รายงานพิเศษ : นับถอยหลังสู่การทำสำมะโนประชากรและเคหะ 2553 นับประชากรทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย

รายงานพิเศษ : นับถอยหลังสู่การทำสำมะโนประชากรและเคหะ 2553 นับประชากรทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักงานสถิติแห่งชาติ เชิญชวนประชาชนทั่วประเทศร่วมนับถอยหลังสู่การทำสำมะโนประชากรและเคหะ 2553 ซึ่งเป็นโครงการสำรวจครั้งใหญ่ที่ทำทุก 10 ปี เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรและที่อยู่อาศัยของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย รายละเอียดติดตามได้จากรายงาน เหลืออีกเพียง 1 ปี ก็จะถึงกำหนดจัดทำโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นโครงการสำรวจครั้งใหญ่ที่ทำทุก 10 ปี ในปี ค.ศ. ที่ลงท้ายด้วยเลข "0 หรือ ค.ศ. 2010 ในปีหน้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของสหประชาชาติ โดยจะเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรและที่อยู่อาศัยจริงของประชากรนั้น ในทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญที่แสดงโครงสร้างและการกระจายตัวของประชากรตามที่อยู่จริง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะใช้เป็นฐานข้อมูลหลักในการจัดทำนโยบาย แผนงาน และโครงการต่าง ๆ เพื่อให้บริการทุกด้านแก่ประชาชน ดังนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. จึงเร่งเดินหน้าประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนก่อนจะถึงกำหนดการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั่วประเทศระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2553 โดยนางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสถิติแห่งชาติ เปิดเผยถึงการจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ รวมพล 76 จังหวัด นับถอยหลังสู่การทำสำมะโนประชากรและเคหะ 2553 ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าจัดขึ้นเพื่อชี้แจงโครงการต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและสถิติจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด โดยมีนายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มาร่วมชี้แจงทำความเข้าใจด้วย สำหรับสาเหตุที่กำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 เป็นวันเริ่มโครงการ เลขาธิการสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า จำเป็นต้องหาช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่ในที่พักอาศัยยาวนานที่สุด เช่น ต้องไม่ใช่ช่วงปิดภาคเรียนที่นักเรียนนักศึกษากลับบ้าน เพราะปกติจะเรียนหนังสืออยู่อีกที่หนึ่ง ทั้งนี้ต้องการรู้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ที่ใด เพื่อจะได้สร้างสาธารณูปโภคและตั้งงบประมาณ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อย่างถูกต้อง เดือนกรกฎาคมจึงตรงตามคุณสมบัติที่สุดในภาพรวม โดยกำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 เป็นวันสำมะโนประชากร นอกจากนี้ การทำสำมะโนประชากรและเคหะยังมีความจำเป็นนอกเหนือจากการมีระบบทะเบียนราษฎร์ เพราะทะเบียนราษฎร์เป็นระบบที่กำหนดให้คนไทยต้องมาแจ้ง เพื่อให้มีสิทธิตามกฎหมายของไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้แจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการตาย การย้ายที่อยู่อาศัยจากภูมิลำเนาเดิมเข้ามาทำงานในเมือง หรือไปจังหวัดอื่น ทำให้คนมีชื่ออยู่ ณ ที่หนึ่ง แต่กลับไปอยู่จริงอีกที่หนึ่ง หากใช้ข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์อย่างเดียวเพื่อการจัดบริการพื้นฐานต่างๆ ให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่ อาจทำให้การจัดงบประมาณคลาดเคลื่อนได้ แต่สำมะโนประชากร เป็นการนับข้อมูลจากคนในแต่ละบ้าน ณ ที่อยู่จริง โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือไม่ และยังรวมถึงคนต่างด้าว ซึ่งอาจอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ ในปี 2553 จะทำให้มีข้อมูลสถิติที่ถูกต้องเป็นเข็มทิศในการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นข้อมูลที่ได้จากการนับประชากรทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook