เจ้าเจ็ดตน

เจ้าเจ็ดตน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คนไทยในภาคเหนือคงจะรู้จักเจ้าเจ็ดตนกันเป็นอย่างดี แต่คนไทยในภาคอื่น ๆ ของประเทศอาจจะยังไม่รู้จักมากนัก เจ้าเจ็ดตนเป็นผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อดินแดนล้านนา สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒ อักษร ข-จ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า เจ้าเจ็ดตน เป็นคำเรียกบุตรชาย ๗ คนของฟ้าชายแก้ว และเป็นหลานปู่ของพระยาสุลวลือชัยสงคราม (หนานทิพช้าง) ผู้ครองเมืองลำปาง ที่ร่วมมือกันต่อสู้ขับไล่กองทัพและอิทธิพลพม่าออกจากดินแดนล้านนา ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนสามารถขับ ไล่พม่าออกไปจากดินแดนล้านนาได้ทั้งหมด รวบรวม ดินแดนล้านนาให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายอาณาเขตครองแคว้นสิบสองพันนาและเมืองเชียงตุงกับเมืองบริวารทั้งหมด ทำให้ดินแดนล้านนามารวมกันได้ อีกครั้งหนึ่ง จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองลำพูน และเป็นต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง และ ณ ลำพูน สืบสกุลมาจน ทุกวันนี้

เจ้าเจ็ดตน ได้แก่ (๑) เจ้ากาวิละ ต่อมาเป็นพระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง พ.ศ. ๒๓๑๗ แล้วเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๒๕ และดำรงยศเจ้าประเทศราช เป็นพระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ พ.ศ. ๒๓๔๕ (๒) เจ้าคำโสม ต่อมาเป็นเจ้าเมืองลำปาง พ.ศ. ๒๓๒๕ (๓) เจ้าน้อยธรรม ต่อมาเป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นเจ้ามหาอุปราช พ.ศ. ๒๓๔๘ และเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๕๖ (๔) เจ้าดวงทิพ ต่อมาเป็นอุปราชเมืองลำปาง พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นเจ้าเมืองลำปาง พ.ศ. ๒๓๓๗ และดำรงยศเจ้าประเทศราช พ.ศ. ๒๓๔๖ (๕) เจ้าหมูล่า ต่อมาเป็นราชวงศ์เมืองลำปาง พ.ศ. ๒๓๒๕ และเป็นอุปราชเมืองลำปาง พ.ศ. ๒๓๓๗ (๖) เจ้าคำฝั้น ต่อมาเป็นพระยาบุรีรัตน์ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นเจ้าเมืองลำพูน พ.ศ. ๒๓๕๗ เป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๕๘ และเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๖๖ (๗) เจ้าบุญมา ต่อมาเป็นอุปราชเมืองลำพูน พ.ศ. ๒๓๔๘ และดำรงยศเจ้าประเทศราช พ.ศ. ๒๓๖๙.

ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook