แพะรับบาป

แพะรับบาป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แพะรับบาป เป็นสำนวนที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้บทนิยามว่า คนที่รับเคราะห์กรรมแทนผู้อื่นที่ทำกรรมนั้น ปัจจุบันคนที่เป็น แพะรับบาป บางทีก็เรียกกันสั้น ๆ ว่าเป็น แพะ สำนวน แพะรับบาป ชวนให้สงสัยว่า เหตุใดจึงต้องเป็น แพะ ที่รับบาป พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีข้อมูลที่ช่วยไขข้อข้องใจได้ดังนี้

แพะรับบาป มาจากภาษาอังกฤษว่า scapegoat ในศาสนายิว ที่มาของคำนี้ปรากฏในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ซึ่งเป็นคัมภีร์ของชาวอิสราเอลที่มีภูมิหลังเป็นผู้เลี้ยงแพะหรือแกะเป็นอาชีพ แพะรับบาปเป็น พิธีปฏิบัติในวันลบบาปประจำปีของชาวอิสราเอล ซึ่งเริ่มด้วยการที่ปุโรหิตถวายวัวเป็ื่องบูชาไถ่บาปของตนเองและครอบครัว เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ปุโรหิตจะนำแพะ ๒ ตัวไปถวายพระเป็นเจ้าที่ประตูเต็นท์นัดพบ และจะเป็นผู้จับสลากเลือกแพะ ๒ ตัวนั้น สลากใบที่ ๑ หากตกแก่แพะตัวใด แพะตัวนั้นจะถูกฆ่าและถวายพระเป็นเจ้า เป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปของประชาชน เรียกว่า แพะไถ่บาป ส่วนสลากใบที่ ๒ หากตกแก่แพะตัวใด แพะตัวนั้นจะถูกนำไปถวายพระเป็นเจ้าทั้งยังมีชีวิตอยู่ แล้วใช้ทำพิธีลบบาปของประชาชนโดยยกบาปให้ตกที่แพะตัวนั้น เสร็จแล้วก็จะปล่อยแพะตัว นั้นให้นำบาปเข้าไปในป่าลึกจนทั้งแพะและบาปไม่สามารถกลับมาอีก แพะที่ถูกจับโดยสลากใบที่ ๒ นี้ เรียกว่า แพะรับบาป ส่วน แพะรับบาป ในศาสนาฮินดู มผู้สันนิษฐานว่า ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชายัญได้ออกจากร่างมนุษย์ไปสู่ร่างม้า เมื่อฆ่าม้า ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชายัญก็ออกจากตัวม้าไปสู่ร่าง โค เมื่อฆ่าโคก็ไปสู่ร่างแกะ และจากแกะไปสู่แพะ ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชายัญคงจะอยู่ในตัวแพะนานที่สุด ดังนั้นแพะจึงกลายเป็นสัตว์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้ฆ่าบูชายัญ ซึ่งเป็นที่มาอีกอย่างหนึ่งของคำว่า แพะรับบาป

คำว่า scapegoat บางตำราให้ข้อมูลว่ามาจาก escape+goat แปลว่า แพะที่หนีไป.

แสงจันทร์ แสนสุภา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook