สธ.รีบรายงานฮูไทยติดเชื้อหวัดมรณะจากแม่สู่ลูกเร่งพัฒนาวัคซีนเชื้อตายให้ผู้ป่วย

สธ.รีบรายงานฮูไทยติดเชื้อหวัดมรณะจากแม่สู่ลูกเร่งพัฒนาวัคซีนเชื้อตายให้ผู้ป่วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วิทยารายงานองค์การอนามัยโลก เคสถ่ายทอดเชื้อหวัดใหญ่2009จากแม่สู่ลูกรายแรกของโลก เผย30%ป่วยตายเพราะรับยาช้าไม่ทันเชื้อลงปอด กระทรวงวิทย์พัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายควบคู่ของรัสเซียเชื้อเป็น หวังเป็นทางเลือกผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง รายงานติดเชื้อจากแม่สู่ลูกถึงฮู

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ถึงกรณีหญิงตั้งครรภ์อายุ 26 ปี ชาวราชบุรี ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ได้ผ่าตัดคลอดบุตรขณะที่อายุครรภ์ 7 เดือน ซึ่งพบว่าทารกติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้วย และถือเป็นรายแรกของโลก ว่า ถือเป็นกรณีศึกษาที่คณะแพทย์ให้ความสนใจ ขณะนี้ ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย รวมทั้งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากแม่สู่ลูก แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมดว่าเป็นการติดเชื้อจากการกินน้ำคร่ำ หรือผ่านทางรก อย่างไรก็ตามทาง สธ.รายงานข้อมูลไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ทราบเป็นระยะๆ อยู่แล้ว

นายวิทยากล่าวว่า ส่วนการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ที่คลีนิค เริ่มนำร่องแห่งแรกที่ จ.ราชบุรี ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีผลอย่างไร เพราะเพิ่งดำเนินการเพียง 2 วันเท่านั้น กรณีที่ จ.ราชบุรี ถือเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้า เนื่องจากมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูง 7 คน จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 44 คน ซึ่งตนมอบหมายให้นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบว่ากระจายยาไปที่ใด จำนวนเท่าใด ทั่วถึงหรือไม่ อย่างไร ส่วนในจังหวัดอื่นๆ จะกระจายยาต้านไวรัสให้คลีนิคเอกชน คลีนิคหมอทั่วไป รวมทั้งมีมาตรการควบคุมอย่างไร ขอให้ที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติที่มี นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน สรุปรายละเอียด และฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปแทรกแซง นอกจากนี้ได้หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเรียกประชุมโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งคลีนิคในกรุงเทพฯกว่า 200 แห่ง ในวันที่ 30 กรกฎาคม เพื่อเข้าระบบการรักษาและการให้ยาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เผย30%ป่วยตายเพราะรับยาช้า

นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยกว่าร้อยละ 30 เสียชีวิต เนื่องจากได้รับยาช้า บางคนป่วยอยู่กับบ้านนาน แล้วเพิ่งไปพบแพทย์ ส่งผลให้เชื้อแพร่ลงถึงปอด ทำให้ยุ่งยากในการรักษา โดยพบว่าผู้เสียชีวิตหลายรายเริ่มต้นจากการรักษาที่คลีนิคมาก่อน จึงต้องติดตามต่อไปว่าคลีนิคจะคิดค่ารักษาเป็นธรรมหรือไม่ เพราะขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้กำหนดให้ลดราคาขายยาต้านไวรัสเหลือเม็ดละ 25 บาท ฉะนั้นกินจนครบ 1 ชุด 10 เม็ด ราคา 250 บาท

เผยแม่เด็กอาการยังทรง

ในเวลา 12.45 น.วันเดียวกัน ที่ตึกนวมินทร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นายมานิต นำนายจินดา อายุ 38 ปี สามีหญิงอายุ 26 ปี ซึ่งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขณะตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน จนแพทย์ต้องผ่าตัดทำคลอดเพราะพบว่าทารกในครรภ์ติดเชื้อ มาเยี่ยมภรรยา

นายมานิตกล่าวว่า ไปเยี่ยมทารกเพศหญิงที่เกิดจากหญิงคนดังกล่าว ที่โรงพยาบาลราชบุรี พบว่าอาการดีขึ้น เด็กสามารถขยับแขนขาได้ น้ำหนักเพิ่ม 20 กรัม และจากการตรวจเชื้ออีกครั้งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แล้ว แต่เนื่องจากคลอดก่อนกำหนดจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้พบว่าที่ จ.ราชบุรีมีรายงานผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อีก 1 คน แต่ไปพบแพทย์เร็ว ได้รับยาต้านไวรัสทันที ทำให้ขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือด้วยการผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด

ด้าน รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงอาการของผู้ป่วยหญิง อายุ 26 ปี ว่า อาการยังทรงตัว ชีพจรและความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งผลการตรวจเชื้อซ้ำไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และได้รับยาต้านไวรัสครบชุดการรักษาแล้ว แต่ยังมีอาการปอดอักเสบ เพราะติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงซ้ำที่ปอด ผลเอ็กซเรย์ปอดล่าสุดยังไม่ดีขึ้น แพทย์ต้องให้ยาปฏิชีวนะเต็มที่ และให้ยานอนหลับควบคู่เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต่อต้านเครื่องช่วยหายใจ โดยต้องรอดูอาการอีก 2 วัน จึงจะประเมินอาการได้อีกครั้ง สำหรับบุตรของหญิงดังกล่าว จากการประสานกับรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี ทราบว่า เด็กอาการดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ

ชี้ในน้ำคร่ำมีไวรัสปะปน

การติดเชื้อสันนิษฐานว่าอาจมาจาก 2 ทางคือ รกกับน้ำคร่ำ ซึ่งรายดังกล่าวมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อมาจากน้ำคร่ำ เพราะเด็กที่อยู่ในครรภ์จะกลืนน้ำคร่ำเป็นปกติ และจะปัสสาวะออกมาวนเวียนอยู่ในน้ำคร่ำ จากข้อมูลทางการแพทย์มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในน้ำคร่ำมีไวรัสปะปนอยู่และมีโอกาสติดต่อสู่เด็กในครรภ์ได้ แต่เป็นโรคอื่นๆ ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เนื่องจากเป็นโรคใหม่จึงยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน รวมถึงไม่มีข้อมูลทางวิชาการว่าติดเชื้อของไข้หวัดปกติด้วย รศ.นพ.อดิศร กล่าว

ด้าน รศ.นพ.ธีรพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ และหัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ กล่าวว่า การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จากครรภ์มารดา ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด ไม่สามารถสรุปได้ว่าหญิงตั้งครรภ์ทุกรายจะถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปยังลูกได้ เพียงแต่มีโอกาสเสี่ยง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นทุกราย ซึ่งตามปกติหญิงตั้งครรภ์จะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว และยังพบว่ากรณีที่แม่มีไข้สูง ไม่จำเป็นต้องไอจาม อาจส่งผลต่อระบบสมองของลูกได้ ทั้งนี้ ช่องทางในการติดเชื้อยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าติดจากไหน อาจเป็นไปได้ว่าเกิดพร้อมกันคือทางน้ำคร่ำและทางเลือด

ขณะนี้กรณีติดเชื้อจากแม่สู่ลูกยังพบรายงานน้อยมาก โดยพบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์เพียง 3 รายเท่านั้น จึงต้องศึกษาต่อเพื่อให้ทราบลักษณะของการติดเชื้อต่อไป โดยข้อมูลทั้งหมดได้ส่งให้ สธ.และเชื่อว่าคงส่งต่อเพื่อทำการศึกษาร่วมกับองค์การอนามัยโลก รศ.นพ.ธีรพงศ์ กล่าว

สามีคาดภรรยาติดเชื้อจากรพ.

ด้าน นายจินดา สามีหญิงตั้งครรภ์วัย 26 ปี กล่าวว่า คาดว่าภรรยาจะติดเชื้อขณะไปเฝ้าลูกชายที่นอนป่วยด้วยโรคอื่นที่โรงพยาบาล เพราะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เมื่อเริ่มมีไข้ได้พาไปรักษาที่คลินิก แพทย์ฉีดยาให้ 1 เข็ม วันถัดมาพบว่าอาการยังไม่ดีขึ้น เตรียมจะพาไปโรงพยาบาล แต่อาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว มีอาการหอบ หายใจไม่ออก

ภรรยาผมไม่มีโรคประจำตัวอื่น นอกจากอ้วนมีน้ำหนักตัว 115 กิโลกรัม ขณะนี้อยากให้มีปาฏิหารย์กับภรรยาและลูก ขอให้หายไวๆ ผมตั้งชื่อลูกสาวไว้ว่า ด.ญ.ภิรมย์รัตน์ แต่ยังไม่มีชื่อเล่น นายจินดา กล่าว

ราชบุรีนำร่องให้ยาต้านไวรัส

ด้าน นพ.ธนินทร์ พันธุเตชะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า วันที่ 26 กรกฎาคม รับตัวหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน อายุ 30 ปี เข้ารักษาตัวอีก 1 คน โดยผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการไข้สูง หอบ แพทย์เอ็กซเรย์ปอด พบว่ามีภาวะปอดบวมแทรก จึงได้แยกผู้ป่วยไว้ในห้องแยกปลอดเชื้อของโรงพยาบาล และให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที ก่อนจะส่งสารคัดหลั่งตรวจในห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.เพื่อยืนยันผล

หากพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2009 แน่นอน แต่ยังต้องรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการยืนยันอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะทราบในเร็วๆ นี้ ผู้ป่วยรายนี้จัดอยู่ในอาการที่มีความรุนแรงของโรคแบบปานกลาง ผู้ป่วยหายใจเองได้ ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ความดันและระดับออกซิเจนในเลือดปกติดี เช่นเดียวกับทารกในครรภ์มีอาการปกติ เพราะเมื่อแม่ได้รับยาทารกก็จะได้รับด้วย นพ.ธนินทร์กล่าว และว่า จากการซักประวัติผู้ป่วยทราบว่า มีอาการป่วยประมาณ 2 วัน จึงจะไปพบแพทย์ นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาที่ดี แต่อยากย้ำว่าหากเป็นหญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว เด็กต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุเกิน 65 ปี คนอ้วน หากมีอาการป่วยไข้ควรพบแพทย์ทันที ไม่ควรรอให้ถึง 2 วัน

นพ.ธนินทร์กล่าวอีกว่า จ.ราชบุรี ได้กระจายโอเซลทามิเวียร์ไปยังคลีนิคในจังหวัดแล้วกว่า 50 แห่ง โดยจัดสรรให้แห่งละ 50 เม็ด สำหรับรักษาผู้ป่วย 10 คน ในราคาต้นทุนเม็ดละ 25 บาท หากหมดสามารถเบิกเพิ่มเติมให้อยู่ในจำนวนที่กำหนดได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคลีนิคแต่ละแห่งจะต้องทำรายงานแจ้งการสั่งจ่ายยาชนิดนี้ให้แก่ผู้ป่วยแต่ละรายให้โรงพยาบาลอย่างละเอียด เพื่อแสดงถึงเหตุผลจำเป็นที่จะต้องให้ยาในผู้ป่วยแต่ละราย และหากผู้ป่วยรายใดมีเงินไม่เพียงพอสำหรับจ่ายค่ายา แต่แพทย์พิจารณาเห็นว่าผู้ป่วยรายนั้นจำเป็นต้องได้รับยาทันที ให้คลีนีคสั่งจ่ายยา แล้วไปเบิกเงินที่โรงพยาบาล

อภ.เร่งผลิตโอเซลทามิเวียร์

เวลา 17.00 น. วันเดียวกัน นายมานิตกล่าวหลังประชุมหารือสำรองยาต้านไวรัสโอลเซลทามิเวียร์ ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า เหลือยาต้านไวรัสคงคลัง 3.39 ล้านเม็ด จากเดิมที่มียาสำรองก่อนการระบาด 6.2 ล้านเม็ด ซึ่งตั้งแต่ระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ปลายเดือนเมษายน มีการใช้ยาไปแล้วทั้งสิ้น 2.8 ล้านเม็ด จึงต้องผลิตเพิ่มอีก 30 ล้านเม็ด

จากนี้ อภ.จะเป็นหน่วยงานที่กระจายยาทั้งหมดทั่วประเทศ โดยกระจายผ่านศูนย์ที่ จ.เชียงใหม่ อุดรธานี สงขลา และ กทม. โดยโรงพยาบาลทุกแห่งต้องรายงานการใช้ยาอย่างละเอียดทุกวัน จะตัดยอดทุก 15.00 น. เพื่อให้ทราบว่ามีการใช้วันละเท่าใด รวมทั้งติดตามผลการใช้ยาของผู้ป่วยทุกราย เพื่อรายงานให้ อภ.และ สธ.รับทราบ นายมานิตกล่าว

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวย อภ. กล่าวว่า วัตถุดิบในการผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศล็อตแรกได้มาถึงไทยแล้ว และ อภ.ได้เดินเครื่องบรรจุแค็ปซูลตลอด 24 ชั่วโมง ทันทีเพื่อผลิตยาล็อตแรก 10 ล้านเม็ด รองรับการปรับแผนการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้วยการจ่ายยาทันทีที่พบผู้ป่วยในรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้ อภ.มีกำลังการผลิตได้ 1.2 ล้านเม็ดต่อวัน ในวงเงินงบประมาณ 250 ล้านบาท แต่ห่วงว่าหากจำเป็นต้องเพิ่มการผลิต อาจมีปัญหาด้านราคา เนื่องจากวัตถุดิบกำลังเป็นที่ต้องการของทั่วโลกจนราคาขยับขึ้นสูงถึงร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม อภ.จะพยายามตรึงราคายาไว้ที่เม็ดละ 25 บาท ขณะที่ราคาทั่วโลก เม็ดละ 120 บาท

ขณะนี้ อภ.ได้สั่งซื้อไข่ไก่ปลอดเชื้อจากประเทศเยอรมนี เพื่อเพาะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะไม่มีการใช้ไข่ไก่จากซีพีหรือสหฟาร์ม ซึ่งวันเดียวกันนี้ประเทศเยอรมนีส่งไข่ไก่ 1,500 ฟอง มาถึงไทยแล้ว และล็อตต่อไปจะส่งไข่อีกสัปดาห์ละ 6,000 ฟอง โดยต้องใช้ทั้งหมดมากกว่า 20,000 ฟอง ไข่ไก่ 1 ฟอง สามารถผลิตวัคซีนได้ 30-100 โด๊ส ซึ่งตั้งเป้าจะผลิตให้ได้สูงสุด 10 ล้านโด๊ส ใน 6 เดือน นพ.วิทิตกล่าว

สปสช.ตั้งงบฯสำรองโรคระบาด

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการประมาณการตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คาดว่าน่าจะมีร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้นเป็นภาระของโรงพยาบาล เนื่องจากค่าเหมาจ่ายรายหัวเป็นการคำนวณตามอัตราการรักษาโรคในภาวะปกติเท่านั้น ดังนั้น ปีงบประมาณหน้า มีแนวคิดเสนอตั้งงบประมาณสถานการณ์ฉุกเฉิน 200-300 ล้านบาท พิจารณาในคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

นักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตาย

นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยาและวัคซีน ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างผลิตวัคซีนต้นแบบชนิดเชื้อตาย ได้มาจากเชื้อตั้งต้นของผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 คนแรกของประเทศไทย ซึ่งได้ผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว พบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างน่าพอใจ คาดว่าภายใน 1 เดือน จะได้ผลเป็นรูปธรรมก่อนจะนำไปเสนอองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 นอกเหนือจากการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นที่ใช้เทคโนโลยีจากประเทศรัสเซีย

เพราะแม้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นจะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดี แต่ทั่วโลกยังยอมรับการพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายมากกว่า เนื่องจากหลายคนกลัวว่าเชื้อชนิดเป็นอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองกลับมาเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคได้ แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้เชื้อก่อโรคเสื่อมสภาพก็ตาม ที่สำคัญผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ หรือหอบหืด หรือผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง อาจจะไม่สามารถใช้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้ เพราะเกรงว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสที่พ่นเข้าไปร่างกาย ดังนั้น วัคซีนชนิดเชื้อตายจะเป็นทางเลือกให้กลุ่มนี้นายอนันต์กล่าว

ซาอุฯตายแล้ว 1 คน

วันเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขซาอุดีอาระเบียแถลงว่า มีชายชาวซาอุฯเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสเอช 1 เอ็น 1 จำนวน 1 ราย โดยเป็นชายอายุ 30 ปี ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในจังหวัดดามมาม ทางตะวันออกของประเทศที่ถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยอาการไข้ขึ้นสูงและปอดบวมก่อนจะเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นเหยื่อรายแรกของซาอุฯที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ประเทศซาอุฯกำลังจะเปิดรับผู้มาจาริกแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ ซึ่งในแต่ละปีจะมีชาวมุสลิมทั่วโลกมาจาริกแสวงบุญที่นี่จำนวนหลายล้านคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook