#ชานมข้นกว่าเลือด ภาคต่อชาวเน็ตไทยปะทะจีน จวกยับสถานทูตโพสต์กดดัน-เขื่อนแม่น้ำโขง

#ชานมข้นกว่าเลือด ภาคต่อชาวเน็ตไทยปะทะจีน จวกยับสถานทูตโพสต์กดดัน-เขื่อนแม่น้ำโขง

#ชานมข้นกว่าเลือด ภาคต่อชาวเน็ตไทยปะทะจีน จวกยับสถานทูตโพสต์กดดัน-เขื่อนแม่น้ำโขง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฮชแท็ก #ชานมข้นกว่าเลือด และ #MilkTeaAlliance ถูกพูดถึงมากในหมู่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยเมื่อช่วงก่อนรุ่งเช้าวันนี้ (15 เม.ย.) เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย ไต้หวัน และฮ่องกง ที่มีชาใส่นมเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม

การเคลื่อนไหวนี้ต่อเนื่องมาจาก การปะทะกันของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยและชาวจีน ในช่วงที่ผ่านมาของเดือนนี้ ผ่านแฮชแท็ก #nnevvy ว่าตกลงแล้วไต้หวันมีฐานะเป็นประเทศหรือเป็นส่วนหนึ่งของจีนกันแน่ จนสร้างความสนใจให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในหลายประเทศของเอเชีย จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ

หลังจากนั้น เมื่อช่วงกลางคืนวานนี้ (14 เม.ย.) สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ก็โพสต์แถลงการณ์ลงในเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความระบุว่า หลักการจีนเดียวเป็นหลักการที่ถูกต้องอย่าง "ไม่ต้องสงสัย" และรัฐบาลไทยเองก็ให้การรับรอง ดังนั้นชาวไทยที่เห็นต่างออกไป จึงมี "อคติ" และ "ความไม่รู้" ทั้งยังอยากให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยคำนึงถึงความสัมพันธ์กับชาวจีน ที่เสมือนพี่น้องกันมายาวนาน และที่ผ่ามมาจีนก็ช่วยเหลือไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19)

แถลงการณ์สถานทูตยิ่งจุดไฟไซเบอร์

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้นี้ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต จนมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นอย่างล้นหลาม ซึ่งหลายความเห็นระบุว่า การกล่าวหาว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอคติและความไม่รู้ ถือเป็นการดูถูกอย่างรุนแรง ไม่ใช่แค่นั้น ในเมื่อไทยไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของจีน เหตุใดจึงต้องบังคับให้คนไทยเชื่อหลักการจีนเดียว เหมือนที่ทำกับประชาชนของตัวเองด้วย

นอกจากนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนหนึ่งระบุว่า ตนยึดถือหลักการจีนเดียว และไต้หวันเดียว 

เทียบปฏิกริยาจีน-ไต้หวัน

ไม่ใช่แค่นั้น บางความเห็นยังระบุว่า ถ้าจีนมองไทยเป็นพี่น้องกันจริง จะแถลงการณ์ข่มขู่กันเช่นนี้หรือ ทั้งยังนำโพสต์ของนางสาวไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันมาเปรียบเทียบว่า นางสาวไช่อวยพรให้คนไทยมีความสุขในวันสงกรานต์ และให้กำลังใจต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่แสดงถึงความอบอุ่น เพียงเท่านี้ก็เห็นถึงความแตกต่างแล้ว

นางสาวไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน กล่าวสุนทรพจน์ต่อทหาร ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างการเยี่ยมฐานทัพในเมืองไถหนาน ทางใต้ของไต้หวัน เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2563

ชาวเน็ตอีกกลุ่มหนึ่ง เปรียบเทียบอีกด้วยว่า แฟนนางงามชาวไทยมีปากเสียงผ่านคียบอร์ดกับแฟนนางงามฟิลิปปินส์ทุกปี แต่สถานทูตฟิลิปปินส์ไม่เคยออกแถลงการณ์ใดๆ เช่นนี้เลย จึงรู้สึกว่าสถานทุตจีนทำเกินกว่าเหตุ และเป็นฝ่ายทำให้เรื่องลุกลามใหญ่โตไปเอง

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ระบุว่า พี่น้องประสาอะไร สร้างเขื่อนกักแม่น้ำโขงจนคนไทยและคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องเผชิญกับภาวะแห้งแล้งหรือน้ำท่วมฉบับพลัน และระบบนิเวศที่ถูกทำลาย หรือที่จริงแล้วพี่น้องที่ว่านี้ คือพี่น้องแบบตัวละครกาสะลองและซ้องปีบ จากละครเรื่องกลิ่นกาสะลอง

ฟิลกู๊ด เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ / สถานีโทรทัศน์ช่อง 3HDภาพจากละครเรื่องกลิ่นกาสะลอง ขณะซ้องปีป (แฝดน้อง) บีบกรามกาสะลอง (แฝดพี่) เนื่องจากขัดแย้งกันเกี่ยวกับปมชีวิตหลายเรื่อง รวมถึง เรื่องคนรัก

น้ำโขงแห้งผิดปกติหน้าฝนปี 62

การถกเถียงดังกล่าวยังนำไปสู่การวิจารณ์เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนจำนวนหลายเขื่อน ที่มีข้อสันนิษฐานว่า ส่งผลให้ไทยและหลายประเทศที่อยู่ปลายน้ำ เจอความแห้งแล้งและน้ำหลากอย่างสุดโต่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาหรือไม่ ทั้งยังเกิดแฮชแท็ก #StopMekongDam เพื่อโหมกระแสนี้มาอีกแฮชแท็กหนึ่ง

ข้อมูลหนึ่งที่มีการเผยแพร่กันมากในแฮชแท็กนี้ คือ ข้อมูลของ สติมสัน เซนเตอร์ องค์กรคลังสมองที่สนับสนุนสันติภาพและความมั่นคง ที่พบหลักฐานใหม่ว่า ช่วง 6 เดือนหลังของปี 2562 จีนกักเก็บน้ำในแม่น้ำโขงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ระดับน้ำที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ควรจะสูงขึ้น กลับไม่สูงขึ้นเลย ทั้งยังต่ำกว่าช่วงหน้าแล้งของปีดังกล่าวด้วย

Stimson Centerภาพแสดงเส้นคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลตามธรรมชาติ (สีน้ำเงิน) ระดับแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย (สีส้ม)

ทั้งนี้ประเทศจีนมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแล้ว 11 แห่ง โดยแห่งแรก คือ เขื่อนม่านวาน สร้างเสร็จเมื่อปี 2536 ส่วนเขื่อนล่าสุดคือเขื่อนอูน่งหลง เสร็จเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 แต่เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดคือเขื่อน "นว่อจาตู้" เปิดใช้งานเมื่อปี 2555 มีกำลังผลิตไฟฟ้า 5850 เมกะวัตต์ 

Lillian SUWANRUMPHA / AFPภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2562 ริมแม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย ที่แม่น้ำลดระดับลงอย่างรุนแรงทั้งที่เป็นฤดูน้ำหลาก หลังจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา และเขื่อนแห่งหนึ่งในประเทศลาวเพิ่งเปิดได้ไม่นาน

สติมสัน เซนเตอร์ ยังเปิดเผยภาพถ่ายทางอากาศที่เปรียบเทียบระดับน้ำที่ลดลงในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในเดือน ก.ค. ระหว่างปี 2560 และปี 2562 ซึ่งเป็นฤดูฝน จาก 2 จุด ระหว่างชายแดนไทย-ลาว และที่ทะเลสาบ โตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา

Stimson Center / Planet Explorerภาพแม่น้ำโขงที่ชายแดนไทย-ลาว เปรียบเทียบระหว่างเดือน ก.ค. ปี 2560 และ 2562

ขณะเดียวกัน บางคนยังนำเรื่องการรายงานของสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับการที่นักลงทุนจีน สร้างไร่กล้วยจำนวนมากริมแม่น้ำโขงในฝั่งประเทศลาว โดยพบว่าใช้สารเคมีมหาศาล จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวลาว และระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ที่กระทบต่อเนื่องมายังชาวประมงที่ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook