ผู้เชี่ยวชาญนานาประเทศชี้ หลังวิกฤตโควิด-19 ความร่วมมือระหว่างประเทศสำคัญที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญนานาประเทศชี้ หลังวิกฤตโควิด-19 ความร่วมมือระหว่างประเทศสำคัญที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญนานาประเทศชี้ หลังวิกฤตโควิด-19 ความร่วมมือระหว่างประเทศสำคัญที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปักกิ่ง, 21 มิ.ย. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ มหาวิทยาลัยชิงหัว สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของจีน ได้จัด “การประชุมสันติภาพโลก” (World Peace Forum) ปี 2020 ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงจาก 7 ประเทศ ร่วมอภิปรายถึงความจำเป็นของความร่วมมือหลังการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

“ยามมนุษยชาติเผชิญภัยคุกคามร่วมขนานใหญ่เช่นนี้ ประชาคมระหว่างประเทศได้สร้างแนวร่วมและการรับมือที่สอดประสานและมีประสิทธิภาพ ทว่าการเมืองโลกก็เกิดการแบ่งขั้วที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงความไม่สมเหตุสมผล ความไม่แน่นอน และความไร้เสถียรภาพ” ชิวหย่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยชิงหัว กล่าวในพิธีเปิดการประชุมฯ

ดร. เกรแฮม อัลลิสัน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ แบ่งปันมุมมองต่อสายสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ว่าแม้มหาอำนาจทั้งสองจะยังคงประชันขันแข่งกันต่อไปหลังโรคระบาดใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความร่วมมือเพื่อการบรรลุผลประโยชน์ร่วม เนื่องจากไวรัสโคโรนาได้ย้ำเตือนว่าทุกชาติมิอาจเอาชนะภัยคุกคามภายนอกแต่เพียงผู้เดียวได้

ดร. อเล็กซานเดอร์ เอ. ดีย์คิน จากรัสเซีย กล่าวว่าเหล่าศูนย์กลางอำนาจชั้นนำในปัจจุบันไม่ได้เข้าใจดีหรือมีมุมมองชัดเจนต่อระเบียบโลกในอนาคตหลังโควิด-19 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็น ‘โลกไร้ขั้ว’ เหมือนที่นักวิชาการ ริชาร์ด ฮาส เปรยไว้นานแล้ว ทำให้เราควรแสวงหาแผนการจัดระเบียบโลกแบบใหม่ ที่หลายฝ่ายต่างรับผิดชอบร่วมกันในระยะยาว

โวล์เกอร์ เพิร์ธส ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศความมั่นคงเยอรมัน (SWP) ชี้ว่าการเพิ่มพูนความร่วมมือระดับพหุพาคีอันแนบชิดจะส่งผลดีต่อการรักษาระบบสาธารณสุขโลก เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย มองว่าโรคระบาดใหญ่ได้ลดทอนความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียส่วนหนึ่งก็หันมาช่วยเหลือซึ่งกันและกันแทน

“การต่อต้านโลกาภิวัฒน์ สงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี รวมถึงระบอบพหุภาคีและกระแสต่อต้านระบอบพหุภาคี ซึ่งมีมาก่อนโควิด-19 จะยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้นความมั่นคงและการหารือในหมู่ประเทศเอเชียจึงจำเป็นต่อเสถียรภาพในเอเชียหลังโควิด-19”

ดร. เหยียนเสวียทง จากมหาวิทยาลัยชิงหัว เชื่อว่าระเบียบโลกในอนาคตอันใกล้จะเป็น “ระเบียบไร้ความจริงใจ” (order of bad faith) เนื่องจากขาดแคลนภาวะผู้นำโลก แต่ยังมีความหวังว่าอนาคตจะไม่ไร้ทางตันด้วยทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างแข็งขัน

ทั้งนี้ ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เทคโนโลยีทรงประสิทธิภาพอย่าง “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากจีนและสหรัฐฯ ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการประยุกต์ใช้และความร่วมมือทางเทคโนโลยีหลังโรคระบาด

เซวียหลัน จากวิทยาลัยชวาร์ซแมนของมหาวิทยาลัยชิงหัว กล่าวว่าประชาคมมนุษยชาติพานพบความเสี่ยงและความท้าทายร่วมกัน เราจึงควรจับมือกันมากกว่าต่อสู้กัน พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการจัดตั้งระบบกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ มาตรฐานทางจริยธรรม และหลักการ โดยจีนและสหรัฐฯ ควรปฏิบัติตามหลักการสามซี (3C) ได้แก่ ร่วมมือ ร่วมงาน และแข่งขัน

สจวร์ต รัสเซลล์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ชี้ว่าปัญญาประดิษฐ์มีส่วนช่วยตรวจหาโรค เฝ้าติดตาม และการตัดสินใจของบุคลากรการแพทย์ ประเทศต่างๆ ควรร่วมมือกันสร้างสรรค์ปัญญาประดิษฐ์ที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ ซึ่งจะนำพาสินค้าและบริการอันไร้ขีดจำกัดมาให้มนุษยชาติ

จางย่าฉิน ศาสตราจารย์อาวุโสและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยชิงหัว เผยว่าโควิด-19 ได้สร้างความท้าทายทางเทคโนโลยี และมนุษยชาติควรใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจโรคและพัฒนายา พร้อมเสนอหลักการแบ่งปันข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ รักษาการสื่อสาร ได้รับอนุญาต และพิจารณาผลลัพธ์

เวนเดล วอลแลช จากมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ มองว่าจีนในฐานะมหาอำนาจด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์รายใหม่ ต้องดำเนินบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ และทุกประเทศควรดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาความมั่นคง ปัญญาประดิษฐ์ และการวิจัยอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมของมนุษยชาติ

แมกซ์ เทกมาร์ค จากสหรัฐฯ เผยว่าการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นำพาความท้าทายมาสู่โลก เวลานี้เราทำเรื่องต่างๆ โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ ความเสี่ยงและความท้าทายจากเทคโนโลยีนี้จึงเป็นเรื่องของคนทั้งโลก

เทกมาร์คเสริมว่าจีนสามารถมีบทบาทหลักในการจัดการความท้าทายเหล่านี้ และช่วยออกแบบอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยและประโยชน์แก่มนุษย์ในยุคหลังโควิด-19 ประชาคมระหว่างประเทศจึงควรมีวิสัยทัศน์เชิงบวกร่วมกันในเรื่องนี้

อนึ่ง การประชุมสันติภาพโลก ปี 2020 จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 16-17 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นความมั่นคงของเอเชีย-แปซิฟิกหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ในยุคหลังโรคระบาดใหญ่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook