สุริยุปราคา 26 ธันวาคม ชมได้ทั่วประเทศไทย สดร. ย้ำเตือนดูผิดวิธีเสี่ยงตาบอด

สุริยุปราคา 26 ธันวาคม ชมได้ทั่วประเทศไทย สดร. ย้ำเตือนดูผิดวิธีเสี่ยงตาบอด

สุริยุปราคา 26 ธันวาคม ชมได้ทั่วประเทศไทย สดร. ย้ำเตือนดูผิดวิธีเสี่ยงตาบอด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page รายงานว่า จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่านประเทศอินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์บางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็น ดวงอาทิตย์ถูกบดบังแตกต่างกัน ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 81 ส่วนภาคเหนือที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ดวงอาทิตย์จะถูกบังเพียงร้อยละ 40 กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะถูกบังประมาณร้อยละ 56

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เตรียมอุปกรณ์สังเกตดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัย ให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมชมสุริยุปราคาครั้งนี้ โดยจุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ดังนี้

1. อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
2. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา
3. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
4.หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา

 

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงข้อควรระวังเกี่ยวกับการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลา ประมาณ 10:19 - 13:57 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) ว่า การสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นการสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ห้ามสังเกตด้วยตาเปล่าเด็ดขาด การจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ วิธีการสังเกตดวงอาทิตย์โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงผ่านอุปกรณ์กรองแสง และการสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม

วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง เป็นวิธีการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นพอลิเมอร์ดำหรือแผ่นกรองแสงไมลาร์ หรืออุปกรณ์ง่ายๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า

การใช้อุปกรณ์อื่นๆ ไม่ควรใช้ฟิล์มเอกซเรย์ (หากใช้ต้องใช้ฟิล์มเอกซเรย์ที่ยังไม่ผ่านการใช้งานซ้อนกันสองชั้น) ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ แม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ยังไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงจึงต้องมีอุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ และไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง ควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

 

วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม เป็นการดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตาและช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน ได้แก่ ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา การฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป หรือประดิษฐ์กล้องรูเข็มอย่างง่าย ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ โดยเจาะรูเล็กๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปส่องกับแดด แสงแดดจะลอดผ่านรูดังกล่าวตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน รูปร่างของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตจากแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านต้นไม้ตกบนพื้นหรือกำแพง มองเห็นเป็นเงาเสี้ยวของดวงอาทิตย์ได้อีกด้วย

ดร.ศรัณย์ กล่าวย้ำให้ประชาชนระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิตัล โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์กำลังขยายสูง ห้ามถ่ายภาพดวงอาทิตย์ โดยปราศจากแผ่นกรองแสง และห้ามใช้ตาเล็งจากช่องมองภาพโดยตรงเด็ดขาด เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสงและความร้อน การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างถาวรทันที และอาจเกิดความเสียหายต่อตัวอุปกรณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook