ธนาธร เปิดใจหลังระดมวิศวกร-เอกชน ผลิตอุปกรณ์แพทย์ส่งทั่วประเทศ ลุยสู้ไวรัสโคโรนา

ธนาธร เปิดใจหลังระดมวิศวกร-เอกชน ผลิตอุปกรณ์แพทย์ส่งทั่วประเทศ ลุยสู้ไวรัสโคโรนา

ธนาธร เปิดใจหลังระดมวิศวกร-เอกชน ผลิตอุปกรณ์แพทย์ส่งทั่วประเทศ ลุยสู้ไวรัสโคโรนา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายการโหนกระแสวันที่ 23 เม.ย. "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เปิดใจสัมภาษณ์ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" แกนนำคณะก้าวหน้า กรณีออกมาประกาศพร้อมสู้ศึกโควิด-19 ทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยโรงพยาบาล หลายคนวิจารณ์ว่าใช้ได้จริงหรือเปล่า

หายไป กลับมาพร้อมอุปกรณ์?

"จริงๆ ก็ได้มีการเตรียมการเรื่องนี้ล่วงหน้ามาประมาณเดือนนึงแล้ว ต้องบอกว่าช่วงที่ผ่านมาจริงๆ ไม่ได้หายไปไหน เราทำงานไม่ได้ออกสื่อเยอะนัก ช่วงมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ก็มีอีกหนึ่งสถานการณ์ที่ทำให้คนเดือดร้อนไม่แพ้กัน คือฝุ่นพิษภาคเหนือตอนบน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง น่าน ค่ามลพิษกลางอากาศพุ่งสูงถึง 300-400 เป็นอันดับหนึ่งของโลก

เราเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราไปผลิตเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งผลิตแจกให้ครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ขณะเดียวกันก็เริ่มดำเนินการการผลิตเตียงขนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาพร้อมๆ กันกับการแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส ไม่ได้หายไปไหนนะ"

 

ตัวนี้ช่วยยังไง ไปกรองฝุ่นหรือช่วยยังไง?

"ต้องบอกว่าเครื่องตัวนี้เป็นการเอาอุปกรณ์ที่มีอยู่ตามห้างร้าน ตามตลาดทั่วไป เอามาประกอบกันแล้วแจกจ่ายให้ครัวเรือนที่สมาชิกในครอบครัวมีปัญหา ไม่ได้มีกลไกอะไรยาก ตัวนี้สามารถใช้ได้ในห้องสัก 40 ตารางเมตรบวกลบ ใช้เครื่องตัวนี้ได้"

 

เป็นเครื่องกรองอากาศเลย?

"เป็นเครื่องกรองอากาศเลย จะเห็นว่าไม่มีกรอบสวยงาม ไม่มีตราสินค้า เป็นอุปกรณ์ที่เราซื้อมาไม่ถึง 2 พัน ทางทีมงานคณะก้าวหน้าและบริษัทเอกชนที่เราร่วมมือด้วย ประกอบและติดตั้งให้ฟรี ที่เพิ่มมาคือตัวเสาให้แข็งแรง"

 

เพราะอะไร?

"อย่าลืมนะครับ ปัญหาฝุ่นควันพิษในภาคเหนือไม่ได้เกิดปีนี้ปีแรก เกิดมาหลายปีแล้ว แต่ละปีมีแนวโน้มแย่ลงด้วย ดังนั้นเครื่องนี้เราตั้งเป้าให้อยู่นาน เลยออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรง ซึ่งถ้าใช้ไปนานๆ เริ่มติดขัดก็เปลี่ยนแค่ฟีลเตอร์"

 

แจกไปเยอะมั้ย?

"ต้องบอกว่าเราไม่ใช่ภาครัฐ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจในภาคเหนือตอนบนทั้งหมดมี 2 หมื่นราย ที่เช็กจาก อสม. ทำให้ 20,000 รายคงไม่ไหว เราเลยตั้งเป้าทำ 2,000 เครื่อง คิดเป็น 10% ของคนที่เป็นโรคทางเดินหายใจ ตรงนี้จะทำแจก ซึ่งอุปกรณ์พวกนี้ทางคณะก้าวหน้าเป็นคนออกเงินซื้อให้ การประกอบ ขนส่ง อาสาสมัครทั้งนั้น ไม่มีใครคิดเงิน คนเอาไปแจกจ่าย เราไปจุดที่เป็นหน่วยของเรา เอาไปส่งให้ครัวเรือนที่เดือดร้อน ตัวนี้มีความจำเป็นถึง 20,000 เครื่อง ตอนนี้ได้ 2,000 ก่อน"

 

ที่เหลือล่ะครับ?

"กำลังจะบอกว่าถ้ามีพี่น้องประชาชนมีความสนใจอยากช่วยคนเดือดร้อน กับปัญหาฝุ่นพิษ สามารถบริจาคมาให้เราได้ เราก็จะทำตัวนี้เพิ่ม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ไม่คิดผลกำไร ที่สำคัญ 20,000 คนที่พูดถึงยังไม่ใช่ทั้งหมด ยังไม่นับรวมสตรีมีครรภ์ เยาวชน เดี๋ยวโควิดหยุดแพร่ระบาด ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนต้องเปิด ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นทุกปี ปีแล้วปีเล่า มีความต้องการมากกว่านั้น" 

 

ติดต่อไปที่ไหน?

"เพื่อไม่ให้เสียเวลา ติดต่อมาที่เฟซบุ๊กคณะก้าวหน้า หรือเฟซบุ๊กส่วนตัวธนาธรก็ได้ ถ้าท่านใดอยากบริจาค หรือผ่านมูลนิธิกระจกเงา ก็ใส่ 1 สตางค์หรือ .01 บาท จะได้รู้ว่ามาเพื่อจัดทำเครื่องตัวนี้ เราจะได้รู้ว่ายอดนี้ก็เพื่อเครื่องตัวนี้" 

 

ตอนนี้เรื่องโควิด-19 คุณธนาธรออกมาทำสองตัว ตัวนึงเป็นเหมือนห้องความดันลบ?

"เป็นเตียงขนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ อีกตัวเป็นโมดูลาร์คลินิก เป็นคลินิกเคลื่อนที่ ส่วนใหญ่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการกับเรา จะเอาไปตั้งกลางแจ้ง เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยติดเชื้อหรือผู้มีความเสี่ยงเข้าไปตึกใหญ่ แยกตึกนี้ออกมา มันก็จะมีลักษณะคล้ายๆ คอนเทนเนอร์ โดยหนึ่งคู่มาตรฐานมี 2 ห้อง ห้องคนไข้ ห้องผู้ป่วยมารับการรักษา กับห้องบุคลากรทางการแพทย์ ห้องหมอพยาบาล ซึ่งเป็นห้องแรงดันบวก ส่วนห้องผู้ติดป่วย ห้องผู้ติดเชื้อเป็นห้องแรงดันลบ

หลักการทำงานง่ายๆ ลองนึกดู สมมติมีห้องสองห้องติดกัน ปิดประตู ห้องนึงมีอากาศอัดอยู่เต็มเลย อีกห้องนึงไม่มีอากาศ พอเปิดประตูให้เชื่อมต่อกันสองห้องจะเกิดอะไรขึ้น อากาศจากห้องที่มีอากาศเยอะ จะไหลไปห้องที่มีอากาศน้อย ดังนั้นนี่คือหลักการง่ายๆ พื้นฐาน บุคลากรทางการแพทย์จะอยู่ห้องที่เป็นแรงบวก มีแรงดันเยอะ อีกห้องเราดูดอากาศออกตลอดเวลา เป็นห้องแรงดันลบ พอเปิดประตูให้มันติดกัน อากาศจะไหลจากห้องแรงดันบวกไปสู่แรงดันลบตลอดเวลา

คนไข้ที่เข้าไปรักษาในห้องแรงดันลบ อากาศที่หายใจออกมาก็ไม่มีโอกาสหลุดผ่านไปห้องคุณหมอ ห้องบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากจะทำให้ผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาลมีความปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดโคโรโนาไวรัสแล้ว ที่สำคัญยังทำให้บุคลากรทางการแพทย์ มีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย คนเป็นแถวหน้าหยุดยั้งการแพร่ระบาดทุกวันนี้ คือบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อเขาเหล่านี้เข้าไปดูแลผู้ปวยผู้เสี่ยงก็มีโอกาสติดเชื้อกลับไปที่บ้าน กลับไปหาครอบครัว กลับไปหาคนที่พวกเขารัก เขาต้องมานั่งคิดว่าวันนี้เอาไวรัสกลับบ้านไปกี่ตัว

ดังนั้นถ้าสภาพการทำงานเป็นแบบนี้ ใครจะกล้าทุ่มเท มีประสิทธิภาพ ครั้นจะให้ใส่ชุด PPE ตลอดเวลา เราเห็นรูปกันแล้วพอถอดออกมาเหงื่อเต็มเลย การทำงานชุดที่มีลักษณะแบบนั้น ทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ ทำงานไม่มีความคล่องตัว ดังนั้นเราก็ต้องบอกว่าขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นหน้าด่านในการต่อสู้ให้พวกเรามีความสำคัญ ถ้าได้ใช้เครื่องนี้ไปไป เขาก็ไม่ต้องใส่ชุด PPE ในการทำงาน เขาก็มั่นใจว่าการทำงานเขาปลอดภัย ดังนั้นขวัญและกำลังใจในการทำงานก็จะมากขึ้น การทำงานก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

มีประเด็นดราม่าเกิดขึ้น พอออกมาประกาศพร้อมสู้ศึกโควิด มีคนบอกห้องนี้ใช้ไม่ได้ มีประเด็นเรื่องประตูเปิดเข้าเปิดออก รวมถึงรูที่อยู่ด้านล่าง แบบนี้จะเป็นห้องความดันลบได้ยังไง ฟังแล้วเป็นยังไง?

"รู้สึกตลกครับ (หัวเราะ) คนที่พูดไม่มีความเข้าใจด้านวิศวกรรม มีความรู้ไม่เพียงพอ เป็นที่น่าเสียดายที่ความหวังดีของเราถูกเอามาทำร้ายทางการเมือง ถ้าไปดูกลุ่มคนที่ปล่อยข่าวก็เป็นเพจที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านธนาธรทั้งนั้น ตั้งขึ้นมาเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมือง

แต่ไม่เป็นไร เรามาพูดหลักการดีกว่า ประตูสองด้านกลับกัน เอาห้องแรงดันบวกแล้วกัน ที่คุณหมอต้องอยู่ อัดอากาศเข้าไป ห้องแรงดันบวกกับห้องแรงดันลบ ระหว่างหมอกับคนไข้จะมีแผ่นอะคริลิกกั้นตรงกลาง มีรูให้ยื่นมือออกไปตรวจ แรงดันอากาศจากห้องแรงดันบวกจะเยอะกว่า จะไหลออกไปทางโน้นตลอดเวลา ดังนั้นพอบุคลากรทางการแพทย์ยื่นมือเข้าไป ก็ต้องใส่ถุงมือเข้าไปตรวจ

ฉะนั้นมีช่องก็ไม่ได้ทำให้อากาศไหลกลับเข้ามา ต้องไหลไปทางลบอยู่แล้ว สองเรื่องประตู ต้องบอกก่อนว่าเวลาเราทำงาน มี 12 โรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการกับเรา เราพยายามเอาความต้องการของโรงพยาบาลเป็นตัวตั้ง เอาความต้องการหมอเป็นตัวตั้งและปรับแก้แบบให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงพยาบาลมากที่สุดเพื่อให้ผู้ใช้ ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ดังนั้นเรื่องประตู ต่อให้เป็นห้องแรงดันบวกเหมือนกัน บางโรงพยาบาลก็เลือกเปิดเข้า บางโรงพยาบาล เลือกเปิดออก แต่หลักการเป็นอย่างนี้ ถ้าเปิดออกจะเปิดง่าย ถ้าเปิดเข้าต้องดึงเข้ามาสู้กับแรงดันที่ไหลออก ในห้องแรงดันบวกนะ ถ้าเราเปิดประตูออกไปข้างนอก คุณหมออยู่ในห้อง คุณหมอหมุนเปิดออกก็ไม่ต้องสู้กับแรงดันจะเปิดง่าย

แต่ข้อดีของการเปิดเข้าคือลมไหลออกไป ทำให้ประตูกับผนังแนบชิดกัน โอกาสที่อากาศจะไหลออกข้างนอกน้อยลง ดังนั้นการดึงประตูเข้ามา ถ้าคุณหมออยู่ในห้อง ประตูที่ดึงเข้ามาเพื่อออกไป จะปฏิติการลำบากหน่อยเพราะเวลาเปิดต้องสู้กับแรงดัน แต่ในแง่ความปลอดภัย ทำให้ประตูกับผนังแนบสนิทกัน เพราะอากาศที่ดันออกจะทำให้ไม่เกิดช่องว่างระหว่างประตูกับผนัง

ท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ทำได้สองทาง เราบอกข้อดีข้อเสียให้โรงพยาบาล ให้โรงพยาบาลเป็นคนตัดสินใจ ที่สำคัญทั้งหมดคนออกแบบที่แรก มาจากกลุ่มศิษย์เก่าวิศวจุฬา ร่วมกับทางวชิรพยาบาล แล้วเปิดเป็นโอเพนซอร์ส ในโควิดโอเพนซอร์สไทยแลนด์ ซึ่งอดีตพรรคอนาคตใหม่ก็มีบุคลากรหลายคนที่จบจากวิศวจุฬา และเป็นกลุ่มที่เข้าร่วมงานตรงนี้และมาคุยกับผม เพราะเห็นผมเป็นนักอุตสาหกรรม และมีเครือข่าย

ความสวยงามของโครงการนี้คืออะไร ผมไม่รู้จักแม้แต่แพทย์ที่อยู่ในวชิรพบาบาล ศิษย์เก่ากลุ่มหนึ่งคือวิศวกับหมอมาคุยกันว่าประเทศไทยรับเรื่องโควิดไม่ไหว ถ้าต้องรับมือมีไม่เพียงพอ ถ้าต้องนำเข้าเรื่อยๆ ก็ใช้เวลานานและใช้เงินมหาศาล หมอกับวิศวกร คุยกัน ออกแบบเป็นโอเพนซอร์สออกมา ผมไม่รู้จักหมอด้วยซ้ำไปคนที่ออกแบบ แต่ผมเป็นนักอุตสาหกรรม มีคนมาบอกผมก็ติดต่อเครือข่ายนักอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ทั้งสามสี่บริษัทนี้มาทำด้วยใจล้วนๆ ไม่มีใครคิดกำไรเลย

แล้วคณะก้าวหน้าซึ่งมีเครือข่ายทั่วประเทศก็เป็นคนไปติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาล นี่เป็นความสวยงามของความร่วมมือกันของภาคเอกชน ที่ไม่รู้จัก ไม่สนิทสนมกัน"

 

ในมุมประชาชนคนไทย ขออนุญาตถามคุณธนาธร ในฐานะเคยลง ส.ส. มีโอกาสได้เข้ามาบริหารประเทศส่วนหนึ่ง วันนี้มองในมุมภาครัฐเองที่สู้ศึกโควิด ถูกทางมั้ย?

"ในแง่ของการสาธารณสุข ต้องบอกว่าเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุข หมอ ต้องถือว่าพวกเขาทุ่มเท ทำงานดีในช่วงที่ผ่านมา อันนี้ผมคิดว่าคงต้องให้ความดีความชอบ ต้องชม พวกเขาตั้งใจทำงานอย่างดี"

 

มุมไม่ชมล่ะ?

"ผมว่ามันเป็นวิธีคิดที่เลือกที่จะดูแลอุ้มคนรวยก่อน แล้วลอยแพคนจน"

 

ทำไมคิดอย่างนั้น?

"ผมมี 3 ตัวอย่างให้ดู ตัวอย่างแรก คือ ดิวตี้ฟรีสนามบิน มีการยกเลิกค่าสัมปทานบางส่วน ที่บริษัทเอกชนที่ได้สัมปทานไปต้องจ่ายคืนรัฐ เนื่องจากนักท่องเที่ยวหาย รายได้หาย ต้องลดค่าสัมปทานให้เขา ลดให้เขาบริษัทเดียว 3 หมื่นล้าน ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. อันนี้ให้ไปแล้ว

สอง จำเรื่องกองทุนธนาคารทหารไทย 3 กองทุนที่จะล้มได้มั้ยเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว กองทุนนี้พอจะล้มปุ๊บ รัฐบาลบอกว่าตั้งกองทุนขึ้นมา ให้เอาหน่วยลงทุนมาตึ๊งกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ โดยที่เมื่อเอามาตึ๊งแล้วเอาเงินออกไปเป็นดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งหมายความว่าจ้างธนาคารเอกชนไปซื้อกองทุนนี้เพื่อพยุงไม่ให้ได้รับผลกระทบ

กรณีที่สามคือหุ้นกู้ โดยหนึ่งส่วนที่สำคัญใน 2 ล้านล้านบาท ที่จะเอามาต่อสู้กับไวรัสโคโรนา มีการตั้งกองทุนไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเอาไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ซึ่งหุ้นกู้บริษัทที่มีการจัดความน่าเชื่อถืออยู่ในบีบีบวก อยู่ในระดับขนาดใหญ่ทั้งนั้น บาลานซ์ชิ่ง งบดุลเขาแข็งแกร่งทั้งนั้น เขาไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มขนาดนั้น ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ทำเร็วแล้วเสร็จเร็ว ขณะที่จะเยียวยาดูแลคนอยู่บ้านเพื่อชาติ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมหาศาล"

 

อันนี้ช้าไป?

"ช้าแน่นอน เรากำลังบอกว่าให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อชาติ แล้วชาติให้อะไรพวกเขาที่ได้รับผลกระทบบ้าง หลายครอบครัว หลายคนกำลังจะอดตาย เรื่องนครปฐม ที่เทศกิจไปไล่จับคนก็ดี ที่สนามหลวง ทำไมคนต้องไปยืนรอรับบริจาค เพราะคนที่เป็นคนระดับล่างหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้เป็นลูกจ้างบริษัท ไม่ได้รับสิทธิ์ในประกันสังคม

คนต่างๆ เหล่านี้เป็นคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด การเวิร์กฟรอมโฮม อยู่บ้านเพื่อชาติ ผลกระทบต้นทุนแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วคนแบกรับต้นทุนหนักที่สุดคือคนเหล่านี้ และคนเหล่านี้เราพูดถึงคน 1 ล้านคนไม่ได้รับการเอาใจใส่เพียงพอ ถ้าได้รับความเอาใจใส่เพียงพอ เรื่องรถถังไม่ควรเกิดขึ้น แฮชแท็กในทวิตเตอร์สองวันที่ผ่านมาคืออะไร ที่พุ่งสูงมาก คือรถถังพ่อง ถามว่ารมต.กลาโหมเสนอเรื่องนี้เข้าครม. ได้ยังไง ในภาวะที่ประเทศไทยเป็นแบบนี้" 

 

เขาบอกเป็นงบค้างที่ต้องมีการจัดสรร?

"คำถามคือว่า 4,500 ล้าน ดูแลคนได้กี่คนในเวลาแบบนี้ ถ้า 5 พันล้านดูแลคนได้ล้านคน 4,500 ล้าน ดูแลคนได้ 9 แสนคน 9 แสนชีวิตนะครับที่กำลังเดือดร้อนตอนนี้ ที่บอกว่ามันเป็นสัญญาเป็นเงื่อนไข ถ้าจริงใจ เปิดสัญญาให้สาธารณดูเลยครับ เพราะผมเชื่อว่าจากที่ผมเป็นนักธุรกิจ ผมดีลเรื่องสัญญาซื้อขายพวกนี้มาเป็นร้อยๆ ฉบับ ทุกฉบับมีเงื่อนไขในกาารยกเลิก ในการชะลอ" 

 

แต่เขาบอกเขาจะชะลอแล้ว?

"ใช่ไง ประชาชนเขาทวงไง รัฐบาลนี้เผลอไม่ได้ เผลอเป็นซื้อ เผลอซื้อเรือดำน้ำ เผลอซื้อสไตรเกอร์ เผลอซื้อรถถัง เผลอไม่ได้ เราหยุดตรวจสอบเมื่อไหร่เขาซื้อนะ"

 

พูดงี้ผมหนาวนะ ถามเรื่องล็อกดาวน์ดีกว่า ควรไปอีกนานแค่ไหน?

"ผมว่าแนวทางการแก้ปัญหา โคโรนาไวรัสที่เข้ามากระแทกสังคมไทย ลูกที่หนึ่งคือเดือน ก.พ. มันเข้ามาโดยที่สังคมไทยไม่มีความรู้ ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ผู้นำรัฐบาลไม่เข้าใจเพียงพอ หน้ากากขาด เจลขาด ผู้นำรัฐบาลบางคนยังเข้าใจว่ามันเป็นไข้หวัดธรรมดา เมื่อเตรียมรับกับมันไม่เพียงพอ มันเลยพุ่งสูง เราถึงล็อกดาวน์ ถามว่าล็อกดาวน์จัดการโควิดเด็ดขาดได้มั้ย ไม่ได้นะครับ ล็อกดาวน์เป็นเพียงการซื้อเวลาให้เรากลับไปเริ่มต้นใหม่ ล็อกดาวน์ผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล แล้วคนกำลงจะอดตาย

ตอนนี้น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมให้คลายล็อก พอคลายล็อกตัวเลขที่ลงมาที่มันคอนโทรลได้ มันจะกลับขึ้นไปใหม่ แต่กลับมาครั้งนี้ต้องมั่นใจได้ว่าเราเตรียมพร้อมมากกว่าเดิม ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมากกว่าเดิม สาธารณสุขเข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อให้จำนวนกราฟที่ขึ้นรอบนี้ ไม่สูงเท่ารอบแรก ถ้าสูงไปอีกเมื่อไหร่ก็ล็อกอีก มันก็ลงอีก แล้วคลายอีก ดังนั้นความสูงในแต่ละช่วงของการคลาย มันจะลดลงเรื่อยๆ เพราะเราเตรียมการดีขึ้นเรื่อยๆ" 

 

คุณแม่ได้รับจดหมายจากท่านนายกฯ หรือยัง เพราะมีข่าวว่าคุณแม่เป็น 1 ใน 20 ที่ได้รับจดหมาย?

"(หัวเราะ) ผมเพิ่งคุยกับคุณแม่เมื่อเช้านี้ คุณแม่บอกว่ายังไม่ได้รับ ก็พอได้ยินข่าว แต่เรื่องราวเป็นมายังไง จะได้รับจริงหรือไม่ ไม่ทราบนะครับ แต่ข้อมูลตอนนี้คือยังไม่ได้รับนะครับ"

 

จะตอบรับมั้ยถ้าได้รับจริงๆ?

"ผมเชื่อว่าคุณแม่เป็นคนมีความปรารถนาดีกับสังคมอยู่แล้ว พร้อมให้ความร่วมมือ อะไรที่พวกเราทำได้คนละไม้คนละมือเพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านจุดนี้ไปได้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คงไม่ปฏิเสธ"

 

กลัวมีเสียงสะท้อนมาอีกมั้ย?

"ไม่กลัวหรอกครับ ถ้ากลัวคงไม่ได้ทำอะไร เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเกิดจากการปรารถนาที่ดี สิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ และสิ่งที่ทำเป็นหนึ่งในพลังคนไทยที่พอจะมอบให้คนไทยได้  เป็นหนึ่งในความสามารถเครือข่ายทำให้สังคม ถ้าคิดกลัวคงไม่ได้ก้าวเดินเสียที" 

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ ธนาธร เปิดใจหลังระดมวิศวกร-เอกชน ผลิตอุปกรณ์แพทย์ส่งทั่วประเทศ ลุยสู้ไวรัสโคโรนา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook