กรอ.มีมติจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขสินเชื่อ สภาพคล่อง

กรอ.มีมติจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขสินเชื่อ สภาพคล่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 ก.ค.) นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาสินเชื่อ สภาพคล่องและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญของการส่งออกให้กับภาคเอกชน โดยให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง รับเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากธนาคารของรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อไป เพราะขณะนี้มีสัญญาณที่ชัดเจนว่ามีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น แทนการสั่งซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม แม้ว่ามีจำนวนไม่มากแต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นออร์เดอร์ที่เข้ามาในปลายไตรมาสที่ 3 หรือต้นไตรมาส 4 หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะทำให้เสียโอกาสอย่างมาก โดยเฉพาะโอกาสของการส่งออกสินค้าที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ

ที่ผ่านมามีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามามาก ในรูปแบบของใบสั่งซื้อหรือใบพีโอ แต่ไม่มีหนังสือสัญญาค้ำประกันหรือแอลซี จากธนาคาร ทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้าผลิตสินค้าเพราะเกรงว่าอาจไม่ได้รับชำระค่าสินค้า ขณะที่ลูกค้าก็พยายามขอต่อรองระยะเวลาการชำระเงินออกไป 1-3 เดือน จากเดิมที่ชำระสินค้าทันที รวมถึงธนาคารพาณิชย์รวมถึงธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงก์ ไม่รับประกันความเสี่ยงจากใบพีโอ จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างมาก

นอกจากนี้ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในสภาพที่แข่งขันกับต่างชาติได้ โดยพบว่าปัจจุบันค่าเงินาทของไทยแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านถึง 2% ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สำคัญ ซึ่งขอยืนยันว่าเอกชนไม่ต้องการให้มีการดูแลค่าเงินบาทโดยให้มีอัตราคงที่ แต่ต้องการให้ดูแลโดยไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น

ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนกำลังมีปัญหาเรื่องคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ แต่ไม่มีแอลซี ซึ่งต้องการให้เอ็กซิมแบงก์ เข้ามาช่วยเหลือทั้งเรื่องของการขยายวงเงิน และการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเอกชนที่จะรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 แห่ง กลับไปจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องให้พร้อม เพื่อนำไปชี้แจงต่อศาลปกครองกลางกรณีที่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามมาตรา 67 ของรัฐะรรมนูญ ปี 50 ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งภาคเอกชนเป็นห่วงในเรื่องนี้อย่างยิ่ง เพราะมีการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดมากกว่า 4 แสนล้านบาท จากกว่า 50 ผู้ประกอบการ ดังนั้นหากมีการชะลอจะยิ่งทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญจะยิ่งส่งผลต่อเนื่องจนทำให้เกิดปัญหาเรื่องยอดขาย หรือการชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงิน รวมไปถึงปัญหาต่างๆอีกมากที่จะตามมาภายหลัง

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการส่งออก ตามที่ภาคเอกชนเสนอ ทั้งความเป็นห่วงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน และปัญหาสภาพคล่อง ที่ต้องการให้ภาครัฐเพิ่มวงเงินให้กับเอ็กซิมแบงก์เพื่อให้ทำธุรกรรมค้ำประกันการส่งออกได้มากขึ้น รวมถึงการธุรกิจการเงินหรือไมโครไฟแนนซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่าการปล่อยสินเชื่ออย่างโปร่งใสเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องการให้เร่งรัดให้มากขึ้นโดยอาจใช้ตัวชี้วัดเข้ามาเป็นเครื่องมือในการเร่งรัดปล่อยสินเชื่อ เช่น กรณีที่เป็นเอ็นพีแอลหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นต้น รวมทั้งให้กระทรวงการคลังเร่งผลักดันให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐนำเรื่องการที่รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 2% โดยให้แยกระบบบัญชี (พีเอสโอ) ออกมาให้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้มีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งให้มีการเพิ่มอำนาจให้กับสาขาของธนาคารเฉพาะกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีแบงก์ เพราะการทำธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ดังนั้นจึงต้องให้อำนาจกับสาขาเพื่อความรวดเร็ว โดยล่าสุดเอสเอ็มอีแบงก์ สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 4,854 ล้านบาท จากเป้าหมาย 26,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน ปล่อยได้ 2,698.27 ล้านบาท จากเป้าหมาย 11,000 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยได้ 13,873 ล้านบาท จาเป้าหมาย 20,000 ล้านบาท ขณะที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อได้เพียง 413.93 ล้านบาท จากเป้าหมาย 30,000 ล้านบาท.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook