มาร์คขวางยื่นฎีกา ลั่นไปต่อไม่ได้พร้อมแจงสำนักราชเลขาฯ จตุพรสวนคนไทยไม่โง่ ระดมพลเสื้อแดงวันยื่น

มาร์คขวางยื่นฎีกา ลั่นไปต่อไม่ได้พร้อมแจงสำนักราชเลขาฯ จตุพรสวนคนไทยไม่โง่ ระดมพลเสื้อแดงวันยื่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มาร์คเผย รบ.เตรียมข้อมูลให้ความเห็นฎีกาคนเสื้อแดง หากสำนักราชเลขาธิการถามมา ยันปลายทางไปต่อไม่ได้ พร้อมตรวจคนลงชื่อ จตุพรลั่นคนไทยไม่ใช่ควาย ถูกหลอกง่ายๆ อ้างเป็นสิทธิประชาชน นัดรวมพลใหญ่วันยื่นฎีกาที่สำนักราชเลขาฯ ยอมรับมีกระแสทหารยกปมฎีกาเป็นเงื่อนไขทำปฏิวัติ

รบ.รอให้ความเห็นฎีกาเสื้อแดง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงล่ารายชื่อประชาชนเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผ่านรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ว่า การถวายฎีกามีขั้นตอน โดยหลักคือแม้ทางสำนักราชเลขาธิการรับเรื่องไว้ แต่จะต้องมาถามความเห็นของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้รัฐบาลรวบรวมข้อกฎหมาย หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว ตนรู้ดีว่ายังมีความคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกันอยู่ แต่เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองไม่พึงที่จะให้ไปกระทบกับสถาบัน ซึ่งเป็นที่หลอมรวมจิตใจของคนทั้งประเทศ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องการล่ารายชื่อเพื่อยื่นถวายฎีกา มันคลาดเคลื่อนมาก ไปพูดกันในทำนองว่าช่วยกันเซ็นชื่อ แล้วจะมีการขอพระราชทานอภัยโทษให้อดีตนายกฯ ซึ่งโดยหลักกฎหมายเมื่อคดีถูกตัดสินแล้ว คนคนนั้น ต้องรับโทษ จึงอยากจะขอพึ่งพระบารมีให้พระองค์ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงเมตตาพระราชทานอภัยโทษให้ แต่คนขอต้องเป็นเจ้าตัว หรือครอบครัวผู้ที่เดือดร้อน แต่ขณะนี้ คือเจ้าตัวและครอบครัวไม่ขอ อยู่ดีๆ ไปบอกว่าให้คนอื่นที่ชอบตัวเอง รักตัวเอง มาเข้าชื่อเยอะๆ แล้วขอ ที่สำคัญคือว่าคำที่ขอไม่ได้เป็นการขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เหมือนกับโต้แย้งศาล คล้ายๆ ว่าศาลตัดสินไม่ถูก ซึ่งอันนี้ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์

ย้ำอ่านฎีกาแล้วเรื่องการเมือง

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่ามีสิทธิ โดยอ้างว่ามีประชาชนกว่า 4 ล้านคนสนับสนุน จะได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ศาลตัดสินในพระปรมาภิไธย เป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย มีกระบวนการที่ทุกฝ่ายยอมรับ คงไม่เกี่ยวว่ามีคนมาก หรือมีคนน้อยที่ชอบ หรือไม่ชอบคนที่ถูกตัดสิน

ถ้าทำกันอย่างนี้ เกิดมีคนที่ไม่ชอบ จะขอถวายฎีกาบ้างว่าที่ลงโทษไปนี่ ยังน้อยไป มันไม่ใช่แล้วล่ะ เราต้องไม่ให้มีของแบบนี้ เพราะพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือเรื่องเหล่านี้ แต่ถ้าเจ้าตัวสำนึกผิดแล้วได้รับความเดือดร้อน ครอบครัวเดือดร้อน ยากลำบาก จะขอ ก็ทำตามกฎหมาย หรือถ้าเป็นการร้องทุกข์ตามโบราณราชประเพณี ใครที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงาน หรือเหตุการณ์ต่างๆ บางครั้งก็ถวายฎีกาขึ้นไป แต่ก็เช่นเดียวกันคือต้องเป็นเจ้าตัว นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่า นายกฯบอกว่าการกระทำดัวกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีประเพณีปฏิบัติ และอาจมีเจตนาแอบแฝงทางการเมือง นายกฯกล่าวว่า ผมไม่ได้บอกว่ามีเจตนาแอบแฝง แต่ผมอ่านดูแล้วเป็นเรื่องการเมือง

ยันปลายทางฎีกาไปต่อไม่ได้

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะยับยั้งกระบวนการถวายฎีกาหรือไม่ นอกจากออกมาอธิบายอย่างเดียว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำคือบอกความจริงกับประชาชน ตนก็ให้สัมภาษณ์ กระทรวงยุติธรรมก็แถลงข่าวออกรายการโทรทัศน์ไปว่าประชาชนอย่าไขว้เขว ถูกชักจูงไปว่าต่อไปนี้ถ้าใครลงชื่อกันมากๆ แปลว่าจะทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ได้ ที่สำคัญคือจะก้าวล่วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงอยากให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง

ส่วนการดำเนินการ ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็ทำได้ เพียงแต่ว่าปลายทางอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญพูดมาว่าถ้าเรื่องเข้ามา ผู้รู้ก็เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าไปต่อไม่ได้ มันก็จบกัน ประชาชนก็ต้องเข้าใจตามนี้ แต่ถ้ายื่นมาแล้ว ทางสำนักราชเลขาธิการก็ต้องใช้ดุลพินิจของท่านก่อน นายอภิสิทธิ์กล่าว

รบ.สอบรายชื่อเผื่อถูกหลอก

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ที่กระทรวงมหาดไทยตั้งโต๊ะให้มีคนมาถอนรายชื่อ ถือเป็นผลงานของรัฐบาลหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยอาจมีความวิตกกังวลว่าประชาชนอาจถูกชักจูงไปโดยไม่เข้าใจ ก็เลยเปิดช่องทางไว้ แต่จริงๆ เมื่อยื่นมา ตนคิดว่ารัฐบาลคงต้องตรวจสอบด้วยว่า เป็นใคร อยู่ที่ไหน และแสดงเจตนาอย่างนั้นจริงหรือไม่ คนที่มายื่นเรื่องต้องรับผิดชอบว่าที่มีบุคคลจำนวนมากมายอย่างที่อ้างกันได้แสดงเจตนาตามนี้จริงๆ โดยเข้าใจเนื้อหาก่อนลงนามจริงๆ ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่าเป็นการไปหลอกลวงมา หรือเป็นการมาแจ้งเท็จ ก็ต้องมีการตรวจสอบ

เมื่อถามต่อว่า เมื่อตรวจสอบแล้ว จะดำเนินคดีหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ถ้ามีอะไรที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินคดี

ต่อมา ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่มาร่วมถวายฎีกาว่า ถ้ายื่นจริง เรื่องก็ต้องไปที่สำนักราชเลขาธิการก่อน ปกติถ้าสำนักราชเลขาธิการรับเรื่องไว้ ก็จะมาสอบถามความเห็นจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูความถูกต้องในทุกๆ เรื่อง หากพบสิ่งผิดปกติ ผู้ที่ยื่นเรื่องก็ต้องรับผิดชอบ

จตุพรชี้รบ.ไม่มีหน้าที่สอบรายชื่อ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. สัดส่วน พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวถึงกรณีที่นายกฯสั่งตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่ร่วมถวายฎีกา ว่า อยากถามว่านายกฯ มีหน้าที่อะไรในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะในประวัติศาสตร์ เมื่อประชาชนยื่นถวายฎีกา ก็ไม่เคยมีรัฐบาลไหนเข้ามาก้าวก่ายการใช้สิทธิของประชาชน แต่ขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 เปิดตัวออกมาหมดแล้ว เพื่อขัดขวางการดำเนินการของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งประชาชนได้ เพียง 1 เดือนมีประชาชนมาร่วมลงรายชื่อกว่า 6 ล้านคน หากใช้เวลาอีก 2-3 เดือน คาดว่าจะได้รายชื่อไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายกฯ ระบุว่าผู้ยื่นเรื่องถวายฎีกาต้องรับผิดชอบ หากตรวจพบว่าประชาชนถูกชักจูงให้มาเซ็นชื่อ โดยไม่เข้าใจเนื้อหาในใบฎีกา นายจตุพรกล่าวว่า ประชาชนไม่ใช่ควาย คนที่มาเซ็นชื่อต้องอ่านเนื้อหาในใบฎีกาแล้ว อีกทั้งมีการเขียนชัดเจนในตอนท้ายว่า อ่านรายละเอียดก่อนลงชื่อ ถ้าคนไทยเชื่อในสิ่งที่นายอภิสิทธิ์พูด คงไม่มีคนมาลงชืถึง 6 ล้านคน ภายใน 1 เดือน ซึ่งมากกว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ 4 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ต้องใช้เวลาหาสมาชิกถึง 60 ปี

นัดระดมใหญ่รวมพลเสื้อแดงวันถวายฎีกา

ขณะนี้กลุ่มคนเสื้อแดงกำลังเร่งตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อทั้งหมด โดยทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นจะไปยื่นถวายฎีกาฯ ผ่านสำนักราชเลขาธิการให้เร็วที่สุด นายจตุพรกล่าว

นายจตุพรกล่าวว่า ก่อนถึงวันนั้นจะแจ้งวัน-เวลาที่แน่ชัดให้ทราบ เพื่อเชิญชวนประชาชนให้ออกมาร่วมถวายฎีกา ที่สำนักราชเลขาธิการ ในพระบรมมหาราชวังอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งจะเป็นการแสดงออกอย่างสงบ และขอยืนยันว่าการนัดรวมพลคนเสื้อแดงไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อกดดันสถาบันเบื้องสูง แต่เป็นเพราะที่ผ่านมากลไกของรัฐลงไปกดดันประชาชนในพื้นที่ ไปบีบบังคับให้ถอนรายชื่อ ดังนั้นยิ่งรัฐบาลกดดันมากเท่าไร ประชาชนก็จะลุกขึ้นมาแสดงตัวตนมากเท่านั้น หน้าที่นายกฯในวันนี้คือ การแก้ปัญหาให้ประเทศ ไม่ใช่มาทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน

รับมีกระแสทหารอ้างฎีกาปฏิวัติ

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาในใบฎีกาเป็นการโต้แย้งคำตัดสินของศาล มากกว่าการขอพระราชทานอภัยโทษ นายจตุพรกล่าวว่า พวกที่ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้เป็นพวกหน้ามืดตามัว แกล้งทำเป็นไม่รู้ว่าคนทำสำนวนคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกคือคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เหตุที่คนเสื้อแดงออกมาร่วมลงชื่อกันมาก เพราะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ทำความผิด แต่ถูกกลไกที่ตั้งขึ้นโดยฝ่ายปฏิปักษ์กลั่นแกล้ง วันนี้รัฐบาลต้องรอพระบรมราชวินิจฉัย ไม่ใช่ออกมาขัดขวางประชาชน

นายจตุพรยังกล่าวถึงกรณีที่นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ออกมาวิเคราะห์ว่าทหารอาจใช้เรื่องการถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นข้ออ้างในการปฏิวัติ ว่า มีโอกาสเป็นไปได้ ยอมรับว่า กระแสดังกล่าวมีอยู่จริง เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ไร้ศักยภาพในการควมคุมสถานการณ์ต่างๆ กอปรกับคณะปล้นประชาธิปไตยในอดีตได้แตกคอกันยับเยิน เพราะแบ่งสมบัติกันไม่ลงตัว ทำให้มีกระแสปฏิวัติออกมา อย่างไรก็ตามหากทหารทำเช่นนั้นจริง กลุ่มคนเสื้อแดงจะออกมาต่อต้านอย่างถึงที่สุด

มท.1จี้กำนัน-ผญบ.ป้องสถาบัน

ที่รัฐสภา นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวระหว่างการสัมมนาเรื่อง การเสริมสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แก่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ปกครองท้องที่ โดยกำชับ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ว่า ต้องปฏิบัติตัวตามหลักคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม หลังมีความพยายามของบางกลุ่มที่จะทำให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้งและทวีความรุนแรงไปหลายพื้นที่ หากไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีส่วนสำคัญ เพราะเป็นคนที่ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ เชื่อถือ ศรัทธา

การปกป้องสถาบันสำคัญของชาติเป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้มีความพยายามของกลุ่มคนในการรวบรวมรายชื่อถวายฎีกาฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย จึงอยากให้ทุกคนช่วยอธิบายและทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะผมไม่ต้องการเห็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการสร้างความระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท นายชวรัตน์กล่าว

ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ที่กลุ่มคนเสื้อแดงโจมตีนายเนวิน ชิดชอบ บุตรชายและแกนนำพรรค ภท. ว่าอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวคัดค้านการถวายฎีกาเพื่อต่อรองเรื่องคดีนั้น ตนไม่หนักใจ ยืนยันว่านายเนวินจะยอมรับการตัดสินของศาล

พท.ซัดมท.หน้าแตกตั้งโต๊ะถอนชื่อ

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค พท. แถลงถึงกรณีหลายฝ่ายอาทิ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รัฐบาล กองทัพ และกระทรวงมหาดไทยออกมาคัดค้านการยื่นถวายฎีกา ว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทยปกครองโดยถือเสียงข้างมาก ขณะนี้มีประชาชน 5 ล้านชื่อ ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยพรรค พท.มองว่า เป็นสิทธิประชาชนที่จะร้องทุกข์ได้ และเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 191 แห่งรัฐธรรมนูญ การที่รัฐบาลและชนชั้นนำ เครืออำมาตย์ไม่ควรปิดกั้นช่องทางดังกล่าว เพราะจะสร้างความแตกแยกให้สังคมต่อไป

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคพิจารณาการกระทำของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ให้นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกคำสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ให้ตั้งโต๊ะคัดค้านและถอนรายชื่อประชาชนที่ลงนามถวายฎีกานั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม สร้างความแตกแยกให้ประชาชน และทราบมาว่าทางภาคเหนือและอีสานไม่ร่วมมือ ทำให้กระทรวงมหาดไทยหน้าแตก เพราะคนไทยยังมีสติปัญญา

ยื่นป.ป.ช.สอบชวรัตน์-ปลัดมท.

ผมได้รับแฟกซ์ จาก อ.วังชิ้น จ.แพร่ ที่เป็นเอกสารให้ถอนฎีกา ที่แสดงเจตนารมณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการถวายฎีกาดังกล่าวให้ลงชื่อ 10 รายชื่อ เป็นการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย จึงมองว่านายชวรัตน์และนายวิชัย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 ด้วย โดยพรรคยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)วันที่ 5 สิงหาคม เพื่อกล่าวโทษกับนายชวรัตน์และนายวิชัย เพราะรัฐบาลละเมิดสิทธิประชาชน นายพร้อมพงศ์กล่าว

นายพร้อมพงศ์กล่าวถึงกรณีกองทัพสั่งให้ทหารชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในการถวายฎีกาว่า แสดงว่ากองทัพเริ่มกลัวต่อการรวมพลังของประชาชนกว่า 5 ล้านรายชื่อ กองทัพกลัวอำนาจและพลังของประชาชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวเกิดการเปลี่ยนแปลง

กลุ่มไทยนี้รักสงบ ซัดคนขวาง

วันเดียวกัน นพ.วัลลภ ยังตรง ประธานกลุ่มไทยนี้รักสงบ แถลงว่า กลุ่มไทยนี้รักสงบ เป็นกลุ่มประชาชนที่รวมตัวสร้างความปรองดองสามัคคี โดยกลุ่มไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์คัดค้านการยื่นฎีกาของประชาชน และที่อ้างว่ามาจากทุกสถาบันนั้น เป็นการแอบอ้างหรือไม่ เพราะมีอธิการบดีไม่ถึง 10 คน อย่างไรก็ตาม การถวายฎีกาเป็นสิทธิของประชาชน และเป็นพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ต่อเนื่องมาแต่ปี 2475 รัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา 191 ระบุชัดเจนว่า การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจ ดังนั้น ที่กลุ่มบุคคลคัดค้านการยื่นฎีกาดังกล่าวถือเป็นการละเมิดพระราชอำนาจหรือไม่

ในวันที่ 5 สิงหาคม กลุ่มจะไปยื่นหนังสือถึงนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาว่า การกระทำดังกล่าวนี้ผิดกฎหมาย และจะฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อดำเนินการกับกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งจะแจ้งดำเนินคดีอาญาฐานล่วงละเมิดพระราชอำนาจด้วย นพ.วัลลภกล่าว และว่า เมื่อครั้งวิกฤตตุลาการปี 2535 ก็เคยมีการถวายฎีกาในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งครั้งนั้นเป็นการขอถวายฎีกาโดยกลุ่มประชาชน และเรื่องนี้เป็นการใช้สิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ การสกัดกั้นการถวายฎีกาถือว่าไม่ถูกต้อง

ปชป.ชี้องคมนตรีเป้าหมายของเสื้อแดง

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช โฆษกส่วนตัวหัวหน้าพรรค ปชป. แถลงว่า กรณีกลุ่มคนเสื้อแดงจะยื่นรายชื่อประชาชนเพื่อขออภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่ากลุ่มเสื้อแดงไม่ได้หวังผลสำเร็จ แต่มุ่งเพื่อให้เป็นประเด็นการเมืองในการโจมตีองคมนตรีและประธานองคมนตรี ที่ผ่านมาทุกคนต้องการให้บ้านเมืองสงบ แต่กลุ่มคนเสื้อแดงมุ่งขัดขวางการทำงานของรัฐบาลมาตลอด จึงขอเรียกร้องให้ยุติการเคลื่อนไหวที่จะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง

นายเทพไทกล่าวว่า ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะโฟนอินในวันที่ 3 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันเกิดนายอภิสิทธิ์ และจะพูดถึงตัวนายกฯนั้น เป็นพฤติกรรมปกติของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่นายกฯให้ความสำคัญกับทุกวัน ไม่ใช้โอกาสวันเกิด ให้สมาชิกพรรคหรือใครๆ จัดงานสดุดีหรือให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ส่วนที่กลุ่มเสื้อแดงจะนัดกันใส่เสื้อดำในวันเกิดนายกฯนั้นก็เป็นสิทธิ แต่สังคมรู้และเห็นถึงพฤติกรรมที่ย้ำความแตกแยก ที่ พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่า จะกลับประเทศไทยภายใน 6 เดือนนั้น ตนคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณกลับวันนี้เลยก็ได้ และมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ประธานวุฒิฯหวั่น2ฝ่ายก่อเหตุ

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มคนตั้งโต๊ะเพื่อคัดค้านไม่ให้กลุ่มเสื้อแดงยื่นถวายฎีกาขออภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณว่า เป็นธรรมดาที่มีกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการยื่นถวายฎีกาก็สามารถออกมาตั้งโต๊ะคัดค้านได้ ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะทำ ผู้ที่ยื่นถวายฎีกาก็คิดว่าทำได้ คนที่มาคัดค้านก็เห็นว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกันก็อาจจะเกิดความวุ่นวายตามมาได้ อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะปกครองให้ประชาชนอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

เมื่อถามว่า กลุ่มเสื้อแดงทราบขั้นตอนการยื่นฎีกาว่าทำไม่ได้ แต่ก็ทำ เป็นการสร้างเงื่อนไขกดดันรัฐบาลหรือไม่ นายประสพสุขกล่าวว่า อยู่ที่รัฐบาลว่าจะปกครองประเทศให้สงบเรียบร้อยหรือไม่ ถ้าใครทำผิดกฎหมายก็ต้องลงโทษ ถ้ามีการชุมนุมก็ให้ชุมนุมอยู่ในกรอบและสงบ ไม่สร้างความวุ่นวาย แค่นี้รัฐบาลก็อยู่ได้ยาว 2-3 ปี ก็อยู่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลปกครองประเทศไม่สงบ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ส่วนจะมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้นานนั้น รัฐบาลจะต้องควบคุมให้ผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ให้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ก็จะอยู่ได้

ส.ว.ย้ำหวังกดดันสถาบัน

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงประกาศตัวเลขผู้ร่วมลงนามถวายฎีกามีมากถึง 4-5 ล้านรายชื่อ ว่า เท่าที่รู้มามีแค่ 1 ล้านคนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขไม่ใช่สิ่งสำคัญ และไม่ใช่เงื่อนไข คนเดียวก็ยื่นถวายฎีกาได้ แต่ที่กลุ่มเสื้อแดงกระทำการครั้งนี้ ทั้งที่รู้ว่าทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย และผิดราชประเพณี เพราะต้องการสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองของกลุ่มคนจงรักภักดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อกดดันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ ยังบั่นทอนรัฐบาลโดยสร้างสถานการณ์ให้บ้านเมืองสับสนวุ่นวาย ทำให้เกิดความร้าวฉานในประเทศ โดยแยกประชาชนเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่รักในหลวงกับฝ่ายที่รัก พ.ต.ท.ทักษิณ นายประสารกล่าว

บรรณวิทย์อัดรบ.ปล่อยสู้กัน

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มเสื้อแดงจะยื่นถวายฎีกา ว่า เรื่องนี้ต้องการทำให้เป็นเรื่องการเมือง เพราะการถวายฎีกาต้องรับโทษก่อนถึงจะถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยต้องผ่านกระทรวงยุติธรรม ขอตำหนิพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลแต่ไม่ได้เดินหน้าเต็มสูบในการแก้ปัญหา ปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินอยู่ตลอด ทำไมถึงไม่ตัดสัญญาณโทรศัพท์ที่ง่ายเหมือนการปอกกล้วยเข้าปาก แต่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย เป็นหมากที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนแบ่งเป็น 2-3 ฝ่ายให้สู้กันเองหรือไม่

การถวายฎีกา รู้ว่าผิดขั้นตอนก็ยังปล่อยให้ทำกัน ฝ่ายที่ออกมาต่อต้าน กับฝ่ายเรียกร้องกำลังทำอะไรอยู่หรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ต้องการจะบริหารงานการปกครองอย่างง่ายหรือไม่ โดยให้มีเหตุอยู่ตลอดเวลา พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook