ยอดตายหวัด09 เพิ่มอีก16รวมสะสม97ราย ระบุ11รายมีโรคประจำตัว นักเรียนป.6 สุราษฎร์ฯเซ่นอีก 1

ยอดตายหวัด09 เพิ่มอีก16รวมสะสม97ราย ระบุ11รายมีโรคประจำตัว นักเรียนป.6 สุราษฎร์ฯเซ่นอีก 1

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้ป่วยหวัด 2009 เสียชีวิตเพิ่มอีก 16 ยอดสะสมรวม 97 ศพ เผย 11 รายมีโรคประจำตัว นักเรียน ป.6 สุราษฎร์ฯ เซ่นอีก 1 สธ.ชี้แนวโน้มระบาดใน กทม.-ปริมณฑลลดลง รพ.โคราชเฝ้าระวัง 2 หญิงตั้งครรภ์ ผ่าตัดทำคลอดให้หญิงตั้งท้อง 6 เดือนครึ่ง ทารกปลอดภัย ไม่ติดเชื้อจากแม่

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 11 สิงหาคม นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงยอดผู้เสียชีวิตและติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ประจำสัปดาห์ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1-8 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 16 ราย เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมีผู้เสียชีวิต 16 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 97 ราย โดยผู้เสียชีวิต 16 ราย มี 11 ราย ที่มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน หัวใจหลอดเลือด โรคไต โรคปอด และตั้งครรภ์ 1 ราย โดยร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตเริ่มป่วยก่อนที่จะมีนโยบายกระจายยาต้านสู่คลีนิค ทั้งนี้ เชื่อใจว่าในอีก 3-4 สัปดาห์ การระบาดจะชะลอตัวลดลง หากยังดำเนินการตามมาตรการป้องกันที่ สธ.กำหนดไว้ ทั้งนี้ แนวโน้มการระบาดในเขต กทม. และปริมณฑล ขณะนี้ลดลง

นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยนักเรียน อายุ 6-20 ปี มีการติดเชื้อน้อยลง สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการคัดกรองและมาตรการต่างๆ เช่น หยุดอยู่บ้านเมื่อป่วย เริ่มเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ส่วนกลุ่มเกษตรกร มีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แสดงให้เห็นว่า ต้องรีบป้องกันเชื้อในชุมชน และในสัปดาห์หน้า จะเร่งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เร่งคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดและแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งจะเข้าร่วมเครือข่ายด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกว่า 1,000 องค์กร ร่วมรณณงค์กับ สธ.

ส่วนการกระจายยาต้านไวรัสลงคลีนิคเอกชน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15 โดยนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้เร่งรัดผู้ตรวจ 18 เขต ดำเนินการให้ความเข้าใจแพทย์เจ้าของคลีนิคแล้ว เชื่อว่าจะมีคลีนิคเข้าร่วมโครงการกระจายยามากขึ้น โดยจะปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ขณะที่คลีนิคบางส่วนได้แสดงความจำนงเป็นเครือข่ายในการคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล นพ.ไพจิตร์กล่าว

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ สธ. นายวิทยาเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือการเข้าถึงยาซานามิเวียร์ และการสำรองใช้ภายในประเทศ ระหว่าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กับนายเนมี่ ลิม กรรมการผู้จัดการบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (จีเอสเค) ทั้งนี้ นพ.วิทิตกล่าวว่า อภ.ได้รับเป็นผู้แทนในการจำหน่ายยาซานามิเวียร์ ให้เฉพาะโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศแต่เพียงผู้เดียว มีผลตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม เป็นต้นไป เนื่องจากยาซานามิเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษเช่นเดียวกับยาโอเซลทามิเวียร์ ส่วนปริมาณการสั่งซื้อยานั้น ต้องมีการพิจารณาอีกครั้งว่า อภ.จะสั่งซื้อในปริมาณเท่าใด แต่เบื้องต้นขณะนี้ประเทศไทยมียาซานามิเวียร์สำรองอยู่แล้ว 20,000 ชุด โดยสำรองไว้ที่กรมควบคุมโรค

นพ.วิทิตกล่าวว่า มีการเบิกจ่ายยาซานามิเวียร์ไปใช้แล้วประมาณ 5 ชุดรักษา จากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่จะยังไม่มีการกระจายยาชนิดนี้ ให้โรงพยาบาลรัฐต่างๆ เพราะยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ โดยจะให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการกระจายยาให้กับโรงพยาบาลรัฐอย่างไร คาดว่าอาจจะมีการกระจายยาไปยังโรงพยาบาลศูนย์แห่งละประมาณ 3-5 ชุด

สำหรับยอดการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ ขณะนี้ได้กระจายไปแล้ว 9 ล้านเม็ด ขณะที่ยังสต๊อคยามีเหลืออยู่ที่ อภ. 6 ล้านเม็ด และกรมควบคุมโรค 6 แสนเม็ด วัตถุดิบพร้อมผลิต 30 ล้านเม็ด ขณะนี้ มีรายงานการใช้ยาจากโรงพยาบาลต่างๆ กลับมาจำนวน 600 แห่ง จาก 1,021 แห่ง ซึ่งกำลังเร่งรวบรวมปริมาณการใช้จริงให้สามารถทราบจำนวนการใช้รายวัน นพ.วิทิตกล่าว

นางนาฎยา ไชยนาเคนทร์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)สุราษฎร์ธานี เขต 1 กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากโรงเรียนมานิตานุเคราะห์ ในสังกัด สพท.สุราษฎร์ธานี เขต 1 ว่า ด.ช.โชติรส รักษาเพชร อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย ด.ช.โชติรสมีโรคประจำตัวเป็นโรคหืด มีน้ำหนักตัว 80 กิโลกรัม และมีเลือดกำเดาออกเป็นประจำ ทั้งนี้ ในส่วนของโรงเรียนมานิตานุเคราะห์ได้สั่งปิดห้องเรียนดังกล่าว และรายงานให้ สพฐ.ทราบแล้ว

ด้าน นพ.วีรศักดิ์ เกียรติผดุงกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ราย รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล โดยรายแรกเป็นหญิงอายุ 32 ปี ตั้งครรภ์ที่สอง ระยะเวลา 27 สัปดาห์ หรือกว่า 6 เดือนครึ่ง และเพื่อความปลอดภัยของแม่และลูก แพทย์สูตินารีเวชกรรม ได้ผ่าตัดนำลูกออกมาได้อย่างปลอดภัย โดยเป็นทารกเพศหญิง น้ำหนัก 1,300 กรัม ซึ่งเราต้องนำเข้าตู้อบดูแลอย่างใกล้ชิด และผลการตรวจทารกเป็นลบ หมายถึงลูกไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดจากแม่ ส่วนอีกรายเป็นหญิงวัย 24 ปี ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ หรือกว่า 8 เดือน อาการทั่วไปไม่น่าเป็นห่วง ผู้ป่วยไม่หอบเหมือนรายอื่นๆ จึงไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนผลตรวจสัญญาณชีพจรของลูกในครรภ์ ยังได้ยินเสียงอยู่ แต่เด็กทารกจะรอดปลอดภัยหรือไม่ ยังไม่สามารถยืนยันได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook