นักสำรวจน้อย ดูแมลงเกาะช้าง

นักสำรวจน้อย ดูแมลงเกาะช้าง

นักสำรวจน้อย ดูแมลงเกาะช้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สดจากเยาวชน

ภัทรภร ยอดนครจง

โลกแมลงไม่ได้เล็กตามขนาดตัว แต่กลับยิ่งใหญ่และมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ

น้อง ดล น้องแดน สังวรเวชภัณฑ์ พ่อ แม่ และน้าเกรียง เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ นักดูนกและแมลงชื่อดัง ออกเดินทางไปสำรวจแมลงที่เกาะช้าง จ.ตราด บริเวณริมลำธารติดเชิงเขาแถบบ้านคลองสน เพื่อช่วยน้าเกรียงเก็บตัวอย่างแมลงและสำรวจชนิดแมลงบนเกาะช้าง

ริมลำธารในป่าใกล้ที่พักจัดสรรไว้สำหรับสำรวจแมลงในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนพวกเขาปักหลักกันที่บ้านพัก เปิดไฟแบล็กไลต์ หรือไฟสีม่วง เพื่อล่อแมลงกลางคืนให้มาเล่นไฟ เพื่อง่ายต่อการสำรวจ ถ่ายภาพ จำแนกชนิด เพื่อเก็บตัวอย่างชนิดของแมลง เป็นการอ้างอิงได้ว่าบนเกาะช้างสำรวจพบแมลงชนิดใดบ้าง บางชนิดอาจสำคัญ เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้

การสำรวจแมลงของเด็กๆ เริ่มต้นอย่างจริงจังในเวลาค่ำคืนที่แมลงกลางคืนกลับตื่นขึ้นและเริ่มออกหากิน

น้องแดนเล่ากิจกรรมสำรวจแมลงของเด็กๆ ในเวลาค่ำคืนนี้ว่า

"เรามาทำไลต์แทร็ปครับ หน้าร้อนที่แล้วแมลงส่วนใหญ่ที่เจอเป็นด้วง ผีเสื้อกลางคืน แดนชอบด้วงคีมมันเท่ แมลงจะมาเกาะที่ผืนผ้า แมลงชอบไฟครับ"

การทำไลต์แทร็ปคือการสำรวจแมลงในเวลากลางคืน โดยใช้แสงไฟแบล็กไลต์ (Black Light) หรือลำแสงเหนือม่วงล่อแมลง

แสงไฟแบล็กไลต์ เป็นแสงที่มีคลื่นความถี่ต่ำ เป็นแสงอัลตราไวโอเลตที่แมลงสามารถมองเห็นสีนี้ได้ แมลงหากินตอนกลางคืนได้ก็เพราะแสงที่มีความถี่ต่ำแบบนี้ เช่น แสงจันทร์ แสงดาว ตอนกลางคืนแมลงมองไม่เห็นแต่เรามองเห็น แบล็กไลต์จะดึงดูดแมลงได้ดีกว่าแสงขาวธรรมดา

น้าเกรียง ครูผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงของเด็กๆ เล่าความสนใจของสองพี่น้องดลแดนที่มีต่อแมลงและธรรมชาติรอบตัวว่า

"เด็กๆ สนใจเรื่องแมลงกันอยู่แล้ว อยากจับ อยากสัมผัส แต่สำหรับดลและแดนก้าวข้ามขั้นนั้นมาไกลแล้ว ดลกับแดนต้องรู้จักชื่อ ชนิด สีของแมลงบ่งบอกอะไร รูปร่างหน้าตาของแมลงที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่า ดูพฤติกรรมของสัตว์ที่เราเจอ ถ้าเด็กๆ มีสมาธิสนใจดีๆ ก็จะเป็นเรื่องสนุก

ดลกับแดนช่วยผมเก็บตัวอย่าง ผมตามถ่ายรูปแมลงทั้งหมดคนเดียวได้ไม่หมด ทั้งสองคนมีความสนใจแตกต่างกันออกไป เสร็จแล้วเราจะนำข้อมูลมารวมกัน แล้วจำแนกแมลงชนิดต่างๆ การที่เด็กๆ สนใจเรื่องแมลงในระบบนิเวศ จะทำให้เขาขยับจากการดูพฤติกรรมของแมลงไปสู่สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวต่อไป"

แมลงที่สำรวจในแต่ละฤดูกาลมีจำนวนและชนิดแตกต่างกันมากหรือไม่ หากเปรียบเทียบเมื่อครั้งที่เด็กๆ เข้ามาสำรวจแมลงบนเกาะช้างในฤดูร้อนที่ผ่านมา น้องดลเล่าว่า "ฤดูร้อนเราเจอด้วงเยอะครับ แต่ครั้งนี้ฤดูฝนเราเจอตั๊กแตนกับผีเสื้อเยอะครับ อาจเป็นเพราะฤดูกาลไม่เหมือนกัน เป็นความหลากหลายที่สัตว์และแมลงเปลี่ยน แปลงไป แมลงมีหลายชนิดแปลกๆ ที่หายากดลอยากเจอ มีแมลงเยอะๆ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของเกาะช้างครับ"

ถ่ายภาพเก็บไว้สะดวกในการเก็บข้อมูล

น้าเกรียงเล่าเสริมเรื่องนี้ว่า "แมลงที่พบในฤดูร้อนจะมีน้อยกว่าแมลงที่พบในฤดูฝน เพราะฤดูฝนเป็นช่วงที่มีอาหารเยอะ ส่วนช่วงหน้าแล้ง ต้นไม้ สัตว์ ทุกอย่างหยุดพัก เมื่อหน้าฝนมาถึงทุกอย่างชุ่มชื้น ต้นไม้ใบหญ้างอกงาม เป็นอาหารให้แก่สัตว์และแมลง"

เด็กๆ ได้ทำไลต์แทร็ปในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันเดินออกสำรวจแมลงริมลำธาร ทั้งสองช่วงเวลาทำให้เด็กๆ หัดเป็นนักสังเกต

"ขึงผ้าแบบนี้แล้วแมลงจะมาเกาะเอง แล้วก็ถ่ายรูป นำไปเปรียบเทียบกับหนังสือ ส่วนใหญ่ที่พบเป็นแมลงที่มีอยู่ทั่วไป ถ้าตัวไหนไม่แน่ใจก็ดูจากคู่มือครับ หรือไม่ก็ถามน้าเกรียง ดลมาเกาะช้างสี่ครั้งแล้วครับ แต่การดูแมลงแบบนี้ดลมาเป็นครั้งที่สองครับ ดลสนใจด้วง คืนนี้อยากเจอด้วงกว่างสามเขาคอเคซัสหรือด้วงกว่างสามเขาจันทร์ และอยากเจอด้วงคีมอะไรก็ได้ตัวใหญ่ๆ"

รุ่งขึ้นภาพจากกล้อง และตัวจริงของแมลงบางชนิดที่ยังไม่ไปไหน ได้รับการพิสูจน์จากนักสำรวจธรรมชาติตัวน้อย ดล แดน น้าเกรียง เปิดหนังสืออ้างอิง ควบคู่กับการดูรายละเอียดภาพที่แต่ละคนบันทึกและถ่ายภาพไว้

"เวลาแยกชนิดของแมลง เราถ่ายรูปไว้ก่อน แล้วค่อยเอามาจำแนก ทำไลต์แทร็ปทิ้งไว้ตลอดคืน ตื่นเช้าก็มาดูแมลงว่ามีตัวไหนติดมาบ้าง เช้านี้เราเจอตั๊กแตนใบโศกตัวใหญ่มากครับ สีสวยด้วย ดลไม่เคยเจอตัวใหญ่ขนาดนี้ ถ้ารวมแมลงที่มาเกาะรวมตัวเล็กๆ ด้วยก็น่าจะสองร้อยชนิดครับ"

นอกจากตั๊กแตนใบโศกแล้ว เด็กๆ ยังได้พบกับผีเสื้อกลางคืน หรือในทางอนุกรมวิธาน เรียกผีเสื้อกลางคืนนี้ว่า มอธ (MOTH) มอธที่พบ อาทิ มอธทองเฉียงพร้า มอธชีแต้มจุดเดียว มอธท้องแดง

ส่วนแมลงชนิดอื่นก็พบเช่นกัน เช่น แมงจินูน ด้วงแรด ด้วงคีมยีราฟ แมลงช้างปีกแข็ง ตั๊กแตนหนวดยาวเขียวใหญ่ ด้วงคีมสองแถบขาแดง

ทั้งหมดทำให้เด็กๆ ตื่นเต้น ในสมุดบันทึกของเด็กๆ จึงเต็มไปด้วยข้อความและภาพวาดที่บอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขาสนใจ

ช่วงเวลากลางวัน เด็กๆ ยังได้พบเรื่องตื่นเต้น พวกเขาพบด้วงเสือชนิดหกจุด เบ้าขี้ช้างก้อนกลมเล็ก แมงมุมนุ่งซิ่น แมงมุมใยทอง แมลงปอเข็ม หางติ่งนางละเวง ยุงยักษ์หรือริ้นเลียนยุง และยังได้พบกับช่วงเวลาที่หาดูยาก นั่นคือการวางไข่ผสมพันธุ์ของแมลงปอที่ริมลำธาร

เด็กๆ ไม่เพียงแต่ได้เรียนรู้โลกของแมลงตัวจิ๋ว แต่พวกเขายังสามารถเชื่อมโยงเรื่องที่สนใจไปสู่สิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง สัมพันธ์กัน จากแมลงหนึ่งชนิด ไปสู่แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยของแมลง แล้วจะพบว่าทุกสิ่งในธรรมชาติล้วนเอื้ออาทรกัน

ร่วมสำรวจโลกแมลง ตัวจิ๋วที่ยิ่งใหญ่ พร้อมๆ กับนักสำรวจธรรมชาติรุ่นเยาว์ ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอนแมลงเกาะช้าง เสาร์ที่ 1 ส.ค. เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 www.payai.com

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook