อวสานของแอลดีพี

อวสานของแอลดีพี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รีรอหาโอกาสเหมาะอยู่นาน วันจันทร์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีทาโร อาโสะ ของญี่ปุ่น ก็ตัดสินใจจะยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ โดยกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 30 ส.ค. ประมาณเดือนครึ่งนับจากนี้

โพลสำรวจและนักวิเคราะห์ที่โน่น เกือบทั้งหมดเห็นตรงกัน พรรคแอลดีพีหรือเสรีประชาธิปไตย ที่ครองอำนาจติดต่อกันมาเกือบตลอด 50 ปี คราวนี้จะแพ้สูญเสียอำนาจปกครองประเทศให้กับพรรคประชาธิปัตย์ หรือดีพีเจ แกนนำซีกฝ่ายค้านในปัจจุบัน

มาซามิ โคดามะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคุรุเมะ ฟันธงแบบไม่กลัวพลาด เลือกตั้งครั้งใหม่นี้ดีพีเจจะชนะแบบถล่มทลาย และแอลดีพีอาจเกิดการแตกคอกันครั้งใหญ่ ระหว่างมุ้งต่าง ๆ ภายในพรรค

ซึ่งถ้าไม่เกิดรายการพลิกล็อก ผิดความคาดหมายตามที่ว่านี้ ญี่ปุ่นก็จะรักษาสถิติประเทศที่เปลี่ยนผู้นำบ่อยที่สุดในโลกได้ต่อ ไปอีก

อันที่จริงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ของญี่ปุ่น ต้องมีขึ้นไม่เกินเดือน ต.ค. ปีนี้ การตัดสินใจของอาโสะมีขึ้นหลังจากแอลดีพีแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่น สภามหานครโตเกียว ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นดัชนีชี้วัดการเลือกตั้งระดับชาติ

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาโตเกียว ที่มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ ดีพีเจได้ 54 ที่นั่ง มากสุดในสภาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพรรค เมื่อรวมกับพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ และผู้สมัครอิสระอีก 12 ที่นั่งก็เป็น 66 ที่นั่ง

ส่วนแอลดีพีได้ 38 ที่นั่ง และพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน นิวโคไมโตะ ได้ 23 ที่นั่ง รวมกันก็เท่ากับ 61 ที่นั่ง ขาดไป 3 เสียงจึงจะครองเสียงข้างมากในสภา ซึ่งต้องมีอย่างน้อย 64 ที่นั่ง

สนามระดับชาติ แอลดีพีชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลมาตลอด นับตั้งแต่ปี 2498 เว้นวรรคแค่ 11 เดือนในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. 2536-มิ.ย. 2537 ซึ่งพรรคนิวเจแปน พรรคฟื้นฟูและพรรคสังคมนิยมเข้ามาแทรก

ฐานเสียงหลักของแอลดีพี อยู่ที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ รวมทั้งข้าราชการและประชาชนตามท้องถิ่นชนบท ทำให้ครองอำนาจมาได้อย่างต่อเนื่อง

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วในปี 2548 แอลดีพีชนะถล่มทลายภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ ขวัญใจประชาชน แต่หลังจากปี 2549 ความนิยมต่อพรรคแอลดีพีเสื่อมลงเรื่อย ๆ โดยหลังจาก โคอิซูมิลงจากเก้าอี้ แอลดีพีมีนายกฯ ต่อมาอีก 2 คน แต่อยู่ไม่ครบเทอมทั้งคู่ จนกระทั่งมาถึงอาโสะซึ่งเป็นรายที่ 3

ช่วงหลังความเสื่อมของแอลดีพี ปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แพ้การเลือกตั้งทั้งการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. และเลือกตั้งท้องถิ่นหลายครั้ง ที่สำคัญคือแพ้เลือกตั้งสภาสูงหรือวุฒิสภาเมื่อปี 2550 ปล่อยให้ฝ่ายค้านเข้าไปยึดครองเสียงข้างมาก

ดีพีเจแนวสายกลาง ไม่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อน สมาชิกเกือบครึ่งเป็นอดีต ส.ส. ของแอลดีพีที่แยกตัวออกมา แนวนโยบายหลักก็ไม่มีอะไรโดดเด่น หรือแตกต่างจากแอลดีพีมากนัก ความคาดหวังที่ว่าจะได้เป็นรัฐบาล หากจะว่าไปเป็นเพราะส้มหล่น ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายแอลดีพี จึงอยากลองของใหม่เปลี่ยนขั้วดูบ้าง

ตอนนี้ดีพีเจคึกคักเป็นพิเศษ แกนนำประกาศหากเลือกตั้งครั้งนี้ได้เป็นรัฐบาล ญี่ปุ่นจะอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็น รัฐสวัสดิการ และ ระบบตลาดเสรี ก่อตั้งสังคมที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น และจะลดอำนาจของข้าราชการลง

ในส่วนของแอลดีพี มีความเป็นไปได้สูงที่อาโสะจะถูกบีบให้ลาออก เพื่อหาคนอื่นที่ภาพลักษณ์ดีกว่า นำพาพรรคลงสนามแข่งขันเลือกตั้งครั้งใหม่ เห็นแกนนำพรรค หลายคนบอกว่า หากปล่อยให้อาโสะพาพรรคสู้ศึก ก็เท่ากับเป็นการ ฆ่าตัวตายหมู่

ถ้าได้หัวขบวนใหม่ บวกกับทีมวางแผนหาเสียงของพรรค แก้ปัญหาได้ถูกจุดและทันเวลา การพลิกโพลชนะก็มีสิทธิเป็นไปได้.

เลนซ์ซูม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook