มาร์คไม่หวั่นอาถรรพณ์

มาร์คไม่หวั่นอาถรรพณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ไปต่างประเทศในช่วงม็อบแรง19นี้ชุมนุมใหญ่

โฆษกรัฐบาล ชี้ ก.ย.-ต.ค. เสื้อแดงหาทางแผลงฤทธิ์เล่นงานรัฐบาล หวังล้มช่วงรำลึกเหตุการณ์ 19 กันยา ย้ำ รัฐบาลต้องไม่ประมาททำทุกอย่างรัดกุม อัด ทักษิณ ไปแต่ประเทศเล็ก ๆ ส่วนประเทศใหญ่ ๆ ไม่มีใครต้อนรับแล้ว สุเทพ เสนอที่ประชุมครม.ลงมติให้เรียกประชุมครม.แบบเต็มคณะหรือฉุกเฉินได้ หากสถานการณ์ชุมนุมรุนแรง คาด 19 ก.ย.นี้ มีชุมนุมใหญ่ของนปช. ขณะที่พ.ร.บ.ความมั่นคงฯที่ประกาศไปสิ้นสุดแล้ว ส่วน นายกฯอภิสิทธิ์ ไม่หวั่นอาถรรพ์ไปนอกช่วงม็อบแรง ย้ำ ไปงานใหญ่แสดงศักยภาพผู้นำ-สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ ขณะที่นปช.อัดรัฐบาลอ้างมือที่สามออกประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ส่วนยุติธรรมรอตรวจฎีกาอย่างละเอียด ด้านป.ป.ช.เลื่อนนัดชี้มูลคดีพธม.ถูกสลาย 7 ตุลา

* พ.ร.บ.ความมั่นคงฯสิ้นสุดแล้ว

ความคืบหน้าเกี่ยวกับการประกาศ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่จะมีผล สิ้นสุดในวันที่ 1 ก.ย.นี้ เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช. นั้น เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 1 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.ว่า การบังคับใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะมีผลสิ้นสุดลงในวันนี้ (1 ก.ย.) เวลา 24.00 น. โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะลงนามยกเลิกเพื่อไม่ให้มีปัญหาทางข้อกฎหมาย เนื่องจากเมื่อครั้งที่มีการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่ จ.ภูเก็ต นายกฯก็ลงนามยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

นายวัชระ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานต่อที่ประชุมครม.ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงน่าจะยังไม่มีการชุมนุมในช่วง 2 สัปดาห์นี้ แต่จะมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตามถ้าเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯอีกครั้ง จะมีการเรียกประชุมครม.นัดพิเศษแบบเต็มคณะเพื่อพิจารณา

* ครม.มีช่องทางประกาศพรบ.อีก

คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯต้องทำโดย ครม. แต่ก็มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการประชุมและการเสนอเรื่องที่กำหนดเรื่ององค์ประชุมและวิธีการประชุมไว้ ทั้งนี้ตนคิดว่าครม.คงมีการประชุมเต็มคณะเพื่อไม่ให้มีปัญหา ซึ่งนายสุเทพก็เห็นว่าควรมีการประชุม ครม.เต็มคณะเพื่อไม่ให้มีปัญหา อย่างไรก็ตาม พระราช กฤษฎีกาดังกล่าวก็ระบุเรื่องการประชุมครม.แบบฉุกเฉิน ซึ่งเหมือนกับเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ส่วนการยกเลิกการใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯนั้น เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี และโดยหลักการจะยกเลิกตามระยะเวลาการประกาศโดยปริยาย แต่ถ้ายังมีการประกาศหรือมีผลอยู่ แต่เหตุการณ์นั้น ๆ หมดไปแล้ว ไม่ต้องใช้ไปจนถึงวันสิ้นสุด ก็ประกาศยกเลิกได้

* ม็อบยังแรงต้องติดตามใกล้ชิด

ต่อมาเวลา 14.15 น. นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า นายสุเทพ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีและ ครม.ได้รับทราบถึงสถานการณ์ โดยล่าสุดพบว่าทางแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมยังโจมตีรัฐบาลว่ามีการใช้ความรุนแรงและจากการประเมินสถานการณ์เชื่อว่าในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ตรงกับวันครบรอบ 3 ปี ในการรัฐ ประหารจะมีการชุมนุมกันอย่างยืดเยื้อ โดยมีการสร้างทัศนคติกันว่าในอดีตที่ผ่านมามีมวลชน กลุ่มอื่นชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายสามารถทำได้ ดังนั้นทางกลุ่มผู้ชุมนุมจะทำในลักษณะทำนองเดียวกัน

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า หลังจากวันนี้เป็นต้นไปการปฏิบัติหน้าที่จะมีตำรวจเป็นผู้ปฏิบัติหลัก ส่วนกองทัพและ กทม. เป็นผู้ช่วย ในส่วนของสถานการณ์ที่รุนแรง จะให้ กอ.รมน. ดำเนินการ เสนอเรื่องต่อ ครม.เพื่อขอใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ หรืออาจจะเสนอต่อ ครม.ฉุกเฉินออกประกาศดังกล่าว

* มาร์คไม่กลัวอาถรรพณ์บินไปนอก

นายอภิสิทธิ์ แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยศอ.รส.ได้รายงานว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้ายังคงมีความเคลื่อนไหว แต่ยังไม่สรุปชัดเจนว่าความรุนแรงเพียงใด อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีการเคลื่อนไหวและเป็นปัญหากระทบกับความมั่นคง จะได้มีการนัดประชุม ครม.นัดพิเศษประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นอกจากนั้นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและเรื่องท่องเที่ยว รายงานว่านักลงทุน นักท่องเที่ยวเข้าใจดีถึงธรรมชาติและลักษณะของกฎหมาย ดังนั้นการประกาศใช้พ.ร.บ.ดความเชื่อมั่นแต่อย่างใด

ต่อข้อถามว่าเป็นห่วงเรื่องของการชุมนุมหรือไม่ เพราะในช่วงเวลานั้นนายกรัฐมนตรีต้องเดินทางไปต่างประเทศ แต่ผู้ชุมนุมยังจะยืนยันชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนต้องไปทำหน้าที่ที่สหประชาชาติและเป็นตัวแทนอาเซียนในการเข้าร่วมประชุมจี 20 ส่วนการดูแลความสงบนั้นได้มอบหมายให้นายสุเทพ เป็นผู้ดูแล เมื่อถามว่ากลัวอาถรรพณ์หรือไม่เพราะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีที่เดินทางไปต่างประเทศและมีการชุมนุมมักจะมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่กลัวอาถรรพณ์ เพราะเงื่อนไขมันต่างกัน อย่างไรก็ตามแนวทางการทำงานของรัฐบาลคือเราพยามหลีกเลี่ยงการปะทะ แต่เมื่อมีแนวโน้มจะเกิดกระทำที่ผิดกฎหมายเราก็จะต้องรักษากฎหมายและทำอย่างนุ่มนวลที่สุดเท่าที่จะทำได้

* ชี้ก.ย.-ต.ค.ช่วงรัฐบาลอันตราย

ต่อมาเวลา 15.30 น. นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ก่อนการประชุมอาเซียน จะถือเป็นจุดอันตรายของรัฐบาล เพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่กลุ่มเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวเต็มที่เพื่อต้องการให้รัฐบาลล้ม และจะมีการปลุกกระแสบางอย่างขึ้นมาเหมือนกับเรื่องคลิป เสียง เพื่อไม่ให้ประชาชนเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเปราะบาง เพราะเป็นช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ งบประมาณ รวมทั้งครบรอบการปฏิวัติ 19 ก.ย. ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ประมาท แต่หากรัฐบาลผ่านจุดนี้ไปได้ ความเข้มแข็งก็จะเกิดขึ้น

* แฉปท.ใหญ่ไม่เอาแม้วแล้ว

นายปณิธาน กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่สนใจเฉพาะกับประเทศเล็ก ๆ เพราะประเทศนั้นๆต้องการให้พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปลงทุน แต่ไม่สามารถเข้าประเทศใหญ่ ๆ ได้ เพราะประเทศต่าง ๆ ไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ประเทศของเขาเป็นที่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยหลายประเทศได้แจ้งมาที่รัฐบาลไทยว่ารู้สึกกังวลกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนี้ตนมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณเปรียบเหมือน บิน ลาเดน ที่ยังจับตัวไม่ได้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า แม้ว่าบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในต่างประเทศจะลดลง แต่ในประเทศยังมีอิทธิพลอยู่ในบางพื้นที่ แต่ศักยภาพที่จะกลับมาเป็นผู้นำหรือครองใจประชาชนขณะนี้ลดลงไปมาก แต่ก็ยังมีศักยภาพในการผลักดันให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถสร้างประเด็นทางการเมืองและเคลื่อนไหวด้วยวิธีปลุกเร้า เพื่อนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ความพยายามอย่างมาก ส่วนความแตกแยกของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นการแยกเพื่อให้ได้มวลชนอย่างชัดเจน เป็นการแยกกันตี ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์คือ พ.ต.ท.ทักษิณ

* แจงกำหนดการนายกฯไปสหรัฐ

นายปณิธาน กล่าวถึงกำหนดการเดินทางเยือนสหรัฐของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯและคณะจะเดินทางไปสหรัฐในวันที่ 20-26 ก.ย.นี้ โดย วันที่ 22 ก.ย. จะเดินทางไปร่วมประชุมยูเอ็น ในหัวข้อ climate change และพบกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ส่วนวันที่ 23 ก.ย. จะเดินทางไปนิวยอร์กเพื่อโรดโชว์ และพบนักธุรกิจ โดยจะมีการกล่าวปาฐกถากับสภาหอการค้าสหรัฐ ส่วนวันที่ 24 ก.ย. นายกรัฐมนตรีจะไป ร่วมประชุมจี 20 ที่เมืองพีชเบิร์ก วันที่ 26 ก.ย. นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอาเซียนจะไปปาฐกถาในการประชุมใหญ่ยูเอ็นที่เมืองนิวยอร์ก โดยการเดินทางครั้งนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศและให้นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นผู้นำ

* นปช.อัดรัฐบาลอ้างมือที่สาม

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพ ยืนยันจะใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง ทุกครั้งเพื่อป้องกันการชุมนุมว่า คนเสื้อแดงได้ยืนยันตลอดว่าการชุมนุมทุกครั้งจะเป็นไปอย่างสงบสันติปราศจากอาวุธไม่มีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความรุนแรงใด ๆ ซึ่งรัฐบาลพยายาม ใช้สถานการณ์ที่ถูกจัดฉากขึ้นในเดือน เม.ย.ขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการใช้กฎหมาย ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตนขอให้รัฐบาลตระหนักในเรื่องนี้ให้ดี ในการชุมนุมวันที่ 5 ก.ย.นี้ คนเสื้อแดงจะมีการป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างเต็มที่ ซึ่งที่รัฐบาลบอกว่าเป็นห่วงการสร้างสถานการณ์ของมือที่สามนั้น รัฐบาลก็ควรสืบเสาะตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่าใช้คำว่ามือที่สามมาเป็นข้ออ้างในการออกกฎหมายในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

* จตุพรฟ้องสุรชัยหมิ่นประมาท

นน พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงกรณีที่นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำกลุ่ม นปช.ที่ประกาศแยกตัวมาตั้งกลุ่มสยามแดง ร่วมกับนายจักรภพ เพ็ญแข ระบุว่ากลุ่มสามเกลอ สู้เพื่อให้ตัวเองได้เป็นรัฐมนตรีมากกว่าสู้เพื่อประชาชนว่า ขอยืนยันว่าเป็นความเท็จทั้งสิ้นโดยเฉพาะที่นายสุรชัย ระบุว่าพวกตนแอบพบกับนายเนวิน ชิดชอบ เพราะการพูดเช่นนี้ถือเป็นการกระทำที่ไม่ดี ซึ่งจะเป็นการทำลายกระบวนการคนเสื้อแดง ตนจะปรึกษาฝ่ายกฎหมายให้ดำเนินคดีกับนายสุรชัยด้วย

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัว หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจะชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. ว่า คงเป็นการรำลึกถึงวันที่นายใหญ่สูญเสียอำนาจ และคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คงต้องการเร่งเร้าให้สถานการณ์สุกงอม เพราะหากยืดเยื้อจะสิ้นเปลืองเงินทุนไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้แม้จะมีข่าวกลุ่มคนเสื้อแดงแตกออกเป็น 2 ส่วน เชื่อว่าเป็นความขัดแย้งในเรื่องวิธีการมากกว่าเป้าหมาย

* ยธ.รอตรวจฎีกาอย่างละเอียด

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานเรื่องฎีกาของนปช. จากนายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงฯแล้ว โดยกระทรวงได้เรียกประชุมผู้บริหารและส่งเรื่องดังกล่าวให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้พิจารณารายละเอียดในแง่กฎหมาย เนื่องจากฎีกาดังกล่าวมีลักษณะพิเศษ แตกต่างจากฎีกาที่เคยมีมาทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการวินิจฉัยประเภทของฎีกาว่าเป็นฎีการ้องทุกข์หรือฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ อีกทั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีที่ตัวผู้ต้องโทษไม่อยู่ในประเทศไม่ได้เป็นผู้ขอฎีกาเองแต่มีประชาชนจำนวนมากเป็นผู้ขอ

ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการทำงานของข้าราชการประจำ ซึ่งต้องหาข้อมูลเสนอต่อ รมว.ยุติธรรม โดยจะพยายามจะเร่งหาข้อสรุปให้ได้เร็วที่สุด ทั้งนี้มีโอกาสพิจารณารายละเอียดของฎีกาดังกล่าวแล้วพบว่าไม่ใช่แบบฟอร์มฎีกา ปกติ เบื้องต้นในวรรคสุดท้ายของฎีกามีการพูดถึงการขอพระราชทานอภัยโทษในคดีที่ถูกศาล สั่งจำคุก 2 ปี แต่ข้อความก่อนหน้านั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี ดังนั้นจึงยังไม่อยากให้ความเห็นสรุปไปก่อนว่าเป็นฎีกาประเภทใด และไม่ขอตัดสินไปก่อนว่าเป็นฎีกาที่จะสามารถถวายได้หรือไม่ นายกิตติพงษ์กล่าว

* เลื่อนชี้มูลคดีสลายพธม.7ตุลา

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ ประชุม ป.ป.ช. ได้มีการพิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ตาม ที่คณะอนุกรรมการไต่สวนฯได้รายงาน เพื่อให้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาว่า สำนวนการไต่สวนสมบูรณ์เพียงพอที่จะมีการลงมติชี้ มูลความผิดได้หรือไม่ ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะ กรรมการ ป.ป.ช.แต่ละคนได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง แต่เนื่องจากพยานหลักฐาน เอกสารมีกว่า 400 หน้า ที่ประชุมจึงมีมติเห็นตรงกันว่าจะให้คณะอนุกรรมการฯไปตัดทอนเนื้อหาบางส่วนที่ไม่มีความจำเป็นออกไป ก่อนที่จะส่งให้ฝ่ายเลขาเสนอกลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 4 ก.ย. นี้ และจะมีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อลงมติชี้มูลคดีดังกล่าวในวันที่ 7 ก.ย.นี้.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook