รู้สึกอึดอัดใจในภาวะไวรัสโคโรนาระบาด อาจมาจาก “ความเศร้าโศก”

รู้สึกอึดอัดใจในภาวะไวรัสโคโรนาระบาด อาจมาจาก “ความเศร้าโศก”

รู้สึกอึดอัดใจในภาวะไวรัสโคโรนาระบาด อาจมาจาก “ความเศร้าโศก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนากำลังเป็นปัญหาวิกฤติทั่วโลก มาตรการรับมือเพื่อหยุดการแพร่เชื้อถูกหยิบยกขึ้นมาบังคับใช้ในหลายประเทศ ทั้งการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) หรือการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ซึ่งการหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนอื่น ๆ อาจส่งผลกับความรู้สึกของคนด้วยเช่นกัน และหลายคนก็คงจะรู้สึกถึงความเศร้าโศกที่กำลังกัดกินหัวใจในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนจากการระบาดของโรค

เดวิด เคสเลอร์ (David Kessler) ผู้เชี่ยวชาญด้านความเศร้าโศก ผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง On Grief and Grieving: Finding the Meaning of Grief through the Five Stages of Loss และผู้เขียนหนังสือเรื่อง Finding Meaning: The Sixth Stage of Grief และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.grief.com ซึ่งมีผู้เข้าชมกว่า 5 ล้านคนจากทั้งหมด 167 ประเทศทั่วโลก ได้แสดงความคิดเห็นว่าเหตุใดการตระหนักรู้ถึงความเศร้าโศกของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ และได้แนะนำวิธีการรับมือกับความรู้สึกเศร้าของตัวเอง

ผู้คนต่างมีความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลายกันไปในช่วงสถานการณ์แบบนี้ เป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะเรียกความรู้สึกเหล่านั้นว่าเป็นความเศร้าโศก

ได้ครับ และเราต่างก็กำลังรู้สึกถึงความเศร้าโศกที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป เรารู้สึกว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไป เรารู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว เดี๋ยวก็ผ่านไป แต่ความรู้สึกของเราไม่ได้บอกแบบนั้นแล้วเราเองก็รู้ดีว่าอะไรหลาย ๆ อย่างจะไม่เหมือนเดิม อย่างการไปสนามบินก็จะไม่เหมือนเดิม เราสูญเสียความเป็นปกติในชีวิตไป ความกลัวเรื่องเศรษฐกิจ และสูญเสียความสัมพันธ์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้กำลังถาโถมใส่เรา แล้วมันทำให้เรารู้สึกเศร้าโดยถ้วนหน้ากัน ซึ่งเราไม่คุ้นเคยกับความรู้สึกเศร้าโศกร่วมกันที่อบอวลอยู่ในบรรยากาศแบบนี้

คุณบอกว่าความรู้สึกเศร้าโศกมีหลายแบบ

ใช่ครับ เรายังรู้สึกถึงความเศร้าโศกล่วงหน้า มันคือความรู้สึกต่ออนาคตที่ไม่แน่นอน ปกติแล้วจะเกี่ยวข้องกับความตาย เราจะรู้สึกแบบนั้นเวลาใครสักคนเป็นเป็นโรคร้ายแรงหรือเวลาที่นึกคิดถึงวันที่เราต้องสูญเสียพ่อแม่ไป ความเศร้าโศกล่วงหน้ายังเกี่ยวข้องกับอนาคตที่วาดฝันเอาไว้ อาจจะเกิดภัยพิบัติขึ้น อาจจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น แต่พอเป็นเรื่องไวรัส ความเศร้าโศกลักษณะนี้ทำให้ผู้คนสับสน จิตใจของเรารู้ว่าเรื่องไม่ดีกำลังจะเกิดขึ้น แต่เรามองไม่เห็นมัน สิ่งเหล่านี้ทำลายความรู้สึกปลอดภัยของเราจนสิ้น เรารู้สึกว่ากำลังสูญเสียความปลอดภัย ผมคิดว่าเราไม่เคยรู้สึกสูญเสียความปลอดภัยในระดับที่ใหญ่มากแบบนี้มาก่อน คือไม่ว่าจะเป็นปัจเจกหรือกลุ่มคน ใคร ๆ ก็รู้สึกแบบเดียวกัน นี่จึงเป็นสิ่งใหม่ พวกเรารู้สึกเศร้าโศกทั้งในระดับเล็กและระดับใหญ่

แล้วเราจะจัดการกับความรู้สึกเศร้าโศกอย่างไร

จุดเริ่มต้นคือต้องเข้าใจขั้นตอนการรับมือกับความเศร้า แต่เมื่อไรก็ตามที่ผมพูดถึงขั้นตอนการรับมือความเศร้า ผมต้องเตือนคนอื่นเสมอว่าขั้นตอนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีอะไรบ้าง การปฏิเสธ (Denial) ที่ก่อนหน้านี้เราพูดกันอยู่ตลอดว่า “ไวรัสนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเราหรอก” ต่อมาก็เป็นความโกรธ (Anger) “แกทำให้ฉันต้องอยู่แต่บ้าน ไปทำอะไรไม่ได้เลย” จากนั้นคือการต่อรอง (Bargaining) “ก็ได้ ถ้ารักษาระยะห่างทางสังคมสัก 2 อาทิตย์ อะไร ๆ ก็คงจะดีขึ้นใช่ไหม” แล้วจะเกิดความเศร้า (Sadness) “ไม่รู้เลยว่ามันจะจบลงเมื่อไร” และสุดท้ายคือการยอมรับ (Acceptance) “มันเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ แล้วฉันต้องหาทางอยู่กับมันให้ได้”

การยอมรับคือขั้นที่มีพลังซุกซ่อนอยู่ เราจะพบว่าตัวเองสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้จากขั้นการยอมรับ “ฉันล้างมือได้ ฉันอยู่ห่างจากคนอื่นได้ และฉันก็เรียนรู้การทำงานจากที่บ้านได้”

ความรู้สึกเศร้าโศกมีผลต่อความเจ็บปวดทางกาย แล้วจิตใจก็ฟุ้งซ่าน มีเทคนิคอะไรที่สามารถนำมาใช้ได้เพื่อทำให้ความรู้สึกนั้นลดน้อยลง

สิ่งที่คุณกำลังพูดถึงอยู่มันคือ ความวิตกกังวล (anxiety) เราจะเริ่มเห็นภาพต่าง ๆ พ่อแม่ของฉันล้มป่วย เราจะมองเห็นภาพที่เลวร้ายมากที่สุด จิตใจของเราจึงปกป้องตัวเอง เป้าหมายก็คือเราต้องไม่สนใจภาพในจินตนาการเหล่านั้นหรือพยายามทำให้มันหายไป แต่จิตใจของคุณจะไม่ยอมปล่อยมันไปและมันก็อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดจากการพยายามหรือบังคับตัวเองให้ทำแบบนั้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือ หาจุดตรงกลางของความคิดคุณ ถ้าคุณรู้สึกว่าเห็นภาพที่เลวร้าย ให้ลองพยายามคิดถึงภาพที่ดี เราทุกคนต่างไม่สบายและโลกก็ยังดำเนินต่อไป ไม่ใช่ทุกคนที่ฉันรักจะต้องตาย หรือบางทีอาจจะไม่มีใครตายเลยเพราะพวกเขาทำตามคำแนะนำที่ถูกต้อง

ความเศร้าโศกล่วงหน้าคือการที่จิตใจคิดถึงเรื่องอนาคตและจินตนาการไปถึงภาพที่เลวร้ายมากที่สุด เพื่อทำให้จิตใจสงบลง คุณต้องอยู่กับปัจจุบัน คุณอาจจะคิดถึงสิ่งของ 5 อย่างในห้อง คอมพิวเตอร์ เก้าอี้ รูปภาพ ผ้าปู แล้วก็แก้วกาแฟ ง่ายมาก หายใจเข้าออก ในวินาทีนั้น คุณไม่เป็นไร คุณยังมีอาหารและคุณยังไม่ป่วย

อะไรที่ควบคุมไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป คุณไม่สามารถไปควบคุมเพื่อนบ้านของคุณได้ สิ่งที่คุณควบคุมได้คือคุณต้องอยู่ห่างจากคนอื่น 2 เมตรและล้างมือบ่อย ๆ ให้โฟกัสอยู่ตรงนั้น

และสุดท้าย นี่เป็นเวลาที่เหมาะที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ทุกคนต่างมีระกดับความหวาดกลัวที่แตกต่างกันและแสดงออกให้เห็นในรูปแบบที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้น อดทนเข้าไว้

หนึ่งในมุมมองของความน่ากังวลใจในการระบาดใหญ่ครั้งนี้ก็คือการกำหนดอะไรล่วงหน้าไม่ได้เลย

มันเป็นแค่เรื่องชั่วคราว พูดแบบนั้นก็น่าจะช่วยได้ ผมทำงานในระบบโรงพยาบาลมากว่า 10 ปี ผมได้รับการฝึกให้รับมือกับสถานการณ์แบบนี้ และผมยังได้ศึกษาเรื่องไข้หวัดปี 1918 อีกด้วย ดังนั้นมาตรการป้องกันที่เราพูดถึงคือสิ่งที่ถูกต้อง ประวัติศาสตร์สอนเราว่าเราจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ เราจะรอด นี่เป็นช่วงเวลาที่เราต้องป้องกันตัวเองให้มาก ไม่ใช่ตื่นตระหนกมาก

จะบอกกับคนที่อ่านแล้วก็ยังรู้สึกเศร้าโศกอย่างไร

พยายามต่อไปครับ การเรียกความรู้สึกนี้ว่าความเศร้าโศกเป็นอะไรที่ได้ผลมาก ๆ มันช่วยให้เรารู้สึกถึงอะไรบางอย่างที่อยู่ในใจ เมื่อคุณพูดว่าคุณรู้สึกอย่างไร คุณจะรู้สึกถึงมันได้และมันเคลื่อนผ่านไป ความรู้สึกต้องแสดงออกมา เราจำเป็นต้องตระหนักว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ เรามักพูดกับตัวเองว่า “ฉันเศร้าจัง แต่ฉันไม่ควรจะเศร้า เพราะยังมีคนที่แย่กว่าฉันอีก” เลิกบอกตัวเองแบบนี้ เพราะจริง ๆ แล้วเรารู้สึกเศร้าได้ แล้วก็ควรรู้สึกเศร้าด้วย และบอกตัวเองว่า “ฉันเศร้าจัง ขอเวลาเศร้าสัก 5 นาทีแล้วกัน” สิ่งที่คุณต้องทำก็คือรู้สึกเศร้า กลัว โกรธ หรืออะไรก็ตาม การปฏิเสธความรู้สึกไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะร่างกายของคุณเป็นตัวสร้างความรู้สึก ถ้าคุณปล่อยให้ตัวเองได้รู้สึก มันจะเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แล้วมันจะสร้างพลังให้กับคุณ จากนั้นคุณก็จะไม่เป็นเหยื่อของความรู้สึกอีกต่อไป

เป็นขั้นเป็นตอนหรือ

ครับ คือบางครั้งเราก็ไม่ยอมรับความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเรามีภาพ “กลุ่มก้อนความรู้สึก” อยู่ในหัว ถ้าเรารู้สึกเศร้าแล้วแสดงออกว่าเศร้า มันก็จะติดอยู่กับเราแบบนั้น กลุ่มก้อนความรู้สึกแย่ ๆ จะถาโถมใส่เรา แต่ความจริงก็คือความรู้สึกผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เรารู้สึกถึงมันแล้วมันก็จะหายไป มันเป็นเรื่องที่บ้าบอมากถ้าจะบอกว่าอย่ารู้สึกเศร้าโศกในห้วงเวลาเช่นนี้ ปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเศร้าแล้วก้าวต่อไปนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook