รมช.สาธารณสุข ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อ "ไวรัสโคโรนา" ในไทยรายที่ 5

รมช.สาธารณสุข ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อ "ไวรัสโคโรนา" ในไทยรายที่ 5

รมช.สาธารณสุข ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อ "ไวรัสโคโรนา" ในไทยรายที่ 5
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยพบผู้ป่วยชาวจีนติดเชื้อ "ไวรัสโคโรนา" เป็นรายที่ 5 ในประเทศไทย เข้ารักษาที่ รพ.ราชวิถี

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเยี่ยมผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า ได้รับแจ้งจากทีมสอบสวนโรคว่าพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สงสัยโรค จึงส่งผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ผู้ป่วยเป็นหญิงอายุ 33 ปีมีไข้ไอเล็กน้อยไม่มีน้ำมูกมีปวดกล้ามเนื้อ เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่น เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยวันที่ 21 มกราคม 2563 พร้อมลูกสาวอายุ 7 ขวบ เด็กสบายดี

ขณะนี้อยู่ในห้องแยกความดันลบ ผู้ป่วยมีไข้ต่ำๆ อาการทั่วไปดี มีอ่อนเพลียเล็กน้อย ไอเล็กน้อยมีเสมหะ ให้การรักษาตามอาการ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นับเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 5 ที่เจอในประเทศไทย

“ขอให้ประชาชนมั่นใจ การพบผู้ป่วยเพิ่ม แสดงถึงระบบการเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยรายนี้ขอเข้ารับการรักษาเมื่อป่วย ตามใบแจ้งเตือนที่เราแจกผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงทุกคน ขณะนี้เราได้ยกระดับการเฝ้าระวังตามสถานการณ์ของโรค และต้องชื่นชมทางการจีนที่มีมาตรการชัดเจนในการควบคุมป้องกันโรค โดยโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง รวมทั้งในสังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกรมควบคุมโรค ได้มีการซักซ้อมเตรียมความพร้อมเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วย และควบคุมป้องกันการแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสาธิต กล่าว   

ทั้งนี้ โรงพยาบาลราชวิถีได้เตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยไวรัสปอดอักเสบ มีห้องแยกความดันลบไว้ 6 ห้อง เตรียมสำรองเวชภัณฑ์ อาทิ เสื้อกาวน์ หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ยาต้านไวรัส ยาปฏิชีวนะ น้ำเกลือ เพียงพอสำหรับดูแลผู้ป่วย ที่สำคัญได้เตรียมบุคลากรที่ผ่านการซ้อมแผน รวมทั้งมีประสบการณ์การทำงานกับผู้ป่วยไวรัสปอดอักเสบเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้

นอกจากนี้ โรงพยาบาลราชวิถี ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์สั่งการเพื่อส่งต่อผู้ป่วย หลังจากทีม SAT กรมควบคุมโรค ประเมินว่าผู้ป่วยที่มีอาการต้องสงสัยไวรัสปอดอักเสบ จำเป็นต้องได้รับการส่งต่อ เพื่อให้การส่งต่อเป็นไปอย่างปลอดภัยทั้งผู้นำส่งและเส้นทางการนำส่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook