“ไลฟ์โค้ช” คือใคร สำคัญแค่ไหนกับชีวิตคนยุคใหม่

“ไลฟ์โค้ช” คือใคร สำคัญแค่ไหนกับชีวิตคนยุคใหม่

“ไลฟ์โค้ช” คือใคร สำคัญแค่ไหนกับชีวิตคนยุคใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคปัจจุบัน “ไลฟ์โค้ช” เป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจไม่น้อย ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นอาชีพอิสระ ทรงภูมิปัญญา เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ และรายได้ดี ขณะเดียวกัน ไลฟ์โค้ชก็มักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นดราม่าอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดกระแสโจมตีในโลกออนไลน์ และนำไปสู่การตั้งคำถามกับอาชีพไลฟ์โค้ช รวมทั้งการตอกย้ำภาพลักษณ์ของอาชีพนี้ ที่เป็นเพียงการพูดคำคมเท่ๆ แต่ไม่มีแก่นสาร

แต่แท้ที่จริงแล้ว ไลฟ์โค้ชคืออะไร และอาชีพนี้ “กลวง” อย่างที่หลายคนกำลังโจมตีหรือไม่ มาหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญพร้อมๆ กันเลย

ไลฟ์โค้ชคืออะไร

คุณพจนารถ ซีบังเกิด หรือ “โค้ชจิมมี่” ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท Jimi The Coach เล่าให้ Sanook ฟังว่า ไลฟ์โค้ชคือผู้ที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ และเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิต เมื่อบุคคลหนึ่งดำเนินชีวิตในรูปแบบหนึ่งมาเรื่อยๆ แต่การดำเนินชีวิตของเขาต้องสะดุด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัย สิ่งแวดล้อม หรือวัยของบุคคลนั้นๆ ไลฟ์โค้ชจะเป็นผู้ที่สามารถฟังและได้ยินว่าบุคคลนั้นกำลังสะดุดด้วยเรื่องอะไร และจะเดินต่อไปอย่างไร

“การโค้ชมันไม่ใช่การพาคนถอยหลัง ไปแก้กรรม ไปแก้อาการบาดเจ็บในอดีต คนที่มีทักษะการเป็นไลฟ์โค้ชก็จะทำให้คนปลดล็อกและเดินไปข้างหน้าได้ โดยการทำให้เห็นทางเลือกอื่นๆ สมมติว่าถ้าคุณเดินมาในเส้นทางหนึ่งที่มันมืดๆคุณเอาไฟฉายส่องทางนี้ตลอด คุณก็จะเห็นแต่โลกในเส้นทางนี้ แต่โลกทั้งหมดมันไม่ใช่แค่ส่วนที่แสงไฟฉายมันตกกระทบไง ไลฟ์โค้ชอาจจะช่วยให้คุณรู้ว่าคุณถือไฟฉายอยู่นะ แค่คุณขยับกระบอกไฟฉาย คุณก็อาจจะเห็นเส้นทางอื่น” คุณพจนารถอธิบาย

หลักการทำงานของไลฟ์โค้ชจะเน้นที่การ “ฟัง ถาม และสะท้อนกลับ” โดยคุณเหมพรรษ บุญย้อยหยัด นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้และไลฟ์โค้ชด้านการสื่อสารอย่างสันติ อธิบายว่า โดยทั่วไป เวลาที่คนเรามีปัญหา ก็มักจะต้องการใครสักคนที่รับฟัง ไลฟ์โค้ชก็จะใช้เทคนิคการถามหรือสะท้อนกลับว่า สิ่งที่คนผู้นั้นเล่ามา หมายความว่าอย่างนี้ใช่หรือไม่ รวมทั้งจับคำสำคัญ เพื่อย้อนถามถึงความรู้สึกหรือความต้องการของคนผู้นั้น จนกระทั่งถึงจุดที่มองหาวิธีการแก้ไขปัญหา

“เราจะใช้เทคนิคของการฟังที่เรียกว่าการสื่อสารอย่างสันติ หรือ non-violent communication เรียกสั้นๆ ว่า NVC ส่วนเทคนิคการโค้ชจะเข้ามาช่วยเรื่องการตั้งคำถาม ว่าในประเด็นนั้น เขาอยากเห็นภาพหรืออยากไปต่อในรูปแบบไหน แล้วตั้งคำถามเพื่อให้เขาเห็นข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่เขามี ไปจนถึงสิ่งที่จะทำได้ การที่เขารับรู้ความรู้สึก ความต้องการของตัวเองได้อย่างชัดเจน จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งกับคู่กรณีหรือคนที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วย” คุณเหมพรรษกล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณพจนารถกล่าวว่า ไลฟ์โค้ชไม่ใช่แค่เครื่องมือในการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่ทั้งพาคนเดินก้าวไปข้างหน้า หรืออาจจะพาคนคนนั้นกลับมาค้นหาตัวเองก็ได้เช่นกัน

สำหรับรายได้ของไลฟ์โค้ชนั้น คุณพจนารถกล่าวว่าไลฟ์โค้ชแต่ละคนจะตั้งราคาไม่เท่ากัน อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้บริการ หากเป็นกลุ่มผู้บริหาร ค่าจ้างก็จะสูงกว่าการให้คำปรึกษากับคนทั่วไป รวมทั้งยังมีกลุ่มที่ทำงานจิตอาสา ไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น ตัวเลขรายได้ในวงการนี้จึงไม่แน่นอน มีตั้งแต่ฟรีไปจนถึงหลักพัน และในกรณีการว่าจ้างโดยองค์กรอาจอยู่ที่ 2 – 3 แสนบาท ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษาในระยะยาวประมาณ 6 เดือน

ทำไมไลฟ์โค้ชจึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

สังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวาย จากโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการที่คนให้ความสำคัญกับความสำเร็จในชีวิตมากกว่าความสงบทางจิตใจ ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา เจ้าของศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบพบตัว/ออนไลน์ OneManCounselor.com ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้สังคมเป็นแบบนี้ อาจมาจากระบบการศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนเพื่อทักษะทางวิชาการ โดยขาดการปลูกฝังเรื่องทักษะการใช้ชีวิตและการทำความเข้าใจตัวเอง การแข่งขันเปรียบเทียบกันผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงค่านิยมเกี่ยวกับการประสบความสำเร็จ ความร่ำรวย ล้วนผลักดันให้คนเรารู้สึกไม่พอใจกับชีวิต การใช้ชีวิตอย่างหลงทางและจัดวางชีวิตอย่างไม่ถูกต้องก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน อย่างเช่น ปัญหาความสัมพันธ์ ความผิดหวัง หรือปัญหาทางด้านอารมณ์อย่างซึมเศร้า วิตกกังวล และการสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อจัดการปัญหาชีวิตเหล่านั้นด้วยตัวเองไม่ได้ ผู้คนจึงเริ่มมองหาความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และไลฟ์โค้ชก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกของคนยุคนี้

ดร.สุววุฒิอธิบายว่า มีคนหลายคนที่ไม่ต้องการรับรู้ว่าตัวเองกำลังมีปัญหา หรือไม่อยากให้สังคมรู้ว่าตัวเองกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์หรือหน้าที่การงาน ดังนั้น การใช้บริการไลฟ์โค้ชจึงดูเป็นแนวทางที่พวกเขามองว่ารุนแรงน้อยกว่าและอาจดูดีต่อภาพลักษณ์มากกว่าการมาพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์

“คำว่า ‘โค้ช’ ในการรับรู้ของคนทั่วไป หากเชื่อมโยงกับวงการกีฬาต่างๆ ก็เหมือนพี่เลี้ยง เหมือนผู้รู้ เหมือนผู้ที่มีทักษะและประสบการณ์สูงกว่า ในการช่วยชี้นำหรือช่วยมอบแนวทางว่าอะไรควรเป็นอย่างไรเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ พอใส่คำว่า ‘ไลฟ์’ ลงไปด้านหน้า เป็นคำว่าไลฟ์โค้ช ก็เลยเป็นเซ้นส์ของพี่เลี้ยงชีวิต ผู้ช่วยนำทางชีวิต หรือผู้ที่จะช่วยบอกได้ว่าควรวางชีวิตแบบไหนแล้วถึงจะดี ซึ่งอาจจะแตกต่างกับภาพจำของคำว่านักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ ที่สังคมมักมองว่าเน้นทำงานกับปัญหาสุขภาพจิตเป็นหลัก” ดร.สุววุฒิกล่าว

“หลักการทำงานอย่างหนึ่งที่ทำให้ไลฟ์โค้ชและนักจิตวิทยาการปรึกษาแตกต่างกันคือ ไลฟ์โค้ชจะให้ความสำคัญกับการฟังและตั้งคำถามเพื่อหาแนวทางสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับอดีตมากนัก ในขณะที่นักจิตวิทยาการปรึกษาจะให้ความสำคัญกับการเข้าใจตัวเอง เข้าใจว่าอะไรหล่อหลอมให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราคิด รู้สึก และมีมุมมองแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการกำหนดเป้าหมายในอนาคต เมื่อเข้าใจตัวเองแล้วจึงกำหนดเป้าหมายและวิธีการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งแม้ว่าบางปัญหาอาจคลี่คลายได้ด้วยกระบวนการโค้ช แต่ก็มีอีกหลายปัญหาที่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และกระบวนการทางจิตวิทยาที่มีขอบเขตการทำงานที่กว้างขวางและลึกซึ้งกว่านั้น เพราะลำพังขอบเขตการทำงานของไลฟ์โค้ชอาจไม่เพียงพอ” ดร.สุววุฒิกล่าวเสริม

ด้านคุณพจนารถมองว่า สาเหตุที่ทำให้ไลฟ์โค้ชได้รับความนิยมอย่างสูงนั้น มาจากการโหยหาความสัมพันธ์ที่แท้จริง เนื่องจากทุกวันนี้คนเราพึ่งพาเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันเกือบจะ 100% จนแทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ โดยตรง

“ที่ไลฟ์โค้ชได้รับความนิยมมากเพราะว่าทุกวันนี้ไม่มีใครที่คุยกับเราแล้วทำให้เรากลับมารู้จักตัวเราเอง ทำให้เราก็หลงอยู่ในโซเชียลมีเดียที่มันห่างจากตัวเราเองเข้าไปทุกที ก็ทำให้เราโหยหาความสัมพันธ์ โหยหาการที่มีใครสักคนเห็นคุณค่า จริงๆ แค่การนั่งรับฟัง ไม่ต้องพูดอะไร ก็คือการเห็นคุณค่าแล้วนะ เขาจะรู้สึกว่ามีคนที่สนใจคำพูดเขาและสนใจลึกลงไปกว่าที่เขาพูดอีก ก็เลยทำให้มีบางคนบอกว่าคุยกับไลฟ์โค้ชแล้วสบายใจ” คุณพจนารถกล่าว

ภาพจำประกอบดราม่า

เมื่อใดที่มีดราม่าเกี่ยวกับไลฟ์โค้ช สิ่งที่หลายคนมักหยิบยกมาโจมตีไลฟ์โค้ช คือวิธีการสอนผู้อื่นผ่าน “คำคม” ที่มีแต่ความเท่ แต่ไม่มีประโยชน์ และคำคมเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นภาพจำที่ติดตัวไลฟ์โค้ชทุกคนไปในที่สุด ประเด็นนี้ คุณชลิต สุนทรพลิน Director ของ Opportunity One Placement Co., Ltd. หนึ่งในไลฟ์โค้ชที่ใช้คำคมในการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัว มองว่า คำคมมีประโยชน์ในการกระตุกให้คนได้ฉุกคิด และนำไปสู่การปฏิบัติ แต่ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังมิให้เนื้อหาของคำคมนั้นไปตัดสินหรือตำหนิผู้อื่น

ด้าน ดร.สุววุฒิ ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำคมว่า เป็นรูปแบบการประชาสัมพันธ์ของไลฟ์โค้ช ที่ดึงดูดความสนใจของคนทั่วไป จากลักษณะที่เข้าถึงได้ง่าย คมคาย และน่าค้นหา อีกทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตรด้วย

นอกจากนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมของไลฟ์โค้ช ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ได้มีการกำหนดแนวทางมาตรฐานหรือจรรยาบรรณของไลฟ์โค้ชอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับอัตราค่าบริการที่ค่อนข้างสูง ก็ดึงดูดให้คนจำนวนมากผันตัวมาเป็นไลฟ์โค้ช ซึ่ง ดร.สุววุฒิมองว่า หลายครั้งปัจจัยเหล่านี้ก็ดึงดูดเอาผู้ที่ไม่ได้มีความพร้อมในการเป็นไลฟ์โค้ชเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป คนที่เล็งเห็นผลประโยชน์จากการสร้างมูลค่าทางเม็ดเงิน หรือแม้กระทั่งคนที่อยากช่วยคนอื่น เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองเก่งและมีความสามารถ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของวงการไลฟ์โค้ชในที่สุด

“ยุคนี้มีไลฟ์โค้ชเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โค้ชที่เก่งๆ ประสบการณ์สูงๆ ก็คงมี ส่วนโค้ชที่อบรม 3 วันแล้วบอกว่าตัวเองเป็นไลฟ์โค้ชก็มีเหมือนกัน และบางทีปัญหาที่เกิดขึ้นก็มักมาจากไลฟ์โค้ชที่เชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป ขาดจรรยาบรรณและจริยธรรมในการทำงาน ซึ่งไลฟ์โค้ชเหล่านี้ก็กำลังทำให้ภาพลักษณ์ของวงการโค้ชเปลี่ยนไปด้วย” ดร.สุววุฒิกล่าว

สำหรับกรณีดราม่าจากผู้ที่เรียกตัวเองว่าไลฟ์โค้ชที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในโลกออนไลน์ คุณพจนารถยอมรับว่าดราม่าเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไลฟ์โค้ช เพราะทำให้คนเข้าใจศาสตร์นี้ผิดเพี้ยนไป แต่เธอก็มองว่า คนเหล่านี้อาจจะไม่ใช่ไลฟ์โค้ช แต่เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ (motivator) ที่มีข้อดีคือ เป็นกลุ่มที่ผลิตคลิปการสอนให้คนดูฟรี และหากเนื้อหาในคลิปเป็นสิ่งที่ดี ก็น่าจะช่วยสังคมได้ ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกอย่างไรก็ตาม

โค้ชอย่างไรให้เกิดประโยชน์

เมื่อถามถึงข้อควรปฏิบัติในการทำงานไลฟ์โค้ช คุณพจนารถแนะนำว่า ไลฟ์โค้ชควรมีความเสถียรในสภาวะจิตของตัวเอง โดยไม่มองว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น แต่ทำตัวเป็นอากาศธาตุที่ให้พื้นที่คนอื่นในการพูดคุยโดยไม่ตัดสิน ซึ่งทักษะนี้ ไลฟ์โค้ชต้องฝึกเองในชีวิตประจำวัน

“เราต้องมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อให้เขาเป็นคนที่ไปฆ่าคนตายมา อย่างหนึ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือ มนุษย์ที่ปกติสุขโดยทั่วไปจะไม่อยากทำลายชีวิต การที่มนุษย์จะฆ่าใคร มันต้องมีอะไรสักอย่าง อาจจะเป็นความกลัว การเสียสละเพื่อปกป้องชีวิต นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ ไลฟ์โค้ชที่ฝึกดีๆ ต้องสามารถเข้าใจได้ว่าเขามีแรงจูงใจหรือที่มาที่ไปที่ทำให้เขาต้องทำแบบนี้ เราต้องไม่ตัดสินเขา พอเป็นแบบนี้ ต่อให้คุยกับคนที่แย่ที่สุด เขาจะรู้สึกได้ว่าบนโลกนี้ยังมีอีกเสี้ยวหนึ่ง มีอีกคนหนึ่งที่รับฟังเขา ก็จะช่วยในการแก้ปัญหาเรื่องการทำความผิด หรือการฆ่าตัวตายในสังคมนี้ได้” คุณพจนารถทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook