“ไวรัสโคโรนา”: มุมมองที่เหมือนแต่แตกต่างของหมอฟอซีและประธานาธิบดีทรัมป์

“ไวรัสโคโรนา”: มุมมองที่เหมือนแต่แตกต่างของหมอฟอซีและประธานาธิบดีทรัมป์

“ไวรัสโคโรนา”: มุมมองที่เหมือนแต่แตกต่างของหมอฟอซีและประธานาธิบดีทรัมป์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐให้สัมภาษณ์ในรายการ “Face the Nation” ในประเด็นเรื่องของการรับมือกับเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาพูดเรื่องการใช้ยาสองตัวคือ ไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) กับอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ที่อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ พร้อมทวีตข้อความตอกย้ำคำพูดของตัวเองอีกครั้ง

 

นายแพทย์ฟอซีชี้ว่า เขาไม่ปฏิเสธว่าสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดอาจสามารถทำได้ แต่หน้าที่ของเขาคือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ให้แน่ใจว่าตัวยาเหล่านี้จะสามารถนำมารักษาโรคได้จริง ทั้งยังมีข้อกังวลอีกว่าหากมีการนำตัวยาทั้งสองชนิดมาใช้จริง ก็อาจก่อให้เกิดการใช้ยาที่มากจนเกินไปจนส่งผลกระทบต่อบุคคลที่จำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้เพื่อรักษาโรคอื่น ๆ

นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อยังกล่าวอีกว่า ตัวเขาเองและประธานาธิบดีทรัมป์ต่างก็ต้องการที่จะต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนา เพียงแต่ทั้งคู่มองปัญหาดังกล่าวจากจุดยืนที่แตกต่างกัน

“ผมใช้จุดยืนทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ขณะที่ท่านประธานาธิบดีพยายามสร้างความหวังให้กับคนทั่วไป” นายแพทย์ฟอซีกล่าว

ทั้งนี้ นายแพทย์ฟอซียังกล่าวต่ออีกว่ามีหลายบริษัทที่เสนอตัวเข้ามาช่วยทำหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกัน และเครื่องช่วยหายใจ พวกเขาเข้ามาช่วยโดยที่ทางภาครัฐไม่ได้บังคับ อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีทรัมป์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่เขาใช้อำนาจภายใต้กฎหมายการผลิตเพื่อการป้องกัน (Defense Production Act) เพื่อเพิ่มการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ไวรัส แต่ก็ยังไม่ยอมใช้อำนาจของรัฐบาลกลางเสียที กฎหมายดังกล่าวได้มอบอำนาจให้กับประธานธิบดีในการสั่งผู้ผลิตสินค้าให้ “จัดลำดับความสำคัญและยอมรับข้อสัญญาของทางรัฐบาล” อีกทั้งยัง “ต้องเอื้อให้เกิดตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ” เพื่อทำให้สหรัฐฯ มีสิ่งของที่จำเป็นในการรับมือกับวิกฤติทางการแพทย์ในครั้งนี้

สุดท้าย นายแพทย์ฟอซีได้กล่าวว่ากำลังมีการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้สามารถส่งตรงไปยังพื้นที่ที่ต้องการมากที่สุด เช่น แคลิฟอร์เนีย รัฐวอชิงตัน และนิวยอร์ก เป็นต้น ซึ่งในตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงกว่า 30,000 ราย ซึ่งนิวยอร์กถือเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 9,000 ราย และนายแพทย์ฟอซีก็ชี้ว่า นิวยอร์กคือพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดที่จะได้รับทรัพยากรและความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและในพื้นที่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook