"ชัชชาติ" ห่วงน้ำทะเลเพิ่มสูงในอีก 31 ปีข้างหน้า อาจทำกรุงเทพฯ จมบาดาล

"ชัชชาติ" ห่วงน้ำทะเลเพิ่มสูงในอีก 31 ปีข้างหน้า อาจทำกรุงเทพฯ จมบาดาล

"ชัชชาติ" ห่วงน้ำทะเลเพิ่มสูงในอีก 31 ปีข้างหน้า อาจทำกรุงเทพฯ จมบาดาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(31 ต.ค.62) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "มีหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์รายงานผลวิจัยว่าในปี 2050 หรืออีก 31 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อาจจะกระทบกับประชากรของประเทศไทยถึง 10% (6-7 ล้านคน) แทนที่แต่เดิมเข้าใจว่ากระทบเพียงประมาณ 1% (3-6 แสนคน) ข่าวนี้มาจากงานวิจัยในวารสาร Nature Communications โดย Scott A.Kulp และ Benjamin H.Strauss ที่มีการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา (เอกสารอ้างอิง)

การคาดการณ์ผลกระทบของน้ำท่วมจากสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ในอนาคตจะขึ้นกับตัวเลขสองตัว

1. การคาดการณ์ระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มสูงขึ้น

2. การหาค่าระดับพื้นดินว่าอยู่เท่าไร

พื้นที่ไหนที่มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในอนาคตก็จะถือว่ามีโอกาสน้ำท่วมและกระทบกับประชากรในพื้นที่

งานวิจัยนี้ไม่ได้บอกว่าน้ำทะเลจะเพิ่มสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่มีการพัฒนาวิธีการคำนวณระดับพื้นดินที่ถูกต้องมากขึ้น เนื่องจากแต่ก่อนใช้อ่านค่าจากภาพถ่ายดาวเทียม ติดหลังคาสิ่งปลูกสร้างหรือต้นไม้ใหญ่ ทำให้ระดับพื้นที่สูงกว่าความเป็นจริง พอใช้วิธีคำนวณใหม่ทำให้พบว่าระดับพื้นที่จริงต่ำกว่าที่เคยคำนวณไว้มาก ทำให้ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยประมาณ 70% ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ อยู่ใน 7 ประเทศ: จีน บังคลาเทศ อินเดีย เวียตนาม อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

จากการหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ผมคิดว่าเราคงยังไม่ต้องตื่นตระหนกถึงกับย้ายบ้านหนีน้ำท่วม เพราะงานวิจัยดังกล่าวก็ใช้สมมติฐานหลายเรื่องในการสรุปผล แต่เราควรจะต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวว่ามีโอกาสที่น้ำทะเลจะสูงขึ้นและกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต ซึ่งเราเริ่มเห็นแล้วในบางพื้นที่ เช่นบริเวณชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งนอกจากระดับน้ำทะเลแล้วยังมีผลเรื่องการทรุดตัวของดิน และการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งร่วมด้วย

การดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่น่าจะเป็นไปได้คือ

1. กทม. และจังหวัดต่างๆจัดทำแผนที่ความเสี่ยง (Risk Map) โดยเฉพาะค่าระดับ ความเสี่ยงจากน้ำท่วม ของพื้นที่ต่างๆให้ชัดเจน เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจความเสี่ยงของพื้นที่ต่างๆดีขึ้น โดยควรมีการทำแบบจำลองระดับความละเอียดถูกต้อง +/-10 เซนติเมตร (ซึ่งเข้าใจว่าปัจจุบันทางกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการอยู่) การปรับปรุงข้อมูลแผนที่มาตราส่วน 1:4000 และ จัดทำข้อมูลภูมิประเทศและระดับความสูงด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีความละเอียดมากกว่าการใช้แบบจำลองจากดาวเทียมในผลการศึกษา และ ทำให้เราประเมินความเสี่ยงได้ถูกต้องมากขึ้น

2. การกำหนดผังเมือง แนวทางการพัฒนาเมือง การสร้างระบบระบายน้ำ แนวคันกั้นน้ำ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากเรื่องนี้อย่างจริงจัง

3. เพื่อป้องกันระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เราอาจจะพิจารณาการพัฒนาแนวคันกั้นตามแนวคิดของคันกั้นน้ำด้านตะวันออกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยยกระดับแนวถนนที่วิ่งขนานกับอ่าวไทยตั้งแต่แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน โดยใช้แนวถนนเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้เป็นเส้นทาง Logistics ได้ เช่น สุขุมวิทสายเก่า ถนน 3243 ( วัดแหลม-นาเกลือ) ถนน 3423 (สมุทรสาคร-โคกขาม) ถนนพระราม 2

4. ทำเขื่อนกั้นน้ำทะเลและประตูน้ำเพื่อควบคุมน้ำทะเลในจุดที่เส้นทางแนวกั้นน้ำผ่านแม่น้ำและคลองเพื่อทำให้แนวคันกันน้ำมีความต่อเนื่อง

5. วางแผนระยะยาวสำหรับการขนส่งทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และ การใช้ท่าเรือคลองเตยในอนาคต เพราะการขนส่งทางเรือขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบถ้ามีการสร้างเขื่อนหรือประตูน้ำ

6. รณรงค์เรื่องการลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง มีการกำหนดเป้าหมายในการลด Carbon Footprint ของประเทศและจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกรุงเทพฯซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกหลักของประเทศ

(สิ่งที่ไม่ควรทำคือการตั้งคณะกรรมการอีก 5 คณะเพื่อศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม)

ปัญหาทุกอย่าง รับมือได้ ถ้าเราเข้าใจและเอาจริงครับ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook