ทางสองแพร่งวิกฤตโควิด-19 ในไทย จะเป็นแบบไหน? "อิตาลี-อิหร่าน" หรือ "ญี่ปุ่น-ไต้หวัน"

ทางสองแพร่งวิกฤตโควิด-19 ในไทย จะเป็นแบบไหน? "อิตาลี-อิหร่าน" หรือ "ญี่ปุ่น-ไต้หวัน"

ทางสองแพร่งวิกฤตโควิด-19 ในไทย จะเป็นแบบไหน? "อิตาลี-อิหร่าน" หรือ "ญี่ปุ่น-ไต้หวัน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากสถิติจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งออกมาตรการป้องกันไม่ให้การแพร่กระจายของเชื้อขยายวงกว้างออกไปมากกว่านี้

จึงมีการออกมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงที่ปกติมีผู้คนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ บางจังหวัด เหลือเพียงแค่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ที่ขายสิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ร้านอาหารตามสั่ง แต่ให้ขายเฉพาะการซื้อกลับบ้าน (Take Home) เท่านั้น พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ลดการเดินทาง และเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการปฏิสัมพันธ์กัน

แต่ดูเหมือนว่ามาตรการต่างๆ ดังกล่าวยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างเคร่งครัดนัก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสาธารณสุขไปจนถึงด้านสถิติต่างมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าหากยังเป็นเช่นนี้อยู่ สุ่มเสี่ยงมากที่จะเกิดอาการ "เอาไม่อยู่" จนทำให้ตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด

ในขณะที่ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวย้ำในระหว่างที่กระทรวงแถลงสถานการณ์ประจำวันว่า หลังจากจำนวนผู้ป่วยผู้ติดเชื้อของไทยขึ้นมาอยู่ในหลักหลายร้อยแล้ว หลังจากนี้จะถึงจุดเปลี่ยนเป็นหลักพัน ถือว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ตรงทาง 2 แพร่ง จากตัวเลขผู้ติดเชื้อ ณ วันนี้ (23 มี.ค.) กระโดดไปที่ 721 รายแล้ว ตอนนี้จึงเป็น "เวลาทอง" หรือ “Gloden Period” ที่เราจะเลือกว่า ยอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งต่อ หรือฉีกออกไปแบบญี่ปุ่นและเกาหลี รวมถึงจีนที่มีสถิติลดลง

“ปกติเมื่อยอดผู้ติดเชื้อกระโดดขึ้นเป็นหลักร้อยแล้ว จะพุ่งเป็นหลักพันหลักหมื่น และอีกไม่นานเราจะพุ่งเป็นหลักพันต่อวัน แต่ ณ วันนี้เราอยู่ที่  721 ราย ยังเป็นตัวเลขที่พี่น้องประชาชนทุกคนจะช่วยกันได้ เลือกได้ว่าจะให้ยอดผู้ติดเชื้อของไทยพุ่งไม่หยุดจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว หรือปรับลดลง”

นอกจากนี้ เนื้อหาสำคัญที่ นพ.ศุภกิจ ต้องการสื่อสารไปยังประชาชนทั่วประเทศ ก็คือ ไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปอยู่ที่พวกเราทุกคนแล้ว เพราะเมื่อตัวเลขก้าวกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ ประชาชนต้องช่วยกันตัดสินใจ จากการติดตามสถานการณ์ของต่างประเทศ มีประเทศที่มียอดติดเชื้อต่อวันถึงร้อยก่อนเราและกำลังพุ่ง เช่น อิตาลี อิหร่าน ยุโรป สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน แม้แต่ประเทศเจริญแล้วอย่าง อิตาลี หรือสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จนทำให้มีคนตายลงจำนวนมากจนน่าตกใจ

เปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปจนถึงระดับหนึ่ง แล้วก็เบนออกไป เกาหลีใต้เคยมียอดผู้ติดเชื้อไปถึง 7,000-8,000 คน ญี่ปุ่นก็หลักพัน ตอนนี้ยอดไม่พุ่งแล้ว ขณะที่ไทยกำลังอยู่ที่ 721 ราย นั่นหมายถึง เรายังเลือกได้ว่าจะไปซ้ายหรือขวา จะทำให้กราฟพุ่งต่อ หรือทำให้ไต่ระดับลง

สำคัญอยู่ที่การปฏิบัติตัวของเราทุกคน หากเราปฏิบัติตามคำแนะนำ ซึ่งเป็นหลักการที่ช่วยป้องก้นโรคได้แน่นอน และมีวินัย อยู่บ้าน ก็จะช่วยหยุดการแพร่กระจายของเชื้อได้ แต่หากทำตรงข้าม ออกไปนอกบ้านกัน เขาปิดสถานที่ต่างๆ แต่ยังออกมารวมตัวก๊งเหล้ากัน เราก็จะเดินไปแบบยุโรปหรืออเมริกา แน่นอนหมายถึงมียอดผู้ติดเชื้อหลักพันคนและไปเรื่อยๆ

“หากไปถึงแบบนั้น ก็นึกไม่ออกว่าทางการแพทย์จะรับมือได้แค่ไหน แม้เราจะทำดีที่สุด แต่การมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม หมายถึงเราจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มตามสัดส่วน จากปัจจุบันจะมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตในสัดส่วน 5% ของผู้ป่วยของโลกทั้งหมด”

คุณหมอศุภกิจ ย้ำว่า หากชุมชน-สังคม ไม่ช่วยกัน วันหนึ่งรัฐก็จำเป็นต้องล็อกดาวน์ บังคับทุกคนไม่ให้ออกจากบ้าน แต่ตอนนี้เป็นเวลาทองที่เราทุกคนยังเลือกได้ อยู่ในมือทุกคน ที่ย้ำเตือนอย่างนี้ เพราะเห็นการเดินทางกลับภูมิลำเนาจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ซึ่งเพียงแค่ก้าวไปขึ้นรถก็เสี่ยงแล้ว เพราะระหว่างทาง นั่งติดๆ กันไปหลายชั่วโมงในระบบปิด อากาศถ่ายเทน้อย บางคนนั่งเบียดกันบนรถตู้ อาจติดเชื้อเมื่อไหร่ไม่รู้ตัว กลับไปถึงบ้าน ไปอยู่กับพ่อแม่ ก็ไปคลุกคลีตีโมงกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ซึ่งมีโอกาสนำเชื้อไปติดท่าน ซึ่งย้ำมาตลอดว่า “ผู้สูงอายุ” เป็นกลุ่มเปราะบาง มีโอกาสที่จะติดเชื้อและเสียชีวิตสูงมาก

“หรือการที่เราต้องออกไปทำงานทุกวัน กลับมาบ้านก็ขอให้อยู่ห่างผู้สูงอายุ ถ้าต้องไปสัมผัสใกล้ชิดคนจำนวนมากต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ในอเมริกาหรืออังกฤษ ที่มียอดผู้เสียชีวิตมาก เพราะมีคนสูงอายุในสัดส่วนที่มาก”

สำหรับการรับมือกับยอดผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนั้น นพ.ศุภกิจ ระบุว่า ตอนนี้มีเตียงรองรับสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสทั่วไป 10,000 เตียง ผู้ป่วยหนัก 2,000-3,000 เตียง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook