงใด แต่ก็ไม่มีทางที่จะทิ้งกลิ่นอายของสามช่าไปได้เพราะอย่างไรเสียจังหวะสามช่า ก็ยังเต้นอยู่ในเส้นเลือดชาวไทยทุกคน

ดังนั้นสไตล์ของเพลงเชียร์ที่เกิดขึ้นวันนี้ จึงยังคงความโจ๊ะที่คนไทยคุ้นเคย ผสมเข้ากับท่วงทำนองที่แม้จะสลัดไม่พ้นเงาเพลงเชียร์ทีมยักษ์ใหญ่ในยุโรป แต่ก็ต้องถือว่าบันไดขั้นแรกของการเชียร์อย่างไทยๆ ได้ก่อให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว

โห่ฮา ปาของ จ้องด่ากรรมการ

เมื่อสีสันการเชียร์ดึงดูดให้คนไทยหันมาดูบอลไทยลีกมากขึ้นจนถึงขั้นเต็ม สนามอยู่หลายต่อหลายแมทช์ พลังเรือนหมื่นที่ท่วมท้นอยู่ในสนาม กลับไม่ได้ทำหน้าที่ประสานพลังใจให้ส่งถึงนักกีฬาเพียงอย่างเดียว เพราะมักจะตามมาด้วย แรงด่า เสียงสาปส่ง ไม่ว่าจะต่อกรรมการ นักเตะฝ่ายตรงข้าม หรือ แม้กระทั่งนักเตะขวัญใจอย่างเกินขอบเขต ซึ่งเมื่อพวกมากก็ยิ่งทวีพลังจนอาจถึงขั้นเลยเถิด โดยปรากฏการณ์ลักษณะนี้ แม้จะยังไม่ถึงขั้นเป็นภาพและข่าวที่คุ้นหูคุ้นตา

แต่ก็เป็นที่น่ากังวลว่า อาจกลายเป็นเส้นบรรทัดที่ฝังรากลึกอยู่ในนิสัยการเชียร์บอลแบบไทยๆ ซึ่งวันนี้เองก็ยากจะปฏิเสธเต็มปากเต็มคำ ว่า แรงเชียร์ของแฟนไทยไม่มีดีกรีของแอลกอฮอล์มาเจือปน

กฎเหล็กของการเป็น "อนารยชน คนเมืองทอง" ซึ่งชาวอุลตร้าร่วมกันวางกฎกติกาและพร้อมใจกันปฏิบัติตามจึงถือกำเนิดขึ้น อาทิ ห้ามผรุสวาทหยาบคาย หรือล้ำเส้นของคำว่าสุภาพชน โดยแม้ว่าในสายตาของใครหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องน่าหมั่นไส้ แต่พิพัฒน์ และ นพพร มองว่า นี่คือฐานรากที่ดีหากจะสร้างบอลไทยให้ไปไกลเกินกว่าชายแดนสยาม

"กฎที่เราตั้งไม่ได้ลดทอนความสนุกในการเชียร์ลงเลย เราโห่ฮาได้ กดดันได้ แต่หยาบคายไม่ได้ ซึ่งก็เป็นการสร้างบรรยากาศดีๆ ให้สนามบอลกลายเป็นแหล่งบันเทิงของครอบครัว ดูได้ทุกเพศ ทุกวัย

ผมอยากเห็นบอลไทยทั้งเล่นทั้งเชียร์อย่างมีสปิริต นักเตะก็อย่าสำออย ดึงเกมกันจนน่าเกลียด ส่วนคนเชียร์ ก็อย่าพาล ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปแก้ตั้งแต่ทัศนคติของฟุตบอลไทย ถามผู้บริหารทุกสโมสร ว่า วันนี้คุณทำทีมเพื่อการเอ็นเตอร์เทน หรือ คุณทำทีม เพื่อชัยชนะ" พิพัฒน์กล่าว

ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของพินิจ ที่ฝันเช่นกันว่าสักวันหนึ่งคนไทยจะเชียร์กีฬาอย่างเข้าใจในเกมกีฬา แพ้ก็ร้องไห้เสียใจ ฟูมฟายแค่ไหนก็ไม่เป็นไรหากทีมที่รักแพ้ แต่การจ้องที่จะด่าหรือโทษแต่คนอื่นนั้น มันทำให้เสน่ห์ของกีฬาหมดไปและถูกแทนที่ด้วยอารมณ์รุนแรง

สิ่งหนึ่งที่ทั้งพินิจ และ สองคู่หูชาวอุลตร้า พิพัฒน์ มองเห็นเหมือนกัน ก็คือ บอลไทยขี้แพ้ชวนตี ซึ่งหากจะชี้เป้าหาต้นตอของการดูบอลไม่สนุก และ นำมาสู่ภาวะซบเซาของไทยลีกตลอดมานั้น เรื่องนี้คงมาเป็นอันดับต้นๆ

"ผมอยากเห็นคนไทยดูบอลแล้วเข้าใจว่ามันเป็นเกมกีฬา ยอมรับผลของมันแม้ว่าจะไม่เป็นดั่งใจ อย่าโทษคนอื่นมากจนเกินไป เพราะกีฬาไม่ใช่เรื่องของเหตุผลอย่างเดียว แต่มีโชคเข้ามาเกี่ยวด้วย ถ้าแพ้ก็เสียใจ จะร้องห่มร้องไห้ก็ร้องไป นี่คือเสน่ห์ของกีฬา"

"แฟนบอลไทยขี้โวยมาก โดนเสียบก็ด่า ถูกเป่าฟาวล์ก็ด่า ซึ่งก็ทำให้คนไม่อยากมาดูบอล เพราะบรรยากาศมันไม่ดี แถมภาพลักษณ์ที่เคยเป็นๆ มาก็คือ สนามบอล เป็นที่ของคนเมา มานั่งกินเหล้าดูบอล ตีกลองสามช่า ฉิ่งฉับ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ไม่ได้เอื้อให้เกิดการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยเลย" พินิจกล่าวเช่นเดียวกันกับ พิพัฒน์ ที่มองว่านี่คือปัญหาสำคัญที่ทำให้คนไทยไม่เชียร์ไทยลีก ทั้งๆ ที่ราคาก็แค่ 50 บาท

* เสียงในสนาม

ภาพเปลี่ยนผ่านของแฟนบอลไทยลีก ในสายตาของ ตะวัน ศรีปาน อดีตกองกลางของทีมชาติไท ผู้ผันตัวเองมาสู่หน้าที่โค้ชทีมบีอีซี เทโรศาสน นั้น ตะวัน เอ่ยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่คนไทยให้ความสนใจบอลไทยลีกมากขึ้น มีแฟนบอลมาเชียร์อุ่นหนาฝาคั่ง ทำให้นักเตะรู้สึกเหมือนไม่ได้เล่นแค่ 11 คน เหยาะแหยะอย่างแต่ก่อนคงไม่ได้ เพราะวันนี้ฟุตบอลไทยเป็นอาชีพแล้ว

โดยเฉพาะสีสันในการเชียร์ที่มีการพัฒนาขึ้นมากนั้น สร้างความฮึกเหิมให้กับนักเตะได้กองโต

"แฟนบอลเดี๋ยวนี้ พยายามแต่งเพลงเชียร์กันใหม่ ถึงจะเลียนแบบต่างประเทศมาบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเพลงพวกนี้ช่วยสร้างความฮึกเหิมให้กับนักบอลทีมเหย้า แล้วก็กดดันนักเตะคู่แข่งได้มาก"

ตะวัน เอ่ยว่าต้องเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง เพราะมันหมดสมัยของสามช่าเก่าๆ ไปแล้ว

สอดคล้องกันกับ พิภพ อ่อนโม้ กัปตันทีมชลบุรีเอฟซี ที่อยากให้แฟนบอลไทยระมัดระวังในเรื่องความรุนแรงให้มากขึ้น

"คนดูมาเชียร์กันเต็มสนามนักเตะก็มีกำลังใจ ส่วนเรื่องเพลงนั้น แฟนๆ จะร้องเพลงอะไร สามช่า หรือ ไม่ใช่สามช่า ก็ไม่เป็นไร เพราะแค่มาเชียร์กัน พวกผมก็ดีใจแล้ว

แต่จะว่าไป สามช่าฟังบ่อยๆ ก็กลายเป็นชินไป แล้วทำนองก็ไม่ค่อยฮึกเหิมเท่าไหร่"

ส่วนเรื่องปัญหาความรุนแรงที่ดูเหมือนจะหนักข้อขึ้นนั้น ทั้งตะวัน และ พิภพ ต่างก็เห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องสำคัญที่แฟนบอลไทยควรจะระมัดระวังให้มากกว่านี้

"ผมอยากให้แฟนบอลมีมารยาทมากขึ้น ลดความรุนแรงลง อย่างการขว้างปาสิ่งของ หรือดื่มเครื่องดื่มมึนเมานั้น ถือว่าไม่สมควร ส่วนเรื่องด่ากันหยาบๆ คายๆ นั้น ถึงเมืองนอกจะด่ากันแรงกว่านี้ แต่นี่เมืองไทย วัฒนธรรมไทยยังไม่ใช่แบบนั้น พูดกันตรงๆ ถ้าด่าแบบนี้นอกสนาม ก็คงมีต่อยกันไปแล้ว" อดีตทีมชาติ ขอไว้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook