เผยความหมาย "ราชสวัสดิ์" หนึ่งในความผิดของอดีตเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี

เผยความหมาย "ราชสวัสดิ์" หนึ่งในความผิดของอดีตเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี

เผยความหมาย "ราชสวัสดิ์" หนึ่งในความผิดของอดีตเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากเมื่อคืนนี้ (21 ต.ค.) มีข่าวใหญ่เกิดขึ้น นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดฐานันดรศักดิ์ ยศทหาร พร้อมเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตราจาก เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี

>> เจ้าคุณพระสินีนาฏฯ ถูกถอดฐานันดรศักดิ์-ยศทหาร เรียกคืนเครื่องราชฯ ทุกชั้นตรา

ทั้งนี้ มีการแจกแจงรายละเอียดและเหตุผลของพระบรมราชโองการดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยระบุว่า เนื่องจากกระทำความผิดราชสวัสดิ์ และไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

หลายคนคงอยากรู้ว่าคำว่า ราชสวัสดิ์ มีความหมายว่าอย่างไร และการกระทำความผิดราชสวัสดิ์เป็นเช่นไร ซึ่ง Sanook News ลองค้นคว้าหาคำตอบมาฝากกันได้ดังนี้

คำว่า ราชสวัสดิ์ มักถูกอ้างอิงว่าเป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานไว้เพื่อเป็นข้อเตือนใจและข้อปฏิบัติแก่ราชสำนัก ในขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เคยเขียนบทความเรื่อง "วงศ์เทวัญในอิเหนาและราชสวัสดิ์ในขุนช้างขุนแผน" เผยแพร่ในเว็บไซต์ https://www.mgronline.com โดยระบุว่า ราชสวัสดิ์ มีสอนกันมายาวนาน โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชบริพารและทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดย นายพอพล สุขใส เคยทำวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2550 ในหัวข้อ ราชวัสตี คำสอนของวิธุรบัณฑิตสำหรับข้าราชการที่สืบทอดในวรรณกรรมคำสอนของไทย อันได้รับมาจาก วิธุชาดก และปรากฎในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น โคลงพาลีสอนน้อง โคลงราชานุวัตร พาลีสอนน้องคำกลอน แต่บทที่แพร่หลายนั้นมาจากขุนช้างขุนแผน ตอนที่ 15 ขุนแผนต้องพรากนางลาวทอง ซึ่งเป็นคำสอนของนางทองประศรีที่สอนพลายแก้วก่อนไปรับราชการว่าการเป็นข้าราชการต้องรักษาราชสวัสดิ์ 10 ให้จงดี จึงจะมีความก้าวหน้าในชีวิตราชการ (งานของพระราชา)

ซึ่ง ราชสวัสดิ์ ที่กล่าวถึงนั้นมีใจความดังนี้

โบราณว่าเป็นข้าจอมกษัตริย์    ราชสวัสดิ์ต้องเพียรเรียนรักษา

ท่านกำหนดจดไว้ในตำรา        มีมาแต่โบราณช้านานครัน

หนึ่งวิชาสามารถมีอย่างไร       ไม่ปิดไว้ให้ท่านทราบทุกสิ่งสรรพ์

หนึ่งกล้าหาญทำการถวายนั้น   มุ่งมั่นจนสำเร็จเจตนา

หนึ่งมิได้ประมาทราชกิจ         ชอบผิดตริตรึกหมั่นศึกษา

หนึ่งสัตย์ซื่อถือธรรมจรรยา      เหมือนสมาทานศีลไว้มั่นคง

หนึ่งเสงี่ยมเจียมตัวไม่กำเริบ    เอื้อมเอิบหยิ่งเย่อเฟ้อหลง

หนึ่งอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์      ไม่ทำเทียมด้วยทะนงพระกรุณา

หนึ่งไซร้ไม่ร่วมราชาอาสน์      ด้วยอุบาทว์จัญไรเป็นหนักหนา

หนึ่งเข้าเฝ้าสังเกตซึ่งกิจจา     ไม่ใกล้ไกลไปกว่าสมควรการ

หนึ่งผู้หญิงชาวในไม่พันพัว     เล่นหัวผูกรักสมัครสมาน

หนึ่งสามิภักดิ์รักใคร่ในภูบาล   ถึงถูกกริ้วทนทานไม่ตอบแทน

โดยสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ได้ว่า

ข้อแรก คือ เมื่อมีวิชาอย่างไรต้องกราบบังคมทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทราบ

ข้อสอง ให้ทำงานถวายโดยกล้าหาญมุ่งมั่นจนกว่าจะสำเร็จ

ข้อสาม หากเป็นราชกิจใดก็ตาม ให้ศึกษาและคิดไตร่ตรองให้รอบคอบที่สุดโดยไม่ประมาท

ข้อสี่ ให้มีจริยธรรมรักษาศีลให้มั่นคง

ข้อห้า ให้สงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ฟุ้งเฟ้อ หลงลืมตัว

ข้อหก การอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ต้องไม่ตีตนเสมอ ต้องไม่ทำตัวเทียมเท่า โดยหลงคิดผิดไปว่าตัวเองได้รับพระกรุณาจะทำอะไรก็ได้

ข้อเจ็ด ไม่ไปนั่งพระเก้าอี้ พระโธรน พระราชอาสน์ ซึ่งเป็นของสูงยิ่ง จะเป็นอัปมงคล

ข้อแปด ให้หมั่นสังเกตพระราชกิจและพระราชนิยม รู้จังหวะ รู้ระยะที่เหมาะสม

ข้อเก้า ไม่เล่นหัว ไม่ให้มีเรื่องชู้สาวกับนางในหรือผู้หญิงในวัง ให้เว้นระยะให้เหมาะสม

ข้อสิบ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี อดทนแม้ว่าจะทรงกริ้วหรือทรงโกรธ

อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูล พบว่าการกระทำผิดราชสวัสดิ์ มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นในกรณีของอดีตเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ เพราะการที่ข้าราชการในพระองค์และ/หรือข้าราชบริพาร ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งก่อนหน้านี้หลายคนก็พบว่ามีการกระทำผิดราชสวัสดิ์เช่นกัน

ดังนั้น การกระทำผิดราชสวัสดิ์ จึงเกี่ยวข้องกับหลักการประพฤติปฏิบัติ 10 ข้อ 10 ประการข้างต้น ซึ่งเป็นได้ว่าอาจฝ่าฝืนหรือละเลยที่จะปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook