สัตมหาสถาน

สัตมหาสถาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มีผู้สอบถามมาทาง Hi5 ว่า สัตมหา สถานคืออะไร ผู้เขียนตอบไปแล้วอย่างคร่าว ๆ และขอถือโอกาสนำมาขยายความต่อให้ผู้อ่าน เดลินิวส์ได้ทราบกันด้วยค่ะ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามคำ สัตมหาสถาน [สัดตะมะหาสะถาน] ว่า สถานที่ ๗ แห่งที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขภายหลังตรัสรู้ ซึ่งได้แก่ ๑) รัตนบัลลังก์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประทับเสวยวิมุติสุขใต้ร่มโพธิ์เป็นเวลา ๗ วัน ๒) อนิมิสเจดีย์ พระพุทธเจ้าเสด็จจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วหันกลับมาประทับยืนทอดพระเนตรต้นมหาโพธิ์ โดยไม่กะพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน ๓) รัตนจงกรม พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์ เป็นเวลา ๗ วัน ๔) พระพุทธเจ้าทรงประทับในเรือนแก้วทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด ๗ วัน ๕) ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร) พระพุทธเจ้าเสด็จไปทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ประทับนั่งเสวยวิมุติสุขใต้ต้นไทรเป็น เวลา ๗ วัน พญามารอาราธนาให้เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน แต่ทรงปฏิเสธ ๖) ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) พระพุทธเจ้าเสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ประทับนั่งใต้ต้นจิก ตลอด ๗ วัน พญานาคมุจลินท์แผ่พังพานกันฝนและลม ๗) ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) พระพุทธเจ้าเสด็จไปทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งเสวยวิมุติสุขใต้ต้นเกดเป็นเวลา ๗ วัน พ่อค้า ๒ คน ชื่อตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางผ่านมาได้นสัตตุมาถวาย ทั้ง ๒ คนได้เป็นปฐมอุบาสก

สัตมหาสถานทั้ง ๗ แห่งนี้อยู่ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย พระเจ้าติโลกราชได้โปรดเกล้าฯ ให้จำลองมาสร้างไว้ที่ วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันเหลือเพียง ๓ แห่ง ได้แก่ รัตนบัลลังก์ อนิมิสเจดีย์ และ รัตนฆรเจดีย์ เท่านั้นค่ะ

สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจในการใช้ ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร. 0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ http://www.royin.go.th

รัตติกาล ศรีอำไพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook