รัฐฯไม่ล้วงลูกกก.พิจารณาฎีกานปช.

รัฐฯไม่ล้วงลูกกก.พิจารณาฎีกานปช.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ทักษิณ แถลงขอบคุณ คนเสื้อแดง ถวายฎีกาเสร็จสิ้น ลั่นไม่ยอมรับกฎเกณฑ์เครือข่ายคณะรัฐประหาร โวยกลไกรัฐตีความ-ใช้กฎหมายทำลายปฏิปักษ์ทางการเมือง ลั่นรัฐบาลต้องเลิกการกระทำที่เป็นอุปสรรคต่อการสมานฉันท์ก่อนสายเกินไป นายกฯ ระบุรัฐบาลมีหน้าที่ให้ความเห็นสำนักราชเลขาฯ เท่านั้น ยันปฏิบัติมาตรฐานเดียวกับการถวายฎีกาทั่วไป ด้าน เทพเทือก ย้ำไม่ตัดตอน-ไม่แทรกแซง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ สาทิตย์ ฟันธง แม้ว ยังไม่หยุดประเมินจาก โฟนอิน มีเจตนาแอบแฝง ปลัดยธ.เผยยังไม่เห็นรายละเอียดฎีกา ย้ำจำนวนไม่สำคัญเท่าเงื่อนไข นครบาล เร่งถกข้อกฎหมาย พิจารณาถอนประกันแกนนำเสื้อแดง หากพบผิดเงื่อนไข

ตามที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง นัดชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 17 ส.ค. เพื่อนำรายชื่อคนไทยทั้งสิ้น 3,532,900 คน ยื่น ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทาน อภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านทางสำนักราชเลขาธิการ ต่อมาสำนักราชเลขาธิการ ออกแถลงการณ์ชี้แจงขั้นตอนปฏิบัติว่า การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเกี่ยวกับการขอพระราชทาน อภัย โทษ การขอพระราชทานความเป็นธรรม และการขอพระราชทานความช่วยเหลือ สำนักราชเลขาธิการ ต้องส่ง ฎีกาทุกเรื่องให้รัฐบาลพิจารณาถวายความเห็นประกอบพระราชดำริต่อไปนั้น

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้ สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สำนักราชเลขาธิการ ระบุว่า หลังจากกลุ่มคนเสื้อแดงยื่นถวายฎีกาแล้ว ต้อง ให้เป็นไปตามขั้นตอน โดยให้รัฐบาลพิจารณา ถวายความเห็นประกอบว่า เป็นวิธีการตามปกติ รัฐบาลมีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผล กรณีที่มีผู้ยื่นฎีกาจะแยกเป็นสองส่วนคือ ฎีกาที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเรื่องต่าง ๆ และฎีกาของผู้ต้องโทษ และขอพระราชทาน อภัยโทษ คือ ติดคุกรับโทษในระยะหนึ่ง เมื่อทำตัวดีสำนึกผิด ก็ทำเรื่องถวายฎีกาได้ ผ่านทางผู้บัญชาการเรือนจำ ทำเรื่องถึงกรมราชทัณฑ์ ทาง กรมราชทัณฑ์จะมีกรรมการพิจารณาว่าเข้าหลัก เกณฑ์กติกาที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ จากนั้น จึงจะส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรม เมื่อกระทรวงตรวจสอบแล้วก็จะส่งเรื่องมาที่สำนักนายกรัฐมนตรี ขั้นตอนสุดท้ายคือ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมาย ทำหนังสือกราบบังคมทูล โดยสรุปเหตุผล ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง ทุกอย่าง ทุกประการ ตั้งแต่ความเห็นของเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และความเห็นรัฐบาลถวายขึ้นไป

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า กรณีกลุ่มคนเสื้อแดงก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้รับเรื่องจากสำนักราชเลขาธิการ ต้องส่งกลับไปให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการ กระทรวงยุติธรรมต้องตรวจสอบอย่างละเอียด อาจตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นพิเศษ เพราะเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ต้องให้คนที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้จริง ๆ มาดำเนินการ จากนั้นต้องทำความเห็นเบื้องต้นมายังรัฐบาล ถึงตอนนั้นถ้าเรื่องมาถึงตนต้องพิจารณาไปตามขั้นตอน ผู้สื่อข่าวถามว่า ขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมดจะใช้เวลานานเท่าไหร่ นายสุเทพ กล่าวว่า คงบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่กระทรวงยุติธรรมจะแต่งตั้งขึ้นว่าจะพิจารณาอย่างไร

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าหากฎีกาที่ยื่นไม่ผ่านขั้นตอนของรัฐบาลไปถึงพระองค์ท่าน เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงบางคนระบุว่าเป็นเพราะรัฐบาลสกัดกั้น และเกรงหรือไม่ว่าจะมีการปลุกระดมมวลชนขึ้นมา นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่กังวล และไม่อยากให้ประชาชนกังวล ทุกคนต้องเคารพกฎเกณฑ์ กติกาของบ้านเมือง คนเสื้อแดงก็ต้องเคารพ ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีใครคิดกลั่นแกล้ง หรือหาเรื่องใคร ตนจะดูแลหน่วยงานที่อยู่ในความ รับผิดชอบ พูดความจริงกับประชาชนทุกเรื่อง และแถลงข้อเท็จจริงทุกประการ ยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ประชาชนเจ้าของประเทศไทยจะได้ทราบไปพร้อม ๆ กัน

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม.ว่าขั้นตอนจากนี้ไป สำนักราชเลขาธิ การจะส่งหนังสือทั้งหมดมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องหารือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดแนววิธีปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผู้สื่อข่าวถามว่าค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าการยื่นถวายฎีกาครั้งนี้ไม่เข้าขั้นตอนตามกฎหมาย เป็นไปได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะยุติเรื่องโดยไม่นำส่งกลับไปยังสำนักราชเลขาธิการ นายสาทิตย์ กล่าวว่าอย่าเพิ่งพูดไปก่อนจนกว่าจะตรวจสอบรายละเอียดของเอกสารทั้งหมดว่าเป็นไปตามองค์ปมายหรือไม่ เมื่อถามว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร หากในวันที่ 26 ส.ค.นี้ กลุ่มเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่จะนำประเด็นดังกล่าวไปปลุกระดมยกระดับขับไล่รัฐบาล นายสาทิตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มเสื้อแดงประกาศว่าหลังยื่นฎีกาแล้วจะยุติการเคลื่อนไหว ก็ขอให้เป็นไปตามนั้น เท่าที่ดูการโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณ ประเมินว่าเหตุการณ์ยังไม่จบง่าย ๆ เพราะเป้าหมายจริง คือการเดินหน้าต่อ เมื่อถามว่าจะเป็น สิงหาอันตราย หรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า มีการขู่ไว้ซึ่งมันไม่มีผลดีอะไรเลย

ต่อมาช่วงบ่าย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่าในการประชุม ครม.ไม่ได้หยิบยกเรื่องการถวาย ฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงมาหารือ แต่แนวทางปฏิบัติคือสำนักราชเลขาธิการจะต้องส่งเรื่องมาให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอให้นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการถวายฎีกาทุกเรื่อง เพื่อตรวจสอบว่าเป็นฎีกาประเภทไหน และส่งให้หน่วย งานที่รับผิดชอบไปดำเนินการต่อไป เท่าที่ดูน่าจะ เป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งคงต้องเป็น กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาในส่วนของรัฐบาลมีหน้าที่ให้ความเห็นไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศว่าจะชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 26 ส.ค. เพื่อทวงถามเรื่องนี้ นายกฯ กล่าวว่า เท่าที่สอบถาม การตรวจสอบต้องใช้เวลามาก ดังนั้นอย่างไรก็ไม่ทันวันที่ 26 ส.ค.ส่วนที่กลุ่มคนเสื้อแดงระบุว่ารัฐบาลพยายามขัดขวาง และเตะถ่วงการยื่นถวายฎีกา นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีกรณีเช่นนั้นเกิดขึ้น กรุณาอย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง รัฐบาลทำอย่างนั้นไม่ได้ เมื่อรัฐบาลมีหน้าที่ก็ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อถามว่าคิดว่าสถานการณ์ในช่วงนี้เป็นสถาน การณ์เปราะบางที่อาจจะมีการปลุกระดมกันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อย่าไปหลงเชื่อ รัฐบาลทำอย่างตรงไปตรงมาตามหลักเกณฑ์ทุกประการ

ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าหลังกลุ่มคนเสื้อแดงถวายฎีกาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าขณะนี้ทราบแค่รัฐบาลจะส่งเรื่องต่อมาให้ แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดของฎีกาว่าเป็นฎีการ้องทุกข์ หรือฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่หากจะส่งเรื่องมา ก็ต้องส่งให้กรมราชทัณฑ์ไปพิจารณาคำร้องว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ถวายฎีกาให้หรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาเนื้อหาว่าสมควรถวายฎีกาหรือไม่ ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้ทำความเห็นเสนอต่อ รมว. ยุติธรรม ทั้งนี้ต้องตรวจสอบเนื้อหาเบื้องต้นทั้งหมด รวมถึงตรวจสอบรายชื่อซึ่งมีจำนวนมากก่อน หากเห็นรายชื่อแล้วคงพิจารณาเร็วขึ้น โดยเฉพาะกรณีฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษชัดเจนว่าผู้ร้องต้องเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยืนยันว่าความสำคัญของฎีกาไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกฎหมายมากกว่า

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.กล่าวว่า คณะทำงานสอบสวนดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมเสื้อแดง (นปช.) ในส่วนของนครบาลอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดพฤติการณ์การยื่นรายชื่อถวายฎีกาอภัยโทษเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าเข้าข่ายผิดเงื่อนไขการยื่นถอดถอนประกันตัวแกนนำ นปช.ที่ถูกดำเนินคดีข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่น ๆ จากเหตุการณ์สงกรานต์เดือด ตามที่มีการดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้หรือไม่ เพื่อรายงานไปยังตร. พิจารณาในเรื่องการถอนประกันตัวแกนนำ นปช. ชั่วคราว หากพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่ผิดเงื่อนไขก็ทำได้ แต่หากตร.เห็นว่าไม่เหมาะสมก็ จะต้องเสนอต่อศาลพิจารณาเรื่องการถอนประกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4/5 ผ่านทางนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย มีใจความสรุปว่า ผมขอขอบคุณพี่น้องผู้รักประชาธิปไตย และความเป็นธรรม ที่ได้ร่วมลงชื่อถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จน แล้วเสร็จ การดำเนินการดังกล่าวกระทำโดยพี่น้องประชาชนที่เทิดทูนสถาบัน จงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยืนยันว่าข้อกล่าวหาเรื่องคดีที่ดินรัชดาฯ เป็นคดีที่ผู้เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองของผมยัดเยียดให้หลังการรัฐประหารของคณะทหารกลุ่มหนึ่ง ที่ลบล้างเสียงของประชาชนมากกว่าสิบล้านคนทั่วประเทศที่สนับสนุนรัฐบาล การกระทำที่ประทุษร้ายต่อประชาธิปไตยในครั้งนั้นได้ทำลายชาติไทยอย่างย่อยยับมาจนปัจจุบัน

แถลงการณ์ระบุอีกว่า ตนไม่ใช่ผู้หนีคดี เพราะไม่ยอมรับการกระทำรัฐประหาร ตนไม่ยอมรับกฎเหนดโดยบุคคลเหล่านี้ ไม่ยอมรับการยัดเยียดข้อกล่าวหาของผู้ยึดอำนาจ ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่คณะผู้ยึดอำนาจหยิบยื่นให้ ประชาชนทั้งประเทศทราบดีว่าการซื้อที่ดินรัชดาฯนั้น ได้ซื้อโดยการยื่นประมูลราคาสูงสุดต่อกองทุนฟื้นฟูฯ ตนในฐานะนายกฯ ไม่ได้ใช้อำนาจใด ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ซื้อ การประมูลได้กระทำโดยสุจริตเพราะหน่วยงานของรัฐยืนยันว่าภรรยานายกฯ ยื่นประมูลเพื่อสู้ราคาได้ เรื่องนี้ไม่มีการ ทุจริตคอร์รัปชั่น แต่มีการบิดเบือนว่าตนทุจริต ซึ่งเป็นความเท็จ

ประเทศไทยยากจะเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าไม่มีความปรองดองของคนในชาติ ความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ายังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงและความยุติธรรมในสังคม และความยุติธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามีการใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมและเลือกปฏิบัติ เพราะขณะนี้กลไกของรัฐได้ตีความและใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทำลาย ผู้เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองเท่านั้น ผมอยากเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง อยากเห็นความปรองดอง ความเป็นธรรม และความสุขของคนไทยทุกฝ่าย ทุกสี รัฐบาลต้องเลิกการกระทำที่เป็นอุปสรรคต่อการสมานฉันท์ รัฐบาลต้องทำมากกว่าพูด รัฐบาลต้องตระหนักว่าบ้านเมืองอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นผลพวงของการยึดอำนาจและไม่เป็นประชาธิปไตย เราต้องเริ่มคิดและทำอย่างจริงจังเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้ ก่อนที่ทุกสิ่งทุก อย่างจะสายเกินไป ผมรักประเทศไทย และพร้อมที่จะร่วมกันสร้างความปรองดอง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ล้นเกล้าชาวไทย

นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้แสดงความกังวล หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินมายังเวทีคนเสื้อแดงที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ในช่วงก่อนที่จะมีการถวายฎีกา เพราะจากรายงานข่าวระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินมาจากนคร ดูไบ ซึ่งเท่ากับใช้ยูเออีเป็นฐานขับเคลื่อนทาง การเมือง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลยูเออีได้เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปพูดคุยไม่ให้ขับเคลื่อนทางการเมือง โดยรัฐบาลยูเออีได้ส่งหลักฐานเอกสารมาให้กับทางการไทยแล้ว การเคลื่อนไหวดังกล่าวเท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ดำเนินการตามที่รับปากกับรัฐบาลยูเออี ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลยูเออีจะต้องดำเนินการต่อกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัมพันธภาพระหว่างไทยกับยูเออี นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไป ได้แสดงความกังวลมายังรัฐบาลไทย และบอกชัดเจนว่าได้พยายามขอร้อง พ.ต.ท. ทักษิณ แล้ว

ช่วงเย็นที่พรรคภูมิใจไทย ถนนพหล โยธิน นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้า พรรคภูมิใจไทย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรค นางพรทิวา นาคาศัย เลขาธิการพรรค พร้อมด้วย ส.ส.พรรค แถลงข่าวว่าที่ประชุม พรรคมีมติเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการ เมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 26 พ.ค. ถึง 3 ธ.ค. 2551 และระหว่างวันที่ 26 มี.ค. ถึง 14 เม.ย. 2552 พ.ศ.......ต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 19 ส.ค.นี้ มีส.ส.ร่วมลงชื่อ 25 คน นายชวรัตน์ กล่าวว่าพรรคขอเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ดังกล่าวให้กับบุคคลทั้ง 2 กลุ่ม คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ไม่ว่าจะทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ ผู้ใช้ ผู้ออกคำสั่ง หรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้พ้นจากความผิด ทั้งความรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัยอย่างสิ้นเชิง และให้ศาลปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้อง หรือถูกคุมขัง และให้พนักงานสอบสวนยุติการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมด เราเห็นว่าประชาชนที่ทำผิดการเมืองเป็นผู้ที่มีความสุจริตทางการเมือง และแสดง ออกตามสิทธิในฐานะประชาชน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook