ความสูญเสีย

ความสูญเสีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
พายุลูกแรกของฤดูมรสุม มรกตโจมตีภาคเกษตรกรรมและท่องเที่ยวของเกาะไต้หวันรุนแรงที่สุด แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมั่นใจว่า ผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจ ซึ่งง่อนแง่นอยู่แล้วจากวิกฤติการเงินทั่วโลก อาจอยู่ในวงจำกัด

ขณะที่ไต้หวันกำลังต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่อาจกล่าวได้ว่ายาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา มรกตก็เข้าซ้ำเติมเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ปลดปล่อยทั้งน้ำท่วมและโคลนถล่ม จนประธานาธิบดีหม่า อิง-จิว ถึงกับยอมรับว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 500 ศพ (ตัวเลขทางการถึงวันจันทร์คือ 126 ศพ)

นายกฯหลิ่ว จ้าวเซียน ของไต้หวันเผยว่า ถึงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ประมาณว่าผลเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงถึง 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมทั้งบ้านเรือน พืชไร่และระบบสาธารณูปโภค คาดว่าสัปดาห์นี้คณะรัฐมนตรีไต้หวันจะนำเสนองบประมาณพิเศษต่อรัฐสภา ซึ่งครอบคลุมการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู

มาร์ส ซู นักวิเคราะห์บอกว่า แม้ภาคท่องเที่ยวและเกษตรกรรมจะถูกถล่มหนักสุด แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นส่วนแบ่งขนาดใหญ่ในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ผลกระทบที่จะเกิดต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไต้หวันจึงไม่น่าจะรุนแรงเหมือนที่บางคนหวาดกลัว

บริษัทด้านการเงิน ซิโนแพค โฮลดิ้ง คาดการณ์ว่า ความเสียหายในช่วง 9 วัน อาจนำไปสู่การหดตัวของจีดีพีเพิ่มอีกราว 0.53 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่สาม และตลอดทั้งปีอาจลดลงอีก 0.13 เปอร์เซ็นต์ จากที่คาดไว้เดิม 2.5 เปอร์เซ็นต์

การทำนายดังกล่าวถือว่าเบาบางลง เมื่อเทียบกับการหดตัว 10.24 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจไต้หวันในช่วงไตรมาสแรก เมื่อยอดส่งออกของเกาะลดวูบ ดังนั้น อเล็กซ์ ฮวง จากสำนักงานการลงทุนนานาชาติมหภาคจึงเชื่อว่า ภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่กำลังฟื้นตัวจะสามารถมาชดเชยความสูญเสียส่วนใหญ่จากฤทธิ์มรกต

ตัวเลขของสภาเกษตรระบุว่า ความสูญเสียทางการเกษตรรวมแล้วไม่น้อยกว่า 12,200 ล้านเหรียญไต้หวัน แต่ตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกวันและคาดว่าจะสูงถึง 18,800 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งเป็นความสูญเสียจากไต้ฝุ่น เฮิร์บ ที่พัดถล่มไต้หวันเมื่อปี 2539 หายนะทางการเกษตรเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของไต้หวัน

การท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากอาลีซาน หรือภูเขาอาลี สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย ตลอดจนพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติอื่น ๆ ในภาคใต้ที่เต็มไปด้วยภูเขา ได้รับความเสียหายอย่างเลวร้ายจากอุทกภัยและโคลนถล่ม

โรงแรมและร้านอาหารถูกพัดกวาดหายไปคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเหรียญไต้หวัน และอาจใช้เวลานานกว่า 2 ปีที่จะฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคให้ดีดังเดิม ขณะที่เส้นทางรถไฟในพื้นที่ต้องเสียเวลาซ่อมอย่างน้อย 1 ปี สิ้นค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 800 ล้านเหรียญไต้หวัน

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงที่ว่าไต้ฝุ่นมรกตโจมตีพื้นที่เนินเขาที่อยู่ห่างไกล โดยไม่แตะต้องพื้นที่ซึ่งเป็นหัวใจด้านอุตสาหกรรม ช่วยป้องกันเศรษฐกิจของไต้หวันที่พึ่งการส่งออกไว้ได้ ต่างกับเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ริคเตอร์ในปี 2542 ภัยธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของไต้หวัน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 2,400 ศพ นิคมอุตสาหกรรมเสียหายยับเยิน รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ซินจู ในภาคเหนือของประเทศด้วย

ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมบางประเภทอย่างเช่นเหล็กกล้า ซีเมนต์และก่อสร้าง อาจได้รับประโยชน์จากภัยพิบัติครั้งนี้ จากการที่ประธานาธิบดีหม่า อิง-จิว ได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้ชีวิตของประชาชนคืนสู่ความเป็นปกติโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้.

เลนซ์ซูม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook