รัฐบาลแอฟริกันจับมือ บ.เทคโนโลยียักษ์ใหญ่ สู้ข่าวปลอมในช่วง COVID-19

รัฐบาลแอฟริกันจับมือ บ.เทคโนโลยียักษ์ใหญ่ สู้ข่าวปลอมในช่วง COVID-19

รัฐบาลแอฟริกันจับมือ บ.เทคโนโลยียักษ์ใหญ่ สู้ข่าวปลอมในช่วง COVID-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐบาลประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาจับมือกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Facebook และ WhatsApp เพื่อต่อสู้กับข่าวปลอมและการกระจายข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาบนโซเชียลมีเดีย ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งทวีป เนื่องจากระบบการดูแลสุขภาพถูกสั่นคลอน

ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในทวีปแอฟริกา ได้เปิดตัวบริการด้านข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาบน WhatsApp ส่วนไนจีเรีย เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ร่วมมือกับบริการส่งข้อความของ Facebook ในการส่งการแจ้งเตือนให้กับผู้ใช้งาน พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับอาการและการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ

ศูนย์ควบคุมโรคไนจีเรีย (Nigeria Centre for Disease Control – NCDC) ได้รับพื้นที่โฆษณาฟรีจาก Facebook เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานสาธารณสุขใน 11 ประเทศทั่วทวีปแอฟริกาและทั่วโลก

ด้าน Twitter ก็ได้ปรับอัลกอริธึมเพื่อให้ความสำคัญกับข้อมูลทางการแพทย์จากแหล่งข่าวที่เป็นทางการ โดยเริ่มจากใน 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึง 5 ประเทศในแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ทั้งรัฐบาลและบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องเผชิญก็คือ เมื่อไวรัสแพร่ระบาดในวงกว้าง ข่าวลือที่ไม่ได้อยู่บนหลักความเป็นจริงจะกระจายออกไปในแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือที่ว่าคนผิวดำจะไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือการสูดไอน้ำจากการต้มน้ำมะนาวหรือน้ำขิง

นอกจากนี้ รัฐบาลบางประเทศยังต้องพึ่งพามาตรการเชิงลงโทษ เช่นในเคนยา ชายอย่างน้อย 2 คน รวมทั้งบล็อกเกอร์ชื่อดัง ถูกจับกุมตัวในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสลงใน Twitter ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี หรือปรับราว 48,000 เหรียญสหรัฐ ทว่าไม่มีผู้ใดได้รับโทษ

ส่วนประเทศแอฟริกาใต้ก็ออกกฎหมายที่ทำให้ผู้ที่แชร์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสต้องโทษจำคุก 6 เดือน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างเป็นกังวลว่าโพสต์ดังกล่าวจะยิ่งทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และสร้างภาระหนักให้แก่ระบบสุขภาพ หลายคนเคยมีประสบการณ์อันน่าเจ็บปวดจากการแชร์ข้อมูลผิดๆ ที่นำไปสู่การระบาดร้ายแรง เช่น ข้อมูลที่ระบุว่ากระเทียม บีตรูท และมะนาว เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สามารถทดแทนยาต้านรีโทรไวรัส ซึ่งรับรองโดยอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนเสียชีวิตจากการระบาดของโรคเอดส์ในช่วงทศวรรษ 2000s จากข้อมูลของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

เช่นเดียวกับข่าวลือที่ว่า เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือจากต่างประเทศจะนำเชื้ออีโบลาเข้าสู่ชุมชน ซึ่งนำไปสู่การระบาดครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้งในทวีปแอฟริกาในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

และขณะที่ตัวเลขผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มขึ้นในแอฟริกา ข่าวลือเดิมๆ ก็กลับมาอีกครั้ง และถูกขยายโดยโซเชียลมีเดีย โดยเจ้าของร้านค้าในแอดดิส อาบาบาระบุว่า ยอดขายกระเทียมและมะนาวเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ทันทีที่เอธิโอเปียประกาศยืนยันผู้ป่วยรายแรก

ประธานาธิบดีซีริล รามาโพซา แห่งแอฟริกาใต้ ได้กล่าวอย่างชัดเจนเกี่ยวกับข้อกังวลของเขา ในการแถลงเกี่ยวกับภัยพิบัติระดับชาติ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“อันตรายที่ใหญ่หลวงที่สุดต่อประเทศของเรา ณ ขณะนี้ คือความกลัวและความไม่รู้ เราควรหยุดเผยแพร่ข่าวปลอมและข่าวที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ และสร้างความเข้าใจและความตระหนัก” นายรามาโพซากล่าว

ด้าน Facebook และโซเชียลมีเดียคู่แข่ง ทั้ง Twitter และ YouTube มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ใช้งานโพสต์ข้อมูลที่เป็นอันตรายเกี่ยวกับ COVID-19 ลงบนแพลตฟอร์ม โดย Facebook ได้ทำงานร่วมกับผู้ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นบุคคลที่สาม จากประเทศในพื้นที่แอฟริกาใต้สะฮารา จำนวน 15 ประเทศ เพื่อระบุและลบโพสต์ดังกล่าวออกจากหน้า Facebook ส่วน WhatsApp ก็เตรียมทำกระบวนการในลักษณะเดียวกันในไนจีเรียและประเทศอื่นๆ แม้ว่าปริมาณของโพสต์เกี่ยวกับ COVID-19 นั้นจะสูงเกินว่าที่จะตรวจจับได้ทั้งหมดก็ตาม

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook