เทคโนโลยีสุญญากาศเพื่ออุตสาหกรรมไทย

เทคโนโลยีสุญญากาศเพื่ออุตสาหกรรมไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในภาคอุตสาหกรรม ระบบสุญญากาศ เป็นอีกหนึ่งระบบที่สำคัญในภาคผลิต ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่นำเข้าอุปกรณ์มาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียดุลทางการค้า และเสียโอกาสทางการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงพัฒนา เทคโนโลยีสุญญากาศเพื่ออุตสาหกรรม ขึ้นที่ห้องปฏิบัติการแสงสยาม จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสใช้ผลงานของคนไทยในราคาต่ำกว่า 50% แต่คุณ ภาพเทียบเท่ากับของนำเข้าจากต่างประเทศ

ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล หัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า สถาบันฯ มีภารกิจหลักในการติดตั้งและพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงสยาม (Siam Photon Light Source) เพื่อให้บริการแสงซินโครตรอนกับนักวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศ จากการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสุญกาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตแสงซินโครตรอนจากประเทศญี่ปุ่น นักวิจัยและวิศวกรของสถาบันได้ร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด... สถาบันได้พัฒนาขีดความสามารถในเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูง โดยสามารถผลิตชิ้นส่วนสุญญากาศความดันต่ำระดับ 10x10-10 ทอร์ (torr) ซึ่งเป็นค่าความดันอากาศที่ต่ำที่สุดที่สามารถทำได้ในประเทศไทยในขณะนี้ รวมถึงสามารถผลิตชิ้นส่วนเชิงกลความแม่นยำสูง ในระดับต่ำกว่าไมโครเมตร และประสบความสำเร็จในการจัดสร้างต้นแบบปั๊มสุญญากาศแบบสปัตเตอร์ไอออน ขึ้นในประเทศไทย อีกด้วย

จากผลงานการวิจัยดังกล่าว ดร.ประยูร บอกว่า สามารถนำมาให้บริการกับภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ผู้ผลิตผงแม่เหล็ก และผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงห้องปฏิบัติการวิจัยของสถาบันต่าง ลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ โดยสถาบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้สามารถผลิตชิ้นงานได้ตามรูปแบบงานวิจัยที่ต้องการในคุณภาพที่เทียบเท่าต่างประเทศ แต่ราคาที่ถูกกว่าถึง 50%

นอกจากนี้ ยังให้บริการตรวจสอบชิ้นส่วนสุญญากาศ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษาจำนวนมาก รวมถึงไม่ต้องจ้างบุคลากรจากภายนอกประเทศเข้ามาซ่อมแซมระบบอีกด้วย

การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับการประยุกต์ใช้ความรู้ขั้นสูง ที่ไม่จำกัดไว้แค่วงการวิจัย แต่ยังเอื้อประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรม ลดการนำเข้าอีกด้วย!!!

นาตยา คชินทร

nattayap@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook