มาร์ควางแผนรับมือชุมนุมยื่นฎีกา ส่ง2ความเห็นให้ ราชเลขาฯ ตัดสินใจ ฎีกาการเมือง-เดือดร้อนจริง

มาร์ควางแผนรับมือชุมนุมยื่นฎีกา ส่ง2ความเห็นให้ ราชเลขาฯ ตัดสินใจ ฎีกาการเมือง-เดือดร้อนจริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มาร์ควางแผนรับมือชุมนุมยื่นฎีกาหารือประวิตร-วิเชียรหวั่นมือที่ 3 สั่งระมัดระวังเป็นพิเศษ ขู่หากเหตุการณ์รุนแรงจัดการเด็ดขาด รับไม่ประมาทข่าวปฏิวัติเงียบ รัฐบาลเตรียม 2แนวทางกลั่นกรอง เดือดร้อนจริง-เรื่องการเมือง ส่งความเห็นให้สำนักราชเลขาธิการใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มาร์คคุยประวิตร-วิเชียร รับมือแดง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 สิงหาคม เพื่อจัดรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ออกอากาศสดผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 จากนั้นถ่ายสปอตโฆษณาโครงการไทยเข้มแข็ง บริเวณสนามหญ้า หน้าตึกสันติไมตรี และตึกไทยคู่ฟ้า เตรียมไว้ใช้ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ปลายเดือนสิงหาคมนี้

กระทั่งเวลา 10.00 น. นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมการรับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 สิงหาคม ว่า เพิ่งได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) แล้วคิดว่าน่าจะบริหารจัดการกันได้ และมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สมมุติว่าเข้ามาชุมนุม 20,000 คน ความสำคัญอยู่ที่การจัดให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย

สั่งอย่าให้มีปะทะ-ระวังมือที่3

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเริ่มที่จะพยายามให้มีการปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) อย่างล่าสุดที่เกิดขึ้น จ.พะเยา มีการไปบุกสถานที่อีกฝ่ายขณะประชุมอยู่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในต่างจังหวัดได้ย้ำไปหลายครั้งแล้วว่าการใช้สิทธิของแต่ละฝ่ายต้องเปิดโอกาสให้กันและกัน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดูแลไม่ให้มีการปะทะกัน ในวันที่ 17 สิงหาคมก็เหมือนกัน หากมีกลุ่มอื่นเข้ามาได้กำชับไปแล้วว่าต้องมีวิธีการไม่ให้เผชิญหน้ากัน ส่วนมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีกลุ่มที่เป็นมือที่ 3 เข้าสร้างสถานการณ์ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเหตุผลที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงได้กำชับไปอีกรอบ และได้รับการยืนยันจากคนทำงานทุกฝ่าย ทั้งตำรวจ ทหาร ว่ามีความพร้อมจะดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย

นายกฯกล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าความคิดเห็นที่แตกต่างมันยังค้างอยู่ เราต้องใช้เวลา และใช้บทเรียนอย่างที่ย้ำตลอดว่า ที่ผ่านมาได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนไทยเวลาที่เกิดความไม่สงบขึ้น ดังนั้นอย่าให้เกิดขึ้นอีก ถ้าเกิดขึ้นคนที่เดือดร้อนคือคนทั้งประเทศ และกลุ่มนั้นๆ จะถูกสังคมมองว่า เป็นตัวปัญหาในบ้านเมือง ถ้าเคลื่อนไหวในกรอบความสงบไม่มีปัญหาอะไร เมื่อถามว่า นายกฯมั่นใจว่าฝ่ายความมั่นคงคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เขาต้องทำได้เพราะเป็นความรับผิดชอบ

ขู่หากมีอะไรขึ้น จัดการเด็ดขาด

นายอภิสิทธิ์กล่าวกรณีนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) มักจะออกมาบอกว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว และพูดอีก 3 เดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหมือน ปี 2475 ว่า ถ้าพูดจาอะไรในลักษณะที่เป็นการยั่วยุ ความจริงตนอยากบอกว่าหลายคนมีเรื่องในอดีตที่เป็นคดีค้างอยู่ซึ่งศาลต้องพิจารณาตรงนี้อยู่แล้ว อยากให้นักการเมืองระมัดระวัง บางครั้งแม้เข้าใจที่ต้องการให้เกิดความฮึกเหิมแต่ไม่ได้เป็นผลดี ได้บอกตลอดว่ามันจะมีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่ต้องการเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย คงไปเปลี่ยนใจเขาไม่ได้ แต่หน้าที่รัฐบาลคืออย่าให้เขาเข้ามามีอิทธิพลเพียงพอจนทำให้เกิดเหตุการณ์ และหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ต้องจัดการเด็ดขาด จริงๆ แล้วตั้งแต่เดือนเมษายนมา เหตุการณ์ต่างๆ ค่อนข้างเรียบร้อย ก็อยากให้เป็นอย่างนี้ต่อไป

นายกฯกล่าวถึงการดูแล ภายหลังการยื่นฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า โดยหลักสำนักราชเลขาธิการจะส่งเรื่องมาขอความเห็นจากรัฐบาล และรัฐบาลจะส่งความเห็นไปทั้งในเรื่องข้อกฎหมายด้านต่างๆ เป็นอย่างไร อย่างที่เห็นเบื้องต้นขณะนี้กรณีนี้ไม่ใช่การขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนจะเป็นการฎีกา ความเดือดร้อนทั่วไป หรือเป็นฎีกาการเมือง รัฐบาลจะให้ความเห็นไป พร้อมๆ กับการตรวจสอบรายชื่อเบื้องต้นว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทางสำนักราชเลขาธิการจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ไม่ประมาทข่าวปฏิวัติเงียบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯห่วงหรือไม่ว่าจะมีการใช้เหตุการณ์ชุลมุนวงนี้ก่อเหตุ เพราะมีการออกมาพูดเรื่องปฏิวัติเงียบ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ข่าวเช่นนี้ส่วนใหญ่ก็ออกมาจากคนที่เคลื่อนไหวที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ผมยืนยันว่ายังมองไม่เห็นว่าหากเกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นแล้วบ้านเมืองจะเดินไปอย่างไร มีแต่จะเกิดความวุ่นวายเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อถามว่า อย่าง พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกลาโหมออกมาบอกว่ามีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีการปฏิวัติเงียบ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คือเราไม่ประมาท แต่เราก็ยังมั่นใจว่าระบบการทำงานและสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เราผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้

มองไม่เห็นจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง

ส่วนกรณีที่มีข่าว นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย บินด่วนไปสิงคโปร์เพื่อพบกับ ผบ.เหล่าทัพ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ค่อยได้ไปติดตามละเอียดว่าใครจะไปไหน แต่รัฐมนตรีกลาโหมไปปฏิบัติอะไรก็ลาตนอยู่แล้ว และเมื่อสักครู่ก็ได้พูดคุยกันด้วย เมื่อถามว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีการจับมือกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างที่มีข่าวออกมาแค่ไหน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงถ้าเป็นความเปลี่ยนแปลงภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยไม่มีปัญหาอะไรเลย ยอมรับได้อยู่แล้ว แต่ชั้นนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองก็มองว่ามันมีความจำเป็นต้องให้ประเทศมีเสถียรภาพ และต้องการผลักดันงานต่างๆ ในขณะที่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาอีก

นายกฯยังกล่าวตอบคำถาม ขณะนี้รู้สึก เหนื่อยหรือไม่เพราะเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้นแต่มีการเมืองซ้ำเติมว่า ไม่มีสิทธิเหนื่อยแต่ว่าเป็นห่วงเวลาที่มีอะไรมาซ้ำเติมคนที่เหนื่อยคือคนทั้งประเทศ ถึงได้เรียกร้องว่าอย่าสร้างเงื่อนไขอะไรเพราะเวลาที่เดินทางไปต่างประเทศพบกับภาคธุรกิจเอกชนส่วนใหญ่ห่วงเงื่อนไขทางการเมืองที่ยังห่วงใยอยู่ เรื่องอื่นๆ มันคลายไปมากแล้ว ดังนั้น อยู่ที่คนไทยด้วยกันเองว่าอยากจะเห็นเศรษฐกิจฟื้นเร็วต้องช่วยกันทำให้ทุกอย่างมันนิ่ง อะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ได้รับฟังและเดินหน้าแก้ไขให้ตลอด

ขอใช้สิทธิในกรอบอย่าใช้รุนแรง

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ว่า ปัญหาการเมืองที่จะมีการเคลื่อนไหวในวันที่ 17 สิงหาคม อาจจะมีมากกว่าหนึ่งกลุ่มถือเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ หากกลุ่มมวลชนเคลื่อนไหวตามกรอบรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะเคารพและอำนวยความสะดวกให้ เชื่อว่าไม่มีกลุ่มการเมืองใดที่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายขึ้น และดำเนินการอยู่ในกรอบกฎหมาย แต่หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน กระทบภาพลักษณ์ประเทศ ไม่คิดว่าจะเป็นเป้าหมายของการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวใช้สิทธิบนหลักเกณฑ์ ไม่สร้างความรุนแรงกับคนไทยด้วยกัน

ภท.ยันไม่เกณฑ์เสื้อน้ำเงินป่วน

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ที่ จ.นครราชสีมา ว่า ล่าสุดทั่วประเทศมีรายชื่อประชาชนคัดค้านการยื่นถวายฎีกากว่า 8 ล้านรายชื่อ กระทรวงมหาดไทยกำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงวิธีการยื่นถวายฎีกาอย่างถูกต้องว่าจะต้องเป็นไปในรูปแบบใด รายชื่อประชาชนเหล่านี้กระทรวงจะไม่นำไปยื่นต่อหน่วยงานใด

นายบุญจงกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยยืนยันการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการยื่นถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้บังคับและเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบ โดยเฉพาะกระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกระบวนการที่ผิดกฎหมาย ถ้าปล่อยไว้จะเป็นการมิบังควร

นายบุญจงกล่าวว่า หลายฝ่ายเป็นห่วงว่ากลุ่มคนเสื้อน้ำเงินอาจเดินทางไปให้กำลังใจกับนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทยจำเลยคดีทุจริตโครงการจัดซื้อกล้ายางพาราที่จะต้องเข้ารับฟังการตัดสินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 17 สิงหาคม และอาจจะเผชิญหน้ากับกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ขอยืนยันว่าจะไม่มีการเกณฑ์ประชาชนจากฝ่ายใดมาให้กำลังใจนายเนวินอย่างแน่นอน

นายเนวินเป็นจำเลยก็ต้องมาฟังคำพิพากษาของศาล ส่วนใครมาให้กำลังใจอย่างไรนั้นไม่เกี่ยวข้องกับผมและกระทรวงมหาดไทย นายบุญจงกล่าว

มท.อวดตัวเลขค้านใกล้ทะลุ10ล้าน

กระทรวงมหาดไทย รายงานตัวเลขผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกา โดยในวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาถือเป็นวันที่ 13 ของการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ มีผู้ร่วมคัดค้านแล้วรวม 9,289,176 ราย แบ่งเป็นภาคเหนือ 1,622,829 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,420,908 ราย ภาคกลางและภาคตะวันออก 2,192,034 ราย และภาคใต้ 1,053,405 ราย ผู้ที่ถอนชื่อถวายฎีกา 9,230 ราย ทั้งนี้ ยังไม่มีการรายงานตัวเลขในส่วนของ กทม.แต่อย่างใด ส่วนตัวเลขข้าราชการที่นำทีมโดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้า ภท. ร่วมลงชื่อที่กระทรวงมหาดไทยนั้น มี 172 ราย และมีข้าราชการที่ถอนชื่อถวายฎีกา 29 ราย รายชื่อของข้าราชการส่วนใหญ่เป็นชื่อที่ถูกสั่งให้ลงในหนังสือเวียน ที่มีการล่ารายชื่อเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา

ปชป.ซัดใช้สื่อใต้ดินกดดันสถาบัน

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคอยากเรียกร้องคนไทยช่วยกันรักษาสถาบันสูงสุดของชาติ ไม่ให้ถูกดึงมาเป็นเครื่องมือของความขัดแย้งทางการเมือง จนทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย แกนนำ นปช.ออกมายอมรับการที่มีอ้างมีการประสานงานกับสำนักราชเลขาธิการและองคมนตรีว่าไม่เป็นจริง จึงถือว่าเป็นเรื่องโกหก อยากเรียกร้องให้แกนนำ นปช.รับผิดชอบเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นพร้อมทั้งรักษาคำพูดที่ว่าจะยุติการเคลื่อนไหวหลังจากถวายฎีกา เพราะรับทราบมาว่ามีการใช้สื่อใต้ดินที่กดดันสถาบัน สำนักราชเลขาฯ และสถาบันพระมหากษัตริย์

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครอบครัวและเครือญาติร่วมลงชื่อด้วยหรือไม่ รวมถึง ส.ส.พท. และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน 109 ร่วมลงชื่อด้วยหรือไม่ และขอตั้งข้อสังเกตตำรวจในการให้ประกันตัว 27 แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ก่อเหตุจลาจล ด้วยเงื่อนไขว่าจะไม่มีการปลุกปั่นยั่วยุ หรือหลบหนีจากราชอาณาจักร แต่ปรากฏว่า 4 เดือนที่ผ่านมา 27 คนที่ถูกออกหมายจับยังมีการเคลื่อนไหวในการปลุกปั่นประชาชนให้มาร่วมลงรายชื่อถวายฎีกา จึงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมตำรวจไม่ดำเนินการหรือรอให้กลุ่มคนเหล่านี้มาเผาบ้านเผาเมืองก่อนจะป้องกันและขอเรียกร้องให้ตำรวจเร่งดำเนินการ โดยการถอนการประกันตัว ก่อนที่กลุ่มคนเหล่านี้ จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง

พธม.ข้องใจปลัดกห.-ชี้อาจพลิกผัน

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ว่า สังคมต้องจับตาการยื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะถูกขยายผลไปเป็นเงื่อนไขของการพลิกผันทางการเมือง เพราะเป็นไปได้ที่กองกำลังไม่ทราบฝ่ายอาจเข้ามาควบคุมสถานการณ์ หรือบีบให้เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

โดยเฉพาะท่าทีที่นิ่งเฉยของผู้นำเหล่าทัพ อาจจะกลายเป็นตัวแปรของสถานการณ์ได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องผิดสังเกตุมากๆ ที่ผู้นำเหล่าทัพส่งสัญญาณนิ่งเฉยไม่มีความเห็นทั้งที่การเข้าชื่อคัดค้านการถวายฎีกาของข้าราชการประจำระดับปลัดกระทรวงและเทียบเท่าจำนวน 29 คนนั้น มี 3 หน่วยงานที่เคยวางตัวเป็นกลางแต่ครั้งนี้กลับตัดสินใจร่วมลงชื่อคัดค้าน คือคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายอดุล กอวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทั้ง 3 องค์รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและความมั่นคงของประเทศโดยตรงออกมาแสดงท่าทีที่สวนทางกับท่าทีของ ผบ.ทบ.และผู้นำเหล่าทัพถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ มีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายความมั่นคงของประเทศขาดเอกภาพและแบ่งขั้วแบ่งข้างจนไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและหน้าที่ของกองทัพในการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สำคัญใน 29 คนที่ลงนามครั้งนี้ก็ไม่มีชื่อ พล.อ.อภิชาติ เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมลงนามด้วยแต่อย่างใด นี่เป็นสัญญาณบอกเหตุว่า สถานการณ์การเมืองไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตการณ์ที่ซับซ้อนกว่าเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook