ไอคาเฟ่ ร้านอินเทอร์เน็ตสีขาว

ไอคาเฟ่ ร้านอินเทอร์เน็ตสีขาว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นโลกแห่งการเรียนรู้และแหล่งข้อมูลยุคใหม่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่จึงมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในสังคม ดังจะเห็นได้จากจำนวนร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงกว่า 8,000 ร้านทั่วประเทศ

แต่ในจำนวนนี้ จะมีสักกี่ร้านที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างไร้กังวลกับการตรวจจับเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และการตกเป็นจำเลยสังคมในเรื่องของการเป็นแหล่งมั่วสุม

ทั้ง ๆ ที่จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม พบว่าผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 90 ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง รวมทั้งซอฟต์แวร์ราคาพิเศษที่ผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่สามารถเป็นเจ้าของได้ เนื่องจากราคาซอฟต์แวร์เป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจและเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน

โครงการไอ คาเฟ่ (iCafe) ที่บริษัทไมโครซอฟท์ริเริ่มขึ้น จึงเป็นคำตอบสำหรับผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ และเป็นต้นแบบการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตสีขาวสำหรับคนในสังคม โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและท้องถิ่นที่ ห่างไกล

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครงการไอคาเฟ่เป็นพันธกิจ ของไมโครซอฟท์ทั่วโลก ที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้คนและประชาชนที่ยังขาดโอกาสสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในราคาที่เป็นเจ้าของได้ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและพัฒนายกระดับสังคมใน 3 ด้านคือ ยกระดับการศึกษา สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น สนับสนุนและสร้างโอกาสในการทำงานและอาชีพ ซึ่งรงการไอคาเฟ่ นี้จะสอดคล้องทั้งในแง่ของการส่งเสริมการศึกษาและสร้างโอกาสในการทำงาน ซึ่ง ไมโครซอฟท์มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง มีกำไร และคนไทยก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่ห่างไกล

ด้านนายไพรัช อร่ามรุจิเวทย์ เจ้าของร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ICE.CENTER ในอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการไอคาเฟ่ กล่าวว่า เมื่อก่อน ร้าน ICE.CENTER เป็นร้านเล็ก ๆ ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ มิลเลเนียม เมื่อใช้มาได้สักระยะหนึ่ง ก็มีความจำเป็นต้องอัพเกรด เพื่อให้สามารถรองรับเกม์ใหม่ ๆ ในตลาดได้ ตามความต้องการของลูกค้า จึงมีความคิดอยากที่จะเปลี่ยนเป็นวินโดวส์เอ็กซ์พี เนื่องจาก เป็นแพล็ตฟอร์มที่สามารถรันเกมส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในท้องตลาดได้ดี แต่ด้วยงบประมาณการลงทุนที่มีอยู่น้อยในขณะนั้น จึงไม่สามารถอัพเกรด วินโดวส์ได้ทั้งหมดพร้อม ๆ กัน จึงเริ่มทยอยเปลี่ยนทีละเครื่อง

เมื่อไมโครซอฟท์เปิดตัวโครงการไอคาเฟ่ ให้กับผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทันที และซื้อลิขสิทธิ์ใหม่ทั้งร้าน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจของตน ในแง่ที่ว่าสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ และป้องกันการแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบลิขสิทธิ์ ซึ่งด้วยราคาที่ไม่สูงเกินไป ทำให้สามารถขยายธุรกิจจนปัจจุบันมีเครื่องคอมพิวเตอร์ 100 กว่าเครื่อง

สำหรับโครงการไอคาเฟ่ ในประเทศไทยถือเป็นโครงการนำร่องประเทศแรกในโลก เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลร้านอินเทอร์เน็ตและร้านเกมทั่วประเทศ

โดยผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์แท้โดยตรงจากไมโครซอฟท์ในราคาพิเศษ พร้อมเนื้อหาอี-เลิร์นนิ่ง และโปรแกรมป้องกันเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการสร้างห้องเรียนนอกหลักสูตรแก่เด็ก เยาวชน และผู้สนใจ รวมถึงคำแนะนำในการตกแต่งร้านอย่างเหมาะสม เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบโดยหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ และเป็นที่สังเกตง่าย สร้างความวางใจแก่ผู้ปกครอง

นายไพรัช กล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่ตนและสังคมได้จากโครงการนี้ว่า น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้สังคมมองภาพลักษณ์ของอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ดีขึ้นเพราะภาครัฐและเอกชนช่วยกันสนับสนุนให้ทำธุรกิจอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป แม้สถาบันการศึกษามีชั่วโมงการเรียนการสอนคอม พิวเตอร์ แต่ก็ไม่อาจมีแรงจูงใจมากพอที่จะทำให้เด็กเหล่านี้กระตือรือร้น อินเทอร์เน็ตถือเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียน เพียงแต่ต้องมีการปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

ส่วนร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตนเอง ได้มีโอกาสสัมผัสโลกของอินเทอร์เน็ต เล่นเกม การแชต การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร หรือแม้กระทั่งคุยกับคนทั่วโลกได้..

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook