2บิ๊ก ปปง.พีรพันธุ์-สีหนาทรอดถูกไล่ออกหลังโดน ป.ป.ช.ฟัน-กฤษฎีกาชี้ได้รับผลจาก กม.ล้างมลทิน

2บิ๊ก ปปง.พีรพันธุ์-สีหนาทรอดถูกไล่ออกหลังโดน ป.ป.ช.ฟัน-กฤษฎีกาชี้ได้รับผลจาก กม.ล้างมลทิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ป.ป.ช.เงื้อดาบค้างลงโทษไล่ออก-ปลดออก2บิ๊ก ปปง.พีระพันธุ์ เปรมภูติ-สีหนาท ประยูรรัตน์ไม่ได้ แม้ลงมติว่า ผิดวินัยร้ายแรง ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายล้างมลทิน เพราะเคยมีคำสั่งให้ยุติเรื่องมาแล้วกรณีเดียวกัน แต่คดีอาญายังต้องเดินหน้าต่อ กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติเมื่อวันที่ 30 เมษายนวว่า พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)และพ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการ ปปง.ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและติดตามประเมินผล ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมีความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรงเนื่องจากตรวจสอบธุรกรรมทาางการเงินของสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)และนักการเมือง 200 คนโดยไม่ชอบนั้น

ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมถึงความคืบหน้าในการดำเนินการในทางวินัยบุคคลทั้งสองซึ่งมีโทษถึงปลดออกหรือไล่ออกว่า หน่วยงานต้นสังกัดยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมายเพราะบุคคลทั้งสองได้รับผลจาก พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 เนื่องจากบุคคลทั้งสองเคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่ร้ายแรงกรณีเดียวกันและคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า ไม่มีความผิด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องตั้งแต่ปี 2545 แล้ว

ดังนั้น แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีมติว่า มีความผิดวินัยร้ายแรง ก็ไม่อาจเพิ่มเติมโทษทางวินัยที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ยุติเรื่องได้ ทั้งๆที่ในกรณีปกติหน่วยงานต้นสังกัดต้องลงโทษตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูล ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าว สำนักงาน ปปง.และกระทรวงยุติธรรมได้ทำเรื่องหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รื่องเสร็จที่ 468-469/2552)มีสาระสำคัญว่า เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรองเลขาธิการ ปปง. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและติดตามประเมินผลกระทำความผิดทางวินัยร้ายแรง และได้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัย ตามนัยมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่กรณีเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 45/2545 ลงวันที่ 7 มีนาคม2545 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มีความเห็นว่า พฤติการณ์บุคคลทั้งสอง มีมูลเป็นความผิดทางวินัย ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ เป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งลงวันที่ 21 มีนาคม2545 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนซึ่งต่อมาคณะกรรมการสอบสวน เห็นว่า ข้าราชการผู้นั้นไม่มีความผิดทางวินัย จึงเห็นควรยุติเรื่อง และนายกฯเห็นควรยุติเรื่องตามเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2545

จากกรณีดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) มีความเห็นเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งยุติเรื่องจึงทำให้การดำเนินการทางวินัยสิ้นสุดลง ผู้ถูกดำเนินการทางวินัยซึ่งผู้บังคับบัญชาได้สั่งยุติเรื่องก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ย่อมได้รับประโยชน์จากมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ที่ได้บัญญัติว่า "...บรรดาผู้ถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีกระทำผิดวินัยซึ่งผู้บังคับบัญชาได้สั่งยุติเรื่องหรืองดโทษก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 ให้ผู้นั้นไม่ต้องถูกพิจารณาเพิ่มโทษหรือถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้นๆ ต่อไป ทำให้ข้าราชการที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ยุติเรื่องการลงโทษทางวินัยไม่ต้องถูกพิจารณาเพิ่มโทษหรือถูกดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้นๆ ต่อไป

นอกจากนั้นจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 11) ที่ได้ให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่234/2552นั้น ผู้บังคับบัญชาย่อมไม่อาจดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่ได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ นั้นได้ แม้ว่าต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติว่าผู้นั้นกระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงก็ตาม

ดังนั้น การที่ผู้บังคับบัญชาไม่พิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้ที่ได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยตามมาตรา94 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ในช่วงที่ ป.ป.ช.พิจารณาเพื่อลงมติเรื่องดังกล่าว มีการหยิบกประเด็นนี้มาหารือแล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าหน่วยงานต้นสังกัดไม่สามารถดำเนินการลงโทษบุคคลทั้งสองได้ต้องส่งรายการแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ ซึ่งคณะกรรมกการ ป.ป.ช.จะนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการอีกครึ่งหนึ่ง ส่วนการดำเนินการทางอาญานั้นต้องดำเนินการต่อไปคือ สำนักงานอัยการสุงสุดต้องพิจารณาส่งฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook