นักวิชาการ และภาคประชาชน เห็นพ้องกันในการปรับปรุงพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยทางรถ ให้รัฐบาลบริหารงานเอง

นักวิชาการ และภาคประชาชน เห็นพ้องกันในการปรับปรุงพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยทางรถ ให้รัฐบาลบริหารงานเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นักวิชาการและภาคประชาชน เห็นพ้องปรับปรุงพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยทางรถให้รัฐบาลบริหารงานเอง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนาเรื่อง ชำแหละพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถ ฉบับนักวิชาการ ปะทะภาคประชาชนว่า ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยทางรถ พ.ศ. 2535 ในประเด็นสำคัญ คือ ต้องไม่มีบริษัทประกันภัยภาคเอกชนมาเป็นผู้บริหารกองทุน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารจัดการกองทุนที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังไม่เห็นประโยชน์ของการมีบริษัทประกัน ที่ใช้เงินต้นทุนไปกับการบริหาร การทำการตลาด สร้างเงื่อนไขกับการจ่ายเงินทดแทนที่ยุ่งยาก ทั้งที่ภาครัฐสามารถจัดการได้เอง โดยใช้กรมขนส่งทางบกและกระทรวงการคลัง เป็นผู้บริหารกองทุน โดยเสนอโครงสร้างใหม่ คือ ค่าเสียหายที่ผู้ประสบภัยมีสิทธิ์ได้รับควรประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ค่าเสียหายกรณีบาดเจ็บ สถานพยาบาล ควรเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยตรงกับกรมบัญชีกลาง ผู้ประสบภัยไม่ต้องทดลองจ่ายเอง และค่าเสียหายที่ผู้ประสบภัยเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ผู้ประสบภัยหรือตัวแทนสามารถติดต่อขอรับได้โดยตรงที่กรมบัญชีกลาง ค่าเสียหายเหล่านี้ผู้ประสบภัยทุกคนมีสิทธิได้รับอย่างเท่าเทียมทันที ไม่ต้องรอพิสูจน์ความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งการจัดการแบบใหม่ จะทำให้ปัญหาการไม่ได้รับค่าเสียหายตามสิทธิที่ควรได้หมดไป และลดภาระกองทุนประกันสุขภาพระบบอื่น รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประสบภัยด้วย ทั้งนี้ กองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถเป็นแบบบังคับ ซึ่งประชาชนไม่มีทางเลี่ยง ไม่ต่างจากการเสียภาษี ดังนั้น ภาครัฐสามารถเป็นผู้จัดเก็บได้เอง เพราะต้องมีการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีอยู่แล้ว โดยอัตราค่าเบี้ยประกันนั้น สามารถคำนวณได้หลายวิธี ทั้งจัดเก็บเท่าเดิมแล้วให้ค่าชดเชยที่มากขึ้น หรือจัดเก็บต่ำกว่าเดิมและให้ค่าชดเชยเท่าปัจจุบัน ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การปฏิรูปพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถ พ.ศ. 2535 จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการบริหารกองทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างร้ายแรง เห็นได้จากเมื่อเทียบกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งต้องดูแลประชาชน 47 ล้านคน แต่มีสัดส่วนของงบประมาณบริหารกองทุนเพียง 800 ล้านบาท ของกองทุนจำนวน 100,000 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับบริษัทประกันภัยพบว่า ใช้งบบริหารสูงกว่าถึง 6 เท่าหรือใช้เงินถึง 4,785 ล้านบาท หรือร้อยละ 47 ซึ่งการบริหารกองทุนที่มีประสิทธิภาพ ควรใช้งบประมาณไม่เกินร้อยละ 3-5 ของเงินกองทุน โดยขณะนี้ทั้งภาคนักวิชาการและภาคประชาชน ต่างเห็นตรงกันว่าควรมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ โดยการยกเลิกกฎหมายเดิม เสนอให้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อจัดตั้งกองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีการกำหนดให้ใช้บริหารกองทุนไม่เกินร้อยละ 5
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook