ทำไมปากแห้ง-ปากแฉะ

ทำไมปากแห้ง-ปากแฉะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปาก เป็นอวัยวะที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของร่างกาย ที่อยู่บริเวณใบหน้า มีลักษณะเป็นช่องสําหรับกินอาหารและใช้สําหรับเปล่งเสียง เมื่อปากมีความสำคัญจึงมีผู้นำปากมาใช้ในการเปรียบเปรยในสำนวนไทยมากมาย

ปากเปียกปากแฉะ เป็นสำนวนไทยสำนวนหนึ่ง หมายถึงการว่ากล่าวตักเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ยังไม่ได้ผลตามที่มุ่งหมาย นั่นก็หมายถึงผู้ว่ากล่าวต้องพูดซ้ำกันในเรื่องเดิมหลายครั้ง จนปากเปียกหรือแฉะไปด้วยน้ำลาย ตัวอย่างเช่น จะต้องให้พ่อแม่พูดจนปากเปียกปากแฉะแค่ไหน ลูกถึงยอมขยันเรียนหนังสือ

ส่วน ปากแห้ง จะเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับปาก เปียกปากแฉะ แต่ไม่ใช่เรื่องการพูด เป็นเรื่องอันเนื่องมาจากการกิน คือ ไม่ได้กินของที่อยากกาจเพราะความเป็นอยู่ไม่อำนวย อาจเพราะความยากจน หรือเพราะการเดินทางไม่สะดวกจึงไม่เอื้ออำนวยให้ซื้อหามากินได้

การไม่ได้กินเพราะ อดอยาก คือไม่มีจะกิน, ขาดแคลนอาหาร หรือมีไม่พอกิน ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ ปากแห้ง ทำให้เกิดสำนวน อดอยากปากแห้ง คือไม่ได้กินของที่อยากกินหรือไม่มีกิน เมื่อไม่มีอาหารใส่ปาก น้ำลายซึ่งทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารก็ไม่หลั่งออกมา ปากไม่มีน้ำลาย จึงทำให้ปากแห้ง

สำนวน อดอยากปากแห้ง นี้ จะหมายถึงคนที่อด อยากมากจนแม้กระทั่งน้ำลายในปากก็ยังแห้ง แต่บางครั้งก็นำมาพูดเปรียบเปรยกันเล่น ๆ ก็มี เช่น วันนี้ไม่มีใครซื้อของมาให้กิน ทุกคนเลยอดอยากปากแห้งกันหมด

บางครั้งอาจใช้สำนวน อดแห้งอดแล้ง แทน อดอยากปากแห้ง ก็ได้ เพราะมีความหมายทำนองเดียวกัน คือ แร้นแค้น แต่แร้นแค้นค่อนข้างหนักกว่า เพราะจะหมายถึง ขาดแคลนไปทุกอย่างไม่ใช่เฉพาะเรื่องอาหารการกิน

ทุกวันนี้หลายคนอาจต้อง ปากเปียกปากแฉะ กับผู้คนรอบข้าง เพราะไม่ต้องการพบกับสภาพ อดอยากปากแห้ง หรือ อดแห้งอดแล้ง

สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจในการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร. 0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ http://www.royin.go.th

พัชนะ บุญประดิษฐ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook