กะยัน..กะจ้าง..ปะด่อง ''กะเหรี่ยงคอยาว''

กะยัน..กะจ้าง..ปะด่อง ''กะเหรี่ยงคอยาว''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
''ไทย-ไม่ไทย'' ให้ชัด?

เป็นข่าวไม่ใหญ่ เพราะเป็นช่วงที่เมืองไทยมีข่าวใหญ่หลายข่าว โดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง แต่กรณีชุดที่ ไข่มุก-ชุติมา ดุรงค์เดช มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ใส่เข้าร่วมประกวดเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2009 ซึ่งได้รางวัลที่ 3 ในส่วนของรางวัล ชุดประจำชาติ และทางเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมชี้ว่า...เป็นเรื่องเข้าใจผิดถ้าคิดว่านี่คือชุดประจำชาติไทย และทางการไทยควรจะชัดเจนกับกลุ่มชนที่เป็นต้นแบบของชุด ๆ นี้

เรื่องนี้ต้องถือว่าน่าสนใจ...ไม่เพียงแค่เรื่อง ชุด

แต่เป็นเรื่องของ ชนเผ่า ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย...

ชุด โดยเฉพาะ องค์ประกอบของชุดส่วนบน ที่ตัวแทนสาวไทยใส่ไปประกวดนั้น ส่วนที่มีลักษณะเป็น ห่วง แวววาวนั้น เห็นแล้วก็ต้องนึกถึงชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่ในไทยกลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่มีการใส่ห่วงบริเวณคอ ที่ถูกเรียกว่า กะเหรี่ยงคอยาว ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้สัญชาติไทย จุดนี้ก็เลยขัด ๆ กับคำว่าชุดประจำชาติไทย

ทั้งนี้ เรื่องราวของ กะเหรี่ยงคอยาว นั้นจากข้อมูลในเว็บไซต์ www.khondoi.com บางส่วนระบุไว้ว่า... ชนกลุ่มที่คนไทยทั่วไปเรียกว่า กะเหรี่ยงคอยาว และชื่อนี้คนถูกเรียกก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นั้น แท้จริงแล้วคือชนเผ่า กะยัน อันเป็นชื่อที่คนชนเผ่านี้เรียกตนเอง และต้องการให้คนอื่นเรียก แทนคำว่า ปาดอง ที่เป็นภาษาไทยใหญ่ ที่สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ป้ายทอง ซึ่งหมายความว่า พันคอด้วยทอง โดยชาวไทยใหญ่เรียกกลุ่มชนนี้ด้วยคำเต็ม ๆ ว่า ยางปาดอง ขณะที่ คำว่า ปาดอง เมื่อถอดเสียงเป็นตัวเขียนภาษาไทย ก็มีการเขียนและการพูดได้หลายแบบ เช่น ปาตอง ปะต๋อง หรือ ปะด่อง

ชนกลุ่มที่ถ้าเป็นผู้หญิงจะมีการใส่ห่วงที่คอนี้ ยังมีชื่อเรียกกลุ่มชนของตนเองอีกชื่อหนึ่งว่า กะจ้าง อย่างไรก็ตาม กับชาวคะยาหรือกะเหรี่ยงแดงจะเรียกกะเหรี่ยงคอยาวว่า แลเคอ ที่มีความหมายว่าตอนบนของลำธาร อันเป็นถิ่นพำนักดั้งเดิมของชนกลุ่มนี้ ขณะที่ชาวคะยาบนแปลคำว่าแลเคอว่า ขุนห้วย

จะเห็นว่า...แค่ชื่อเรียกก็ซับซ้อน-น่าสนใจแล้ว

และ...วิถีชีวิต-การใช้ชีวิตในไทยก็ยิ่งน่าสนใจ...

ตำนานของชนกลุ่มนี้มีมากเกินกว่าจะแจกแจงได้ครบถ้วนด้วยพื้นที่จำกัด รวมถึงกับเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดของผู้หญิง...คือ สวมห่วงทองเหลืองที่ลำคอ อย่างไรก็ดี เรื่องการสวมใส่ห่วงที่คอนี้ ตามข้อมูลระบุว่า จะใส่กันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าจะใส่ในจำนวนตามอายุ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ในเมืองไทยบางส่วนก็จะใส่ห่วงบริเวณลำคอในจำนวนตามความพึงพอใจของตนเอง

ส่วนผลการพิสูจน์ด้วยการเอกซเรย์บริเวณคอของผู้หญิงที่ใส่ห่วงบริเวณคอ ที่ดูเหมือนทำให้กระดูกช่วงลำคอยาวขึ้นนั้น แท้จริงแล้วเป็นการไปกดบริเวณกระดูกช่วงบ่าให้ต่ำลง จนดูเหมือนช่วงคอยาวขึ้น

ชาวกะยัน หรือกะจ้าง หรือกะเหรี่ยงคอยาว มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณมองโกเลียตั้งแต่เมื่อราว 3,600 ปีก่อน แต่ข้อมูลบางแหล่งก็ว่าอยู่ที่มณฑลยูนนานในจีน อย่างไรก็ตาม ต่อมาชนกลุ่มนี้ก็อพยพมาลงหลักปักฐานที่รัฐคะยาในพม่ามานานกว่า 3,000 ปีแล้ว และปัจจุบันก็อพยพเข้ามาอยู่ในไทยจำนวนไม่น้อย

อพยพเข้ามาอยู่ในเขตประเทศไทยเพราะหนีภัยสงคราม

เข้ามาอยู่บริเวณพื้นที่ชายแดนด้านแม่ฮ่องสอนของไทย

ข้อมูลในเว็บไซต์คนดอยดอทคอม ระบุถึงการเข้ามาอยู่ในไทยของ กะเหรี่ยงคอยาว ซึ่งอ้างอิงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อาทิ ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน สรุปได้ว่า... ชนกลุ่มนี้เริ่มอพยพเข้ามาในไทยจริงจังราวปลายปี 2527 ในสถานะ ผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ ในฝั่งพม่า ตรงข้าม ต.ผาบ่อง และปางหมู ของไทย ชนกลุ่มนี้หนีภัยเข้ามาที่บ้านใหม่ในสอย

ราวปี 2528 จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีนโยบายเปิดเมืองสู่การท่องเที่ยว ก็ได้เจรจากับผู้นำกลุ่มชนนี้ในไทย มีการเปิด หมู่บ้านวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงคอยาว ศูนย์ท่องเที่ยวหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว ที่บ้านทุ่งหมากแกง ต.ผาบ่อง ริมแม่น้ำปาย และต่อมายังเพิ่มพื้นที่ที่บ้านน้ำเพียงดิน และบ้านใหม่ในสอยด้วย

และก็แน่นอน...ผู้หญิงชาวกะยันหรือกะเหรี่ยงคอยาวที่สวมใส่ห่วงคอ เป็นเอกลักษณ์เด่นที่สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้อย่างมาก !!

ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในเมืองไทยของผู้ที่อพยพเข้ามาก่อน ก็ส่งผลให้มีการอพยพเข้ามาเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อหนีการสู้รบ และหนีสภาพชีวิตที่ขัดสน ขณะที่ข้อมูลบางแหล่งยังระบุด้วยว่ามีชาวกะยันบางส่วนที่เป็นนักการเมือง ลี้ภัยการเมือง เข้ามาอยู่ในไทยด้วย และเข้ามาตั้งแต่ก่อนหน้า เข้ามานานแล้ว

ปัจจุบัน กะเหรี่ยงคอยาว ในไทย ทั้งชาย-หญิง ทั้งหญิงที่ใส่-ไม่ใส่ห่วงคอ รวมแล้วมีอยู่กว่า 120 ครัวเรือน จำนวนกว่า 550 คน ทั้งนี้ ที่ผ่าน ๆ มาคนกลุ่มนี้ก็มีประเด็นปัญหาหลายเรื่อง เช่น... ถูกมองเป็น ตัวประหลาด ถูกใช้เป็น สินค้า เป็นเครื่องมือทำธุรกิจของคนบางกลุ่ม หรือปัญหาเรื่อง สัญชาติ เรื่อง สิทธิมนุษยชน ซึ่งก็ทำให้องค์การข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติจับตาประเทศไทย

ชุดประจำชาติที่ ไข่มุก-ชุติมา ใส่...จะไทย-ไม่ไทยก็ว่ากันไป

ที่ทางการไทยต้องใส่ใจจริงจังมากกว่า...คือการดูแลคนกลุ่มนี้

ว่าจะชัดเจนอย่างไร ?? บนกติกาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ !!.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook