อุตฯซอฟต์แวร์ไทยกระตุ้นยอดขาย อัดแคมเปญ''ลุ้นโชค-ลุ้นรถ''ดูดลูกค้าช็อป

อุตฯซอฟต์แวร์ไทยกระตุ้นยอดขาย อัดแคมเปญ''ลุ้นโชค-ลุ้นรถ''ดูดลูกค้าช็อป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เอทีเอสไอ เปิดมิติใหม่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ดึงผู้ประกอบการ 29 ราย ร่วมโครงการ ซอฟต์แวร์ไทย ลุ้นโชค ลุ้นรถ หมายกระตุ้นยอดซื้อขายเพิ่ม 3 เท่าตัว คาด 2 เดือน เงินสะพัด 20-50 ล้านบาท เล็งต่อยอดเอี่ยวงบไทยเข้มแข็ง

นายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือเอทีเอสไอ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าสมาคม ได้จัดทำโครงการกระตุ้นการซื้อซอฟต์แวร์ไทย ภายใต้แคมเปญ ซอฟต์แวร์ไทย ลุ้นโชค ลุ้นรถ ขึ้นมา โดยต้องการกระตุ้นให้เกิดการซื้อซอฟต์แวร์ไทยมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียน ทำรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ และยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในอนาคตแก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนด้านซอฟต์แวร์อย่างเหมาะสมอีกด้วย

โดยภายใต้โครงการดังกล่าวนั้นผู้ใช้ซอฟต์แวร์ไทยที่ซื้อซอฟต์แวร์สำเร็จรูป , ไลเซ่น ซอฟต์แวร์ , ติดตั้งซอฟต์แวร์ , อบรมการใช้งานซอฟต์แวร์ หรือซื้อบริการบำรุงรักษา จากผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ 29 ราย บริษัท อี-บิซิเนส พลัส จำกัด , บริษัท ภาษาออนไลน์ จำกัด บริษัท คริสตอล ซอฟท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แซดไบท จำกัดบริษัท ภูมิซอฟต์ จำกัด บริษัท ซอฟต์สแควร์ 1999 จำกัด และ บริษัท ซีเนียร์ คอม จำกัด มูลค่า 2,500 บาทขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2552 จะได้รับคูปองชิงโชค รางวัลมูลค่า 800,000 บาท โดยรางวัลจะมีทั้ง รถยนต์ฮอนด้า ซิตี้ จำนวน 1 คัน คอมพิวเตอร์พกพา เอสวีโอเอ ทั้งนี้คาดว่ากิจกรรมดังกล่าวจะสามารถทำรายได้ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประมาณ 3 เท่าตัว โดยคาดว่า จะทำให้เกิดยอดขายสะพัด ประมาณ 20-50 ล้านบาท

เราพยายามสร้างให้ทุกคนเห็นถึงอุตสาหกรรมโลคัลซอฟต์แวร์ไทย ซึ่งก็ต้องนำเอาโปรโมชันมาใช้ โดยเป็นครั้งแรกที่เราเอากิจกรรมรูปแบบการชิงโชค หรือจับรางวัลรถยนต์ขึ้นมา กับการซื้อขายซอฟต์แวร์ ซึ่งปัจจุบันแพ็กเกจซอฟต์แวร์ก็เหมือนกับสินค้าคอนซูเมอร์ขึ้นไปก็ได้ลุ้นรถยนต์ แม้กระทั่งซื้อขายเอ็มเอ บำรุงรักษาระบบล่วงหน้า ก็แจกคูปอง เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าองค์กรเชื่อมั่นคุณภาพผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย

นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชน เพื่อแสดงให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีตัวตนจริง และมีศักยภาพการเติบโตต่อไปได้หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งนี้เชื่อว่าโครงการดังกล่าวนั้นจะเป็นบันไดให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยต่อยอดไปสู่โครงการไทยครีเอทีฟไทยแลนด์ ซึ่งซิป้าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ภายใต้ยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาล ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2553-2555 ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook