ทำไมลังเล

ทำไมลังเล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การชะลอการตัดสินคดีนางออง ซาน ซูจี ออกไป คล้ายจะแสดงให้เห็นว่าฮุนตา แคร์ ต่อความคิดเห็นของต่างชาตินั้น นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า มันไม่ใช่หรอก แต่เป็นเพราะต้องการที่จะให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด ขณะยังคงใช้ไม้แข็งกับเธอต่อไปชนิดกัด ไม่ปล่อย

คดีนางซูจีที่ถูกเลื่อนไปตัดสินชี้ขาดในวันที่ 11 ส.ค. นี้ นักวิเคราะห์บอกว่าเป็นสัญญาณว่าอย่างน้อย นายพลอาวุโส ตาน ฉ่วย ซึ่งปกติเป็นจอมดื้อพอจะมองออกว่า หากตัดสินจำคุกเจ้าของรางวัลโนเบลนานหลาย ๆ ปี จะก่อให้เกิดความเป็นเดือดเป็นแค้น และโวยวายจากทั้งในและนอกประเทศมากสักแค่ไหน

แต่การลังเลอย่างเห็นได้ชัดของคณะปกครองทหารก็เพราะ กำลังพยายามที่จะสร้างความสมดุล ในเจตนารมณ์ของตน ที่จะขังซูจีเอาไว้ช่วงที่มีการเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า กับความปรารถนาที่จะแหกตาต่างชาติว่าการดำเนินคดีมีความชอบธรรม

วิน มิน นักวิชาการและนักวิเคราะห์กล่าวว่า ฮุนตาวิตกต่อแรงกดดันจากนานาชาติ และหวั่นความโกรธแค้นภายในประเทศ

นับตั้งแต่ถูกตั้งข้อหาเมื่อกลางเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา การดำเนินคดีที่คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วัน กลับลากยาวมาถึง 2 เดือนครึ่ง โดยศาลเลื่อนแล้วเลื่อนอีก การพิหนึ่งเป็นเพราะคำร้องขอจากทีม ทนายจำเลย จนเมื่อวันศุกร์ที่แล้วก็เลื่อน คำตัดสินไปดื้อ ๆ ด้วยเหตุผลว่า ไม่สามารถบรรลุการตัดสินใจได้ แต่ทนายความของนางซูจีพอใจกับการ (เตะถ่วง) เลื่อน โดยบอกว่าคณะผู้พิพากษามีปัญหาด้านกฎหมายที่ร้ายแรง

วิน มิน บอกว่าความโกรธเคืองภายในประเทศต่อคดีนี้ สร้างความวิตกให้กับเจ้าหน้าที่ ดังจะเห็นได้จากการที่กระบอกเสียงฮุนตาออกมาดักคอ ด้วยการเตือนประชาชนไม่ให้แสดงพลังหรือประท้วงใด ๆ กรณีจำเลยผิดจริง และจากการที่ฮุนตาถูกกล่าวหาว่า พยายามใช้ข้อกล่าวหานางซูจีมาเป็นข้ออ้างที่จะยัดเธอไว้ในห้องขังระหว่างการเลือกตั้งปีหน้า ในขณะที่ประชาคมนานาชาติก็กดดันควบคู่ไปด้วย

นางฮิลลารี คลินตัน รมต.ต่างประเทศสหรัฐเรียกร้องเมื่อเดือนที่แล้ว ให้ปล่อย ตัวซูจีพร้อมทั้งล่อใจอีกต่างหากว่า สหรัฐ อาจเข้าไปลงทุนในพม่า ส่วนนายบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็นที่ (หน้าแตกเพราะ) อด ได้พบกับซูจีช่วงเยือนพม่า ได้หันไปบีบ เอกอัครราชทูตพม่าประจำยูเอ็นที่นิวยอร์ก หนึ่งวันก่อนที่ศาลจะตัดสินคดี ให้ปล่อยซูจี ครั้งสุดท้าย ที่พม่ายอมอ่อนให้กับนานาชาติคือ ปี 2551 ด้วยการยินยอมให้ความช่วยเหลือจากต่างชาติไปถึงผู้ประสบเคราะห์พายุนาร์กีส

จีนมีอิทธิพลที่จะเปลี่ยนความเห็นพม่ามากที่สุดในคดีนางซูจี ซึ่งนักวิเคราะห์หวังว่าจีนจะกดดันฮุนตา แม้ไม่อยากจะทำให้นานาชาติไม่พอใจ แต่เจตนาของฮุนตาที่มีต่อสตรีที่พวกตนสั่งขังมาแล้ว 14 จากทั้งหมด 20 ปี ก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม จาเรด เกนเซอร์ ที่ ปรึกษาด้านกฎหมายระดับนานาชาติของซูจีกล่าวว่า การเลื่อนตัดสินล่าสุดเห็นได้ชัดว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่จะให้คำตัดสิน (แอบ) ออกมาในช่วงที่สงบนิ่งที่สุดในรอบปี คือช่วงกลางเดือน ส.ค. เมื่อเจ้าหน้าที่ของหลาย ๆ รัฐบาลและของยูเอ็นทั่วโลกต่างหยุดพักร้อนประจำปี

แต่ถึงยังไงก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า กลเม็ดของฮุนตาหนนี้จะได้ผลหรือไม่ หรือว่าการรอคอยอย่างคาดหวังจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ช่วงเวลานับถอยหลังก่อนมีคำตัดสินชี้ขาด.

เลนซ์ซูม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook