สื่อนอกชี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินโดนีเซีย น้อยกว่าความเป็นจริง

สื่อนอกชี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินโดนีเซีย น้อยกว่าความเป็นจริง

สื่อนอกชี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินโดนีเซีย น้อยกว่าความเป็นจริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การสำรวจข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า มีชาวอินโดนีเซียกว่า 2,200 ราย ที่เสียชีวิตด้วยอาการของโรคโควิด-19 แต่ไม่ได้รับการตรวจและไม่ถูกบันทึกว่าเป็นผู้ป่วยโรคดังกล่าว

ข้อมูลดังกล่าวมาจากการตรวจสอบในพื้นที่ 16 จังหวัดจากทั้งหมด 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ระบุว่า ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมดทั่วประเทศมีแนวโน้มว่าจะสูงกว่าตัวเลขของทางการอยู่มาก ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดจากทางการอินโดนีเซียอยู่ที่ 773 ราย  

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการตรวจหาเชื้อต่ำที่สุดในโลก นักระบาดวิทยาบางส่วนบอกว่านี่ทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นที่จะได้ภาพที่ถูกต้องถึงขอบเขตการติดเชื้อในอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับที่ 4 ของโลก โดยข้อมูลล่าสุดจาก 16 จังหวัดแสดงให้เห็นว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิต 2,212 ราย เนื่องจากมีอาการเหมือนติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างรุนแรง แต่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียใช้ตัวย่อ PDP จัดประเภทผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อไม่มีคำอธิบายทางคลินิกอื่นๆ ต่ออาการของพวกเขา  

รายงานระบุว่า ข้อมูลนี้ถูกรวบรวมและเปรียบเทียบเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์โดยหน่วยงานระดับจังหวัด ซึ่งได้ตัวเลขจากโรงพยาบาล คลินิกและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องการฝังศพ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ข้อมูลมาด้วยการตรวจสอบจากเว็บไซต์ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและพิจารณาจากรายงานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิต 2,212 ราย ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในพื้นที่ 16 จังหวัดนี้ของทางการอยู่ที่ 693 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิตที่มีผลตรวจพบเชื้อและถูกบันทึกอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19  ซึ่งประชากรในพื้นที่ 16 จังหวัดคิดเป็นกว่า 3 ใน 4 ของประชากร 260 ล้านคนทั่วอินโดนีเซีย 

วิกู อดิซาสมิโต เจ้าหน้าที่อาวุโสของหน่วยงานควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของอินโดนีเซียไม่ได้โต้แย้งรายงานของรอยเตอร์ แต่ปฏิเสธให้ความเห็นถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เชื่อว่ามีอยู่ในหมู่ผู้ป่วย PDP โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสรายนี้ระบุว่า มีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสมากถึง 19,897 ราย ในอินโดนีเซีย แต่จำนวนมากก็ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ เนื่องจากมีตัวอย่างที่เข้าคิวรอตรวจจำนวนมากที่ห้องปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ นายอดิซาสมิโตระบุว่ามีบางคนที่เสียชีวิตไปก่อนที่ตัวอย่างจะได้รับการตรวจ ดังนั้นในกรณีที่ทรัพยากรจำกัดแบบนี้ก็จำเป็นต้องตรวจคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก่อน 

ตามแนวปฏิบัติรับมือโควิด-19 ล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ผู้ป่วยที่ถูกจัดอยู่ในประเภท PDP คือผู้ป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจเฉียบพลัน ซึ่งไม่มีคำอธิบายอื่นๆ นอกเหนือจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่ม PDP จะต้องเดินทางไปประเทศหรือพื้นที่ใดๆ ของอินโดนีเซียที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใน 14 วันก่อนล้มป่วย ซึ่ง 'ปันดู ริโอโน' ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียเชื่อว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วย PDP ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโควิด-19 อ้างอิงจากอาการติดเชื้อของคนเหล่านี้และไม่มีการระบุถึงสาเหตุอื่นๆ 

เมื่อช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. มีเจ้าหน้าที่อาวุโสจำนวนหนึ่งของรัฐบาลอินโดนีเซียดูเบาความเสี่ยงของโรคนี้ บางคนแนะนำว่าการสวดมนต์ การรักษาด้วยสมุนไพรและอากาศร้อนจะช่วยขจัดไวรัส ซึ่งจากข้อมูลของรอยเตอร์ชี้ว่า จนถึงตอนนี้จำนวนผู้เสียชีวิตในอินโดนีเซียถือว่ามากที่สุดอันดับ 2 ในเอเชียรองจากจีน โดยตัวเลขของทางการอินโดนีเซียระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่ที่ 9,511 ราย ขณะที่อัตราส่วนการตรวจหาเชื้ออยู่ที่ 291 ต่อประชากร 1 ล้านคน น้อยกว่าอัตราส่วนการตรวจหาเชื้อของออสเตรเลียและเวียดนามอยู่ประมาณ 100 เท่าและ 10 เท่าตามลำดับ โดยนักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้นมากกว่าข้อมูลที่ถูกรายงานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากจำนวนการตรวจหาเชื้อยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร  

รัฐบาลประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ถูกวิจารณ์จากนักกิจกรรมและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถึงการขาดความโปร่งใสในการจัดการวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลระบุว่าได้ดำเนินมาตรการที่เหมาะสม แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมาประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า มีข้อมูลบางอย่างที่ถูกระงับเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อป้องกันความตื่นตระหนก ก่อนที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้นำอินโดนีเซียจะเยว่า ได้สั่งให้คณะรัฐมนตรีรายงานข้อมูลโควิด-19 ตามความจริง ซึ่งประธานสมาคมแพทย์อินโดนีเซียได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยจำนวนผู้ต้องสงสัยป่วยโควิด-19 ที่เสียชีวิตทั่วประเทศโดยที่ไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ สอดคล้องกับผู้แทนองค์การอนามัยโลกในอินโนีเซียที่ชี้ว่า ควรเปิดเผยจำนวนผู้เสียชีวิตที่ต้องสงสัยว่ามาจากการติดเชื้อไวรัสนี้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook