นายกสภาทนายแนะทักษิณยึดแบบพันท้ายนรสิงห์

นายกสภาทนายแนะทักษิณยึดแบบพันท้ายนรสิงห์

นายกสภาทนายแนะทักษิณยึดแบบพันท้ายนรสิงห์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกสภาทนาย ชี้เสื้อแดงไม่สิทธิ์ยื่นฎีกาขออภัยโทษ " ทักษิณ" ยก พรฎ.วางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ปี 2457 แจงถวายฎีกาแค่ขอลดหย่อนโทษ ไม่ใช่สิทธิ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลงดรับโทษ จี้รัฐบาลตรวจสอบ หากไม่เข้ากฎหมาย ต้องไม่รับพิจารณา กระทุ้ง " สตช. - เลขาธิการครม." พิจารณาถอดยศ - ยึดเครื่องราชย์อดีตผู้ต้องโทษคดีถึงที่สุด

(20ส.ค.) ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ และนายเสงี่ยม บุญจันทร์ เลขาธิการสภาทนายความ แถลงชี้แจงเรื่องการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดง ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอรับพระราชทานความเป็นธรรมในรูปของการถวายฎีกาเพื่อขอทรงพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ต้องโทษจำคุก 2 ปี คดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ต้องเป็นไปตามระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ตามพระราชกฤษฎีกาที่วางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457 ซึ่งเป็นการขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษที่ศาลได้วางบทลงโทษแล้ว แต่ไม่ใช่โต้แย้งคำพิพากษาของศาล การพระราชทานอภัยโทษ จึงไม่ใช่สิทธิของนักโทษหรือผู้หลบหนีคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้ว เพราะไม่มีกฎหมายใดรับรองสิทธิ

นายเดชอุดม กล่าวว่า การที่กลุ่มคนเสื้อแดงอ้างว่าการขอ หรือร้องถวายฎีกา เป็นสิทธิของตนเองหรือคนใดคนหนึ่ง จึงเป็นการตีความเอาเองทั้งสิ้น เพราะหากถือว่ามีสิทธิโต้แย้งคำพิพากษาของศาลไม่ชอบแล้วความปั่นป่วนในบ้านเมืองก็จะเกิดขึ้น ผู้ต้องโทษทั้งหลายจะอ้างสิทธิไม่ต้องรับโทษ และหากจะใช้สิทธิ ซึ่งคิดว่ามีอยู่นั้นก็ต้องกระทำโดยสุจริต การเกณฑ์ผู้คนหรือผู้สนับสนุนตัวเองมากเป็นล้านๆ ชื่อนั้นไม่มีความหมายอะไร เพราะหากมีรายชื่อหนึ่งที่ไม่สุจริตจะทำให้การระดมรายชื่อนั้นใช้ไม่ได้ การที่รวมกลุ่มกันสนับสนุนให้มีการไม่ยอมรับคำพิพากษาเพื่อประโยชน์ของคนที่หลบหนีไป แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่แฝงเร้นไม่ชอบธรรม

นายเดชอุดม กล่าวอีกว่า เมื่อสำนักราชเลขาธิการรับคำขอไว้แล้ว ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว เพราะจำเป็นต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องก่อน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องดำเนินการตรวจสอบให้รอบครอบ หากพบว่าการยื่นฎีกาไม่สุจริต ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ควรที่จะรับไว้พิจารณา

" กรณีของพ.ต.ท.ทักษิณเป็นคดีอาญาที่ถึงที่สุดแล้วต้องยอมรับระบบศาลยุติธรรม และคำพิพากษาก่อนขอรับพระราชทานอภัยโทษ ผู้รับราชการสนองคุณูปการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดีย่อมต้องไม่หลีกเลี่ยงความผิดของตน ดังเช่นพันท้ายนรสิงห์ นักการเมืองต้องยอมรับผลแห่งการกระทำของตนเหมือนนานาอารยประเทศ เช่น นายโนห์ มู ฮยอน อดีตประธานาธิบดีประเทศเกาหลีใต้ที่ฆ่าตัวตาย เพราะถูกกล่าวหาว่าครอบครัวคอร์รัปชั่น เมื่ออาสามาบริหารแผ่นดิน หากผิดพลาดทั้งประมาทหรือเจตนาต้องกล้ารับผิด" นายกสภาทนายความกล่าวและว่า

ขณะที่ เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้วย ที่จะต้องดำเนินการปลดยศอดีตตำรวจ ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด รวมถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องทำเรื่องการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุมทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง ไม่ต้องรับโทษ นายเดชอุดม กล่าวว่า การจะเสนอกฎหมายอะไรก็ต้องทำด้วยความโปร่งใส และต้องสอดคล้องกับหลักนิติธรรม ถ้าเขียนกฎหมายโดยไม่ยึดหลักนิติธรรม ต่อไปจะมีการขออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับทุกเรื่อง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ต่อไปจะมีคนวิ่งเข้าหานักการเมืองเพื่อขอออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะทำให้กฎหมายอัปลักษณ์ในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook