DNA มนุษย์ที่ส่งต่อจาก “มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล” อาจเพิ่มความเสี่ยงติด “โควิด-19”

DNA มนุษย์ที่ส่งต่อจาก “มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล” อาจเพิ่มความเสี่ยงติด “โควิด-19”

DNA มนุษย์ที่ส่งต่อจาก “มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล” อาจเพิ่มความเสี่ยงติด “โควิด-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การศึกษาชิ้นใหม่ล่าสุด ชี้ว่า ชุด DNA ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ถูกส่งต่อมาจาก “มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล” หรือมนุษย์ดึกดำบรรพ์ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 60,000 ปีก่อน โดยนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า มีปัจจัยอะไรที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงให้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่จากการศึกษาชิ้นนี้ แสดงให้เห็นหลักฐานบางอย่างที่เชื่อมโยงสุขภาพของมนุษย์ในปัจจุบันเข้ากับมนุษย์ดึกดำบรรพ์ 

“ผลลัพธ์ของการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 60,000 ปีก่อน ยังคงส่งผลต่อมนุษย์ในปัจจุบัน” Joshua Akey นักพันธุศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา กล่าว 

จากการศึกษา ค้นพบว่า ชิ้นส่วนของจีโนม (Genome) ซึ่งมียีน 6 ชุดในโครโมโซมคู่ที่ 3 เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่เดินทางผ่านประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดย DNA ลักษณะดังกล่าวสามารถพบได้ในประเทศบังกลาเทศ ซึ่งมีคนมากกว่า 63 เปอร์เซ็นต์ที่มี DNA นี้อย่างน้อย 1 ชุด ขณะที่ในพื้นที่เอเชียใต้ 1 ใน 3 ของคนที่นี่มี DNA ชุดนี้ อย่างไรก็ตาม DNA ชุดนี้กลับหายากในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก เช่น ชาวยุโรปเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มี DNA ดังกล่าว เช่นเดียวกับในเอเชียตะวันออกที่มีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ และแทบจะไม่พบในแอฟริกาเลย

นักวิจัยเริ่มมีความเข้าใจโรคโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนกลุ่มหนึ่งมากกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงจะติดโรคมากกว่าคนหนุ่มสาว และผู้ชายก็มีแนวโน้มที่จะติดโรคมากกว่าผู้หญิง ความไม่เท่าเทียมทางสังคมมีบทบาทสำคัญที่ทำให้อัตราการติดโรคโควิด-19 มีความแตกต่างกัน เช่น ในสหรัฐฯ ที่อัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นคนผิวดำมากกว่าผิวขาว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเหยียดสีผิวอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน เป็นต้น ทว่า พันธุกรรมก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน นักวิจัยทำการเปรียบเทียบคนติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการหนักและคนที่มีอาการเล็กน้อยในประเทศสเปนและอิตาลีเมื่อเดือนที่แล้ว พวกเขาค้นพบ 2 จุดบนจีโนมที่เชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะติดโรค จุดหนึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 9 ซึ่งรวมถึง ABO หรือพันธุกรรมที่กำหนดกรุ๊ปเลือด และอีกจุดคือ ส่วนของนีแอนเดอร์ทัลซึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 3 

ข้อมูลจากการศึกษาชิ้นใหม่นี้ แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างโรคติดต่อและส่วนของโครโมโซมคู่ที่ 3 โดยระบุว่า คนที่มีชุดพันธุกรรมนี้ 2 ชุด มีแนวโน้มที่จะป่วยหนักกว่าคนที่ไม่มีพันธุกรรมชุดนี้ หลังจากการค้นพบดังกล่าว ดร. Hugo Zeberg นักพันธุศาสตร์ จาก Karolinska Institute ประเทศสวีเดน จึงตัดสินใจหาคำตอบว่า ชุดโครโมโซมคู่ที่ 3 นี้ถูกส่งต่อมาจากมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลจริงหรือไม่ 

เมื่อ 60,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคปัจจุบันเดินทางออกจากทวีปแอฟริกา ไปยังยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย กลุ่มคนเหล่านี้ได้พบกับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลและผสมพันธุ์กัน เมื่อ DNA ของนีแอนเดอร์ทัลรวมกับพันธุกรรมของบรรพบุรุษเรา เกิดการส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น จนกระทั่งมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลสูญพันธุ์ไป 

พันธุกรรมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลกลายเป็นพันธุกรรมที่เป็นอันตรายต่อคนในปัจจุบัน เพราะอาจทำให้คนที่มีชุดพันธุกรรมนี้ต้องมีปัญหาด้านสุขภาพ หรือทำให้มีลูกยาก จึงทำให้พันธุกรรมนีแอนเดอร์ทัลหายากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มหายไปจากชุดพันธุกรรมของคน แต่พันธุกรรมบางชุดก็มีการวิวัฒนาการตัวเอง และส่งต่อมาจนถึงคนในปัจจุบัน เช่น 1 ใน 3 ของผู้หญิงยุโรปมีตัวรับฮอร์โมนนีแอนเดอร์ทัล ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มภาวะเจริญพันธุ์และลดความเสี่ยงที่จะแท้งลูก   

ดร. Zeberg ทราบว่าพันธุกรรมนีแอนเดอร์ทัลมีอยู่ทั่วไปในยุคนี้ และยังช่วยต่อสู้กับเชื้อไวรัสอื่น ๆ อีกด้วย ขณะที่มนุษย์ยุคใหม่เริ่มย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เอเชียและยุโรป พวกเขาอาจเผชิญหน้ากับการระบาดของเชื้อไวรัสตัวใหม่ที่พันธุกรรมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลสามารถต่อต้านได้แล้ว ทำให้ยีนดังกล่าวถูกส่งต่อมา อย่างไรก็ตาม คนเมื่อ 60,000 ปีก่อน มีพันธุกรรมชุดนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนมาถึงปัจจุบันนี้ ก็เป็นไปได้ว่าภูมิคุ้มกันที่ทำงานต่อต้านเชื้อไวรัสในอดีต อาจไม่สามารถต่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ และนั่นอาจเป็นข้อพิสูจน์ว่าทำไมชาวบังกลาเทศในสหราชอาณาจักร จึงเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในอัตราที่สูงมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook