เปิดเอกสารปีฒ48แจงยิบคิดค่าเสียหาย ต้นไม้-ดินสูญเสียธาตุอาหาร-ทำโลกร้อน-ฝนน้อยฟ้องชาวบ้าน1.3ล้าน

เปิดเอกสารปีฒ48แจงยิบคิดค่าเสียหาย ต้นไม้-ดินสูญเสียธาตุอาหาร-ทำโลกร้อน-ฝนน้อยฟ้องชาวบ้าน1.3ล้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เปิดเอกสารปีฒ48 ชี้ชัด กรมอุทยานฯ เคยใช้สูตรคิดค่าโลกร้อนฟ้องแพ่งชาวบ้านที่พัทลุง 1.3 ล้านบาท บุกรุกทำลายพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แจงรายละเอียดยิบ วิธีคิดคำนวณค่าเสียหายป่า-ต้นไม้-ดินสูญเสียน้ำ-ดิน-ธาตุอาหาร-ทำโลกร้อน-ฝนตกน้อย จนท.อุทยาน ปัดยังไม่มีสูตรคิดลงโทษผู้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแน่นอน

กรณีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ปฏิเสธว่ากรมอุทยานฯไม่มีสูตรคิดค่าเสียหายจากชาวบ้านที่ตัดไม้ทำลายป่าและทำให้โลกร้อนนั้น เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในเอกสารราชการพบว่าเมื่อเดือนกันยายน 2548 กรมอุทยานฯได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส.0903.4/14374 ถึงสำนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง ระบุว่า ตามที่ได้รับการติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์จากพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนในการดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากนางกำจาย ชัยทอง กรณีบุกรุกทำลายพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จำนวน 8-2-85 ไร่ ค่าเสียหาย 1,306,875 บาท ให้แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับการคิดคำนวณค่าเสียหายพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร มีหลักเกณฑ์วิธีการอย่างไร

ต่อมาทางกรมอุทยานฯพิจารณาแล้วได้แจ้งไปว่า การคิดคำนวณค่าเสียหายมีหลักเกณฑ์ วิธีการ ดังนี้

1.การสูญหายของธาตุอาหาร 4,064.15 บาทต่อไร่ต่อปี

2.ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี

3.ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 50,800 บาทต่อไร่ต่อปี

4.ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี

5.ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี

6.ทำให้ฝนตกน้อยลง 5,400 บาทต่อไร่ต่อปี

7.มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าทั้ง 3 ชนิด ได้แก่

การทำลายป่าดงดิบ 61,263.36 บาท

การทำลายป่าเบญจพรรณ 42,577.75 บาท

การทำลายป่าเต็งรัง 18,634.19 บาท

รวมมูลค่าความเสียหายจากป่าทั้ง 3 ชนิด 40,825.10 บาทต่อไร่ต่อปี

เมื่อรวมกับมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมในข้อ 1-6 จำนวน 110,117.60 บาทต่อไร่ต่อปี จะพบว่าใน 1 ปี มีการทำลายป่าไม้ในพื้นที่ 1 ไร่ จะก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 150,942.70 บาท แต่กรมอุทยานฯคิดค่าเสียหาย 150,000 บาทเอกสารดังกล่าวระบุ

ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย อส.ชี้แจงว่า ยังไม่เห็นเอกสารดังกล่าว แต่ยืนยันว่ากฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอยู่ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 97 โดยเป็นกฎหมายของกรมป่าไม้ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้ทรัพยากรเสียหายโดยผิดกฎหมายจะต้องคิดค่าทรัพยากรนั้น ซึ่งปัจจุบันเมื่ออยู่ในกระแสภาวะโลกร้อน ก็อาจจะมีการโยงเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ยืนยันว่าไม่มีสูตรที่คิดมาเพื่อลงโทษผู้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแน่นอน

ไม่มีการคิดว่าตัดต้นไม้แล้วอุณหภูมิเพิ่มกี่องศา จะต้องคิดค่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นองศาละกี่บาท แต่เป็นการโยงของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เข้ากับภาวะโลกร้อนเท่านั้น เพราะการโยงเช่นนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดฝ่ายกฎหมาย อส.กล่าว และว่า สำหรับผู้กระทำผิดก็ต้องยอมรับในสิ่งที่ศาลตัดสิน ขณะนี้อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ ในการดำเนินการ กรมอุทยานฯไม่ได้โหดร้ายกับใคร เพราะทำตามกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย อส.กล่าวอีกว่า ส่วนข้อสงสัยที่ว่าหากบุกรุกพื้นที่อุทยานฯแล้ว กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางยังคงให้เงินไปดำเนินการทำไมนั้น เข้าใจว่าก่อนหน้านี้กองทุนไม่มีการตรวจสอบ แต่ปัจจุบันมีการตรวจสอบชัดเจนแล้วว่า หากทำสวนยางในพื้นที่อุทยานฯ หรือบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจะมีการตรวจสอบเข้มข้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook