''ผมมองว่าเป็นการทิ้งระเบิดลูกใหญ่''

''ผมมองว่าเป็นการทิ้งระเบิดลูกใหญ่''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
พลันที่พรรคภูมิใจไทยยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-3 ธ.ค. 2551 และระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-14 เม.ย. 2552 พ.ศ... ก็เกิดการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างหลากหลาย ในฐานะ นักสังเกตการณ์ ทางการเมืองอย่าง นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 (ส.ส.ร.40) และอดีต ส.ว.ตาก ได้ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์ ไว้น่าสนใจดังนี้

มองเจตนาการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทยอย่างไร

มันก็ต้องคิด ต้องตีให้แตกว่า ถ้ากฎหมายออกมาแล้วจะเกิดการปรองดองได้จริงหรือไม่ ถ้าเราดูเหตุการณ์ขณะนี้ทั้ง 2 ด้านยังไม่ยอมกันเลยเพราะฉะนั้นทั้ง 2 ด้านถึงบอกไม่เอาทั้งคู่ แล้วก็เริ่มมีการเปรียบเทียบว่า ข้างไหนได้เปรียบกว่ากัน ฝ่ายเสื้อแดงก็บอกว่า ฝ่ายเสื้อเหลืองโทษหนักกว่าเขาตั้งเยอะ แต่ขณะเดียวกันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น 40 ส.ว. ก็ไม่เห็นด้วยในเรื่องการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค. 51

ผมคิดว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมันเคยมีออกมา 26 ฉบับ ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนการปกครอง ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่ากฎหมายล้างมลทิน แต่ถ้าเป็นการนิรโทษกรรมในความหมายที่เข้าใจในปัจจุบันคือ การล้างมลทินให้เฉพาะความผิดอาญาและปกติ แต่ความผิดที่จะล้างให้คือความผิดฐานกบฏ จลาจลเท่านั้นเอง มันเป็นหลักอย่างนั้นมาตลอด ไม่เคยนิรโทษกรรมให้ในความผิดฐานอื่น แต่ถ้าถามว่านิรโทษความผิดอื่นได้หรือไม่ ของเราเป็นระบอบรัฐธรรมนูญนิยม ระบอบกฎหมายมันต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ก็จะเป็นประเด็นว่า จะออกกฎหมายมาไม่เอาผิดคนทำผิดทำได้หรือเปล่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมันขัดแน่นอน เบื้องต้นคือ ขัดมาตรา 3 วรรค 2 เป็นการขัดหลักนิติธรรม ห้ามรัฐสภา ห้ามศาล องค์กรอิสระ กระทำการที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม การออกกฎหมายมายกเว้นโทษให้ผู้กระทำความผิดก็ถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรมเพราะทำให้กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย นอกเหนือจากนี้ผมคิดว่ายังขัดมาตรา 68 สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญคือ บุคคลจะใช้สิทธิในการล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับการตีความว่าการกระทำทั้งสองกลุ่มมุ่งหมายถึงการล้มล้างหรือไม่ แต่ผมว่าแค่ขัดหลักนิติธรรมก็ไม่รอดแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 เขียนเรื่องหลักนิติธรรมไว้

กำลังจะบอกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

ถ้าว่ากันตามหลักรัฐธรรมนูญ และหลักนิติรัฐมันทำไม่ได้ อันที่จริงกฎหมายนิรโทษกรรมของเราที่มีมาแต่ต้น มันก็ขัดหลักนิติธรรมอยู่แล้ว มันถึงเปิดช่องให้มีการปฏิวัติรัฐประหารได้ตลอด ประเทศที่มีกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นประเทศที่มีการปฏิวัติรัฐประหารกันบ่อยครั้ง มันมีคนคิดว่ามันมีช่องทางนี้แล้ว พอต้องการมีอำนาจก็ยึดอำนาจ อ้างเหตุอะไรก็อ้างไป กฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับของเรา เหตุผลคือเพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง ดังนั้นมันน่าที่นักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์จะศึกษาว่า นิรโทษกรรมแต่ละครั้งมันทำให้คนในชาติปรองดองกันได้จริงหรือ ซึ่งผมไม่เชื่อ โดยเฉพาะสถานการณ์ตอนนี้ต่างคนก็ต่างยึดของตัวเอง เสื้อแดงก็จะเอาทักษิณให้ได้ อีกข้างหนึ่งบอกเอามาไม่ได้ จุดที่ทำให้แตกแยกกันอยู่ที่เรื่องนี้

ถือว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน

จะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่จริง ๆ มันไม่มีทางเกาให้หายคันได้อยู่แล้ว มันต้องหาทางแก้ด้วยวิธีอื่น ความเห็นของผมถ้าเรายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้เราน่าจะขอประชามติมากกว่าว่าจะให้จัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดการปรองดอง ซึ่งอาจมีหลายเรื่อง นิรโทษกรรมอาจเป็นเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยทั้งทางฝ่ายเสื้อแดงและฝ่ายพันธมิตรฯ ก็ชุมนุมแล้วต่างก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้ทำผิด เขาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ที่เสนอให้ทำประชาพิจารณ์ควรมีรูปแบบคำถามอย่างไร

ก็เป็นคำถามง่าย ๆ ว่าควรจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ และถ้าจะนิรโทษกรรม นิรโทษกรรมเรื่องอะไร และถ้าประชามติออกอย่างไรทุกคนต้องยอมตามนั้น แต่ตอนนี้เรายังไม่มีหลักว่าความผิดฐานใดบ้างที่จะให้นิรโทษกรรมได้ ในความเห็นของกฤษฎีกาครั้งหนึ่งตั้งแต่เดือน ก.ย.2488 ให้ความเห็นไว้ต่อ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม 2488 ท่านจะบอกไว้เลยว่า นิรโทษกรรมตามกฎหมายไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์วางไว้โดยเฉพาะ เช่น เรื่องการอภัยโทษ ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้นมันก็ขึ้นอยู่ว่าคุณจะนิรโทษกรรมเรื่องอะไรก็ได้ แต่จากที่ดูแนวทางการปฏิบัติการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะนิรโทษกรรมเฉพาะกบฏ หรือจลาจลเท่านั้น ดังนั้นถ้าหากเอาแนวทางที่ถือปฏิบัติในอดีตเป็นหลักก็เฉพาะ 2 เรื่องนี้เท่านั้น แต่ถ้าไม่ใช่แนวทางนี้ก็จะเป็นการทำลายหลักนิติธรรมนิติรัฐในอดีต

การพยายามผลักดันกฎหมายออกมาในขณะที่การดำเนินคดียังไม่ถึงที่สุด

ก็นี่ไง ผมถึงบอกว่า กฎหมายนี้เพื่อตัวเอง มันเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม มันทำลายหลักนิติธรรม คดีกำลังค้างก็ให้ยกเลิกหมดและที่สำคัญอย่างที่ 40 ส.ว.เป็นห่วง คือน่าจะเป็นเรื่องการออกนิรโทษกรรมให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในคดีสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 มากกว่า ขณะที่พวกเสื้อแดงก็จะบอกว่านี่มันนิรโทษกรรมเสื้อเหลืองนี่หว่า ตอนนี้ผมก็กำลังรอฟังอยู่ว่าเสื้อเหลืองจะมองว่าเสื้อแดงจะได้อะไรบ้าง

การเสนอกฎหมายมีนัยอะไรแอบแฝงหรือไม่

คือผมไม่อยากมองเขาในแง่ร้าย แต่ถ้าหากมองในแง่ว่าถ้าเขาทำให้เหตุการณ์มันสงบก็ถือว่าเจตนาดี แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจะปรองดองได้จริงหรือ ถ้าถามผมผมมองไม่เห็นเพราะนิรโทษให้แล้วต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยินดียินร้าย ก็เห็นเขาพร้อมจะไปต่อสู้คดี เมื่อเขายินดีทั้งสองข้างให้เขาพิสูจน์กันเองสิ เรื่องอะไรต้องไปนิรโทษกรรมให้เขา เขาอาจรับโดยไม่เต็มใจก็ได้เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม การออกกฎหมายนี้เท่ากับล้มล้างอำนาจศาล มันต่างจากการอภัยโทษนะเพราะการอภัยโทษ มันหมายความว่าคุณทำผิดรับโทษแล้วถึงอภัยให้ และคุณต้องยอมรับว่าคุณผิด

นอกจากนี้ที่ผมติดใจคือพรรคภูมิใจไทยทำทำไม ถ้านักการเมืองทำมันไม่มีวาระอะไรเลยมันไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้ามีเจตนาดีอย่างเดียวก็เป็นเจตนาดีที่ค่อนข้างตื้นเขินไปหน่อยว่าทำให้ทุกอย่างมันกลับไปสู่ภาวะรักใคร่เอื้ออาทรกัน ถ้ามองแค่นั้น ผมว่ามันตื้นไป

คิดว่าจะมีผลยกระดับไปถึงฝ่ายการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่

ผมก็คิดว่ามันเป็นไปได้ นิรโทษกรรมเสร็จแล้วก็ไปพวกบ้านเลขที่ 111 เพราะเรื่องนี้พรรคภูมิใจไทยก็มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะคนที่คุณรู้ว่าใคร รายนี้ถึงหลุดคดีกล้ายางก็ติดคดียุบพรรคอยู่ ยิงนัดเดียวอาจได้ตั้งหลายตัว ได้ใจพันธมิตรฯ และได้พวกฝ่ายตรงข้ามอีก

เรื่องนี้ผมมองว่า เท่ากับเป็นการทิ้งระเบิดลูกใหญ่ลงมา ซึ่งใหญ่กว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ อันนี้มันเห็นผลขนาดที่คนทำผิดไม่ต้องผิดจะส่งผลต่อความรู้สึกคนมากกว่า แก้รัฐธรรมนูญมันเป็นนามธรรม ต้องคนรู้จริง ๆ ติดตามจริง ๆ ว่าแก้แล้วได้อะไร แต่ก็อย่างที่ผมว่า ไปทำประชามติเสียก่อน.

พีรภัทธ์ เกื้อวงศ์...สัมภาษณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook