เผยปี52เด็กช่างตีกันอื้อ เสนอรุ่นพี่ห้ามยุ่งปี1ลดวิวาท

เผยปี52เด็กช่างตีกันอื้อ เสนอรุ่นพี่ห้ามยุ่งปี1ลดวิวาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ว่า ได้มีการประชุมเครือข่ายในการเฝ้าระวังและป้องปรามนักเรียน นักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวาท ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โดยมีนายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธาน และมีผู้แทนผู้บริหาร ฝ่ายปกครองของสถาบันอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนใน กทม. ผู้แทนศูนย์เสมารักษ์ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ต่าง ๆ และผู้แทนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เข้าร่วมประชุม

พ.ต.อ.สมนึก น้อยคง ผู้กำกับการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ บช.น. กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งเหตุของศูนย์วิทยุ 191 รับแจ้งเหตุนักเรียน นักศึกษาจากทุกสังกัดกำลังก่อเหตุตีกัน และจับกลุ่มจะก่อเหตุ ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัวทุกกรณี โดยตั้งแต่ ม.ค.ถึง มิ.ย.ปีนี้ รับแจ้งนักเรียนก่อเหตุตีกันถึง 1,010 ครั้ง ในขณะที่ปี 2550 มีเพียง 718 ครั้ง และปี 2551 จำนวน 639 ครั้ง ส่วนพื้นที่ที่มีสถิติก่อเหตุสูงสุด คือ พื้นที่ สน.เพชรเกษม เนื่องจากตลอดถนนมีโรงเรียนจำนวนมาก ช่วงเวลาก่อเหตุมากสุดคือ 15.00-18.00 น. รองลงมาคือ 12.00-15.00 น. และที่น่าห่วงคือการก่อเหตุมีนาการความรุนแรงเพิ่มขึ้น

"ตำรวจได้ทำแผนเตรียมรับมือเฝ้าระวังทั้งประสานกับสถาบันการศึกษา และมีปฏิทินวันสำคัญของสถาบันการศึกษาทุกแห่ง พร้อมกันนี้จะมีการอบรมการรับแจ้งเหตุของนักศึกษา โดยแจ้งเข้ามาที่หมายเลขโทรศัพท์พิเศษสำหรับกรณีนี้โดยเฉพาะ พ.ต.อ.สมนึก กล่าว

สำหรับสาเหตุของการทะเลาะวิวาท นั้น พ.ต.อ.สมนึกกล่าวว่า มักมาจากการปลูกฝังโดยรุ่นพี่ ดังนั้นจึงเสนอที่ประชุมว่าควรจะแยกนักศึกษาปี 1 ออกไปปลูกฝังระเบียบวินัย โดยห้ามไม่ให้รุ่นพี่ปีมายุ่งกับรุ่นน้อง แล้วให้นำเด็กปี 1 ของทุกสถาบันมาอบรมปลูกฝังความสามัคคีและมีวินัยร่วมกัน ส่วนตัวเชื่อว่าจะลดการก่อเหตุทะเลาะวิวาทลงได้ เพราะการจัดกำลังเข้าไปดูแลขณะเกิดเหตุ เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ส่วนที่เกรงว่าจะได้รับการต่อต้านจากรุ่นพี่นั้น รุ่นพี่ต้องเสียสละเพื่อแก้ปัญหา เพราะการเสียลูกไปคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดาของพ่อ แม่และครอบครัว

ด้านนายเฉลียว กล่าวว่า จากการรายงานของตำรวจ 191 ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่เกิดปัญหา เพชรเกษม บางเขน และบางนา ที่จะต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังอย่างจริงจัง สอศ.จึงได้แบ่งสถาบันเป็น 4 กลุ่มพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มจตุจักร กลุ่มชัยสมรภูมิ กลุ่มสวนหลวง ร.9 และกลุ่มธนบุรี เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังในช่วงเวลาล่อแหลม เช่น ใกล้ถึงวันก่อตั้งสถาบัน โดยตั้งสายครูปกครองร่วมกันเฝ้าระวัง ทั้งนี้จากการวิเคราะห์กันว่าช่วงกลางคืนมักเป็นเหตุส่วนตัว ช่วงกลางวันเป็นเหตุจากกลุ่มสถาบัน และเหตุมักเกิดระหว่างการขึ้นรถโดยสารประจำทาง ทำให้บางพื้นที่แม้ไม่มีสถาบันการศึกษาตั้งอยู่เช่น จตุจักร แต่มีการมาต่อรถโดยสารกันมาก จึงทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น ขณะที่บางกรณีก็เกิดจากศิษย์เก่าของสถาบัน หรือบางกรณีเป็นเด็กที่แต่งตัวชุดนักศึกษาออกจากบ้าน แต่ไม่ได้เข้าเรียน จึงขอให้ผู้ปกครองช่วยดูแลลูกหลานด้วย เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ทั้งนี้การแก้ปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษาจะให้หมดไปคงเป็นเรื่องยาก แต่จะพยายามป้องปรามให้เบาบางลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook