"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ยังจำเป็น "สมช." แจงเหตุต้องใช้ต่อ ลั่นไม่มีนัยทางการเมือง

"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ยังจำเป็น "สมช." แจงเหตุต้องใช้ต่อ ลั่นไม่มีนัยทางการเมือง

"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ยังจำเป็น "สมช." แจงเหตุต้องใช้ต่อ ลั่นไม่มีนัยทางการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ยังจำเป็น "สมช." แจงเหตุต้องต่อ เพื่อรับมือการผ่อนคลายกิจกรรมระยะที่ 5 ป้องกันการแพร่ระบาดสถานการณ์โควิด ยืนยันไม่มีนัยทางการเมือง

วานนี้ (25 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 มีการพิจารณาเรื่องสำคัญคือการผ่อนคลายกิจกรรม กิจการในระยะที่ 5 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งเรียกได้ว่าจะมีการผ่อนคลายทั้งหมด เช่น การเปิดเรียน การไม่จำกัดเวลาในการเปิดห้างสรรพสินค้า สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ร้านเกม ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ต้องเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายนนี้

ส่วนการแข่งขันกีฬา จะให้มีผู้เข้าชมได้เมื่อไรนั้น ต้องรอดูการผ่อนคลายระยะที่ 5 ก่อน ถ้าสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น รวมถึงสถานการณ์โลกดีขึ้นค่อยพิจารณา เพราะ ศบค.ชุดเล็กจะประเมินกันเป็นรายวัน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเกี่ยวกับการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเราดูในทุกมิติ ทั้งความมั่นคง ข่าวกรอง กฎหมาย และสาธารณสุข ซึ่งเห็นควรให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2563 เพราะกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 5 มีความล่อแหลมต่อการระบาดของโควิดมากที่สุด

รวมทั้ง "การเปิดเรียน" ด้วย เราจึงต้องให้ความสำคัญในการป้องกันอย่างมาก จึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไป เพราะหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องใข้กฎหมายถึง 5 ฉบับมาแทนที่ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีประสิทธิภาพเท่ากับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมโรค ก็จะเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่ใช่การทำงานเชิงรุก กลยุทธ์ในการป้องกันโควิดของเราตั้งแต่แรกคือใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมไม่ให้มีการนำโรคจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นกลไกสำคัญ เมื่อเราจะผ่อนคลายกิจกรรมที่ล่อแหลมจึงต้องคงเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนี้ต่อไป และเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการพิจารณาของชุดเฉพาะกิจ ยังต้องเข้าที่ประชุม ศบค. และ ครม. ต่อไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีนัยแฝงทางการเมือง นอกเหนือจากการป้องกันโควิด พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีนัยทางการเมืองตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันและอนาคต เห็นได้จากเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่มีการทำกิจกรรมทางการเมือง ก็ไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปดำเนินการ เพราะมีการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ อยู่แล้ว

"เราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลทางสาธารณสุขเป็นหลัก และเมื่อมีการประกาศผ่อนคลายเฟส 5 แล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ที่สำคัญช่วง 1 เดือนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะสถานการณ์โลกยังมีความน่าเป็นห่วง แม้ประเทศเราดีแต่ก็กังวลเรื่องการระบาดรอบ 2 หากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เราทุ่มเทมาจะสูญเปล่า เราจึงต้องมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจป้องกันการแพร่ระบาด นั่นคือการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว

ส่วนการพิจารณา Travel Bubble นั้น เรื่องนี้มีการพูดคุยแต่ยังไม่มีข้อยุติในเร็ววันนี้ ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน และปัจจุบันก็ยังไม่มีประเทศใดประสานเข้ามาแต่อย่างใด แต่ที่มีข้อยุติในเร็ววันคือ การเดินทางของนักธุรกิจที่ปัจจุบันมีบางส่วนเดินทางเข้ามาแล้ว ต้องถูกกักตัว 14 วัน แต่เราพิจารณาในส่วนของนักธุรกิจที่เข้ามาเพียงไม่กี่วัน จะให้เขาสามารถเดินทางไปทำธุรกิจต่อได้เลย ไม่ต้องกักตัว แต่ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นคือ ต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิดอย่างน้อย 3 ครั้งคือ ก่อนเดินทาง เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทย และก่อนออกจากประเทศไทย รวมถึงระหว่างอยู่ในประเทศไทยก็ต้องสามารถติดตามตัวได้ตลอด

"คาดว่าจะให้เขายื่นเรื่องเข้ามาให้เราพิจารณาได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป โดยประเทศที่เราจะพิจารณาในเบื้องต้นคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีนบางเมือง ซึ่งเราพิจารณาถึงประเทศต้นทางว่ามีขีดความสามารถทางสาธารณสุขใกล้เคียงกับเรา และที่สำคัญการให้เข้ามานั้นต้องประเมินแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ" พล.อ.สมศักดิ์ ระบุ

ส่วนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อรักษาการเจ็บป่วย (medical and wellness tourism) การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรมทางการแพทย์นั้น ยืนยันว่าผู้ที่เข้ามาจะไม่ใช่การเข้ามาเพื่อรักษาโควิด เพราะหากเป็นโควิดก็ไม่สามารถขึ้นเครื่องได้ตั้งแต่ต้น เวลาเข้ามาก็ต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน และหากรักษาเสร็จสิ้นจะอยู่ต่อหรือไม่ก็ได้ ถือเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีหลายชาติให้ความสนใจในส่วนนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook