รายงานพิเศษ : สสช.เปิดให้บริการภูมิสารสนเทศสถิติด้วยเทคโนโลยี GIS

รายงานพิเศษ : สสช.เปิดให้บริการภูมิสารสนเทศสถิติด้วยเทคโนโลยี GIS

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดให้บริการภูมิสารสนเทศสถิติ โดยใช้นวัตกรรมใหม่ในการนำเทคโนโลยี GIS มาแสดงเป็นแผนที่สถิติ พร้อมให้บริการข้อมูลสถิติ/ตัวชี้วัด 200 รายการ และแผนที่ภูมิสารสนเทศสถิติ 800 ภาพ รายละเอียดติดตามได้จากรายงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ในการให้บริการภูมิสารสนเทศสถิติ ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการสัมมนา " สสช.เชิงรุก ตอน : NSO-GIS : นวัตกรรมใหม่เพื่อการบริการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยมีการนำเสนอประโยชน์ของบริการใหม่ล่าสุดนี้แก่ผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่รับผิดชอบด้านข้อมูลสถิติ เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สสช. ได้ผลิตสถิติด้านเศรษฐกิจ และสังคม ปีละกว่า 40 โครงการ โดยที่ผ่านมาเป็นการให้บริการเผยแพร่สถิติ ในลักษณะของตารางสถิติ ข้อมูลตัวชี้วัด กราฟ แผนภูมิมาโดยตลอด แต่ในเดือนกรกฎาคมนี้ สสช.พร้อมเปิดให้บริการในลักษณะภูมิสารสนเทศสถิติ NSO-GIS (National Statistical Office - Geographic Information System) ซึ่งถือเป็นการให้บริการแนวใหม่ สำหรับภูมิสารสนเทศสถิติ เป็นการนำเสนอสถิติ/ตัวชี้วัดเชิงพื้นที่ ที่อ้างอิงกับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ เขตการปกครองจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยใช้เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS (Geographic Information System) มาช่วยแสดงแผนที่สถิติทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ สสช.เป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกที่ให้บริการภูมิสารสนเทศสถิติด้วยระบบ Web Map Service และ Web Feature Service ประกอบด้วย รายการข้อมูลสถิติ/ตัวชี้วัด 200 รายการ และแผนที่ภูมิสารสนเทศสถิติ 800 ภาพ ในมิติของพื้นที่ (ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล) มิติของเวลา (รายปี หรือรายไตรมาส และปีที่ผลิตข้อมูล) โดยนำเสนอจากรายการสถิติที่ สสช.ผลิตและรวบรวม เช่น ภูมิสารสนเทศความหนาแน่นของประชากร ภูมิสารสนเทศการว่าง ภูมิสารสนเทศทางการเกษตร ภูมิสารสนเทศทางเศรษฐกิจ ภูมิสารสนเทศความยากจน เป็นต้น ภูมิสารสนเทศสถิตินี้มีประโยชน์ช่วยในการวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของสถานภาพ/ข้อเท็จจริงทางสถิติระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ให้สามารถเห็นชัดด้วยสายตา และช่วยในการตัดสินใจเชิงลึก รวมทั้งสามารถนำไปวิเคราะห์บูรณาการกับภูมิสารสนเทศอื่น ๆ เพื่อการทับซ้อนสถิติที่หลากหลายในพื้นที่เดียวกันได้อีกด้วย โจทย์ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยยังคงเลี้ยงกระบือไว้ไถนา เหมือนในอดีตหรือไม่ ซึ่งจะวิเคราะห์จากการเรียกดูแผนที่สถิติพื้นที่เพาะปลูกข้าวจากระบบ NSO-GIS เปรียบเทียบกับแผนที่แสดงจำนวนกระบือ พบว่าภาคกลางมีจำนวนกระบือน้อย แต่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวมาก และภาคเหนือมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวน้อย แต่มีกระบือมาก ในตำบลนาทะนง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะในภาคกลางหันมาใช้รถไถนาแทนการใช้กระบือ ส่วนภาคเหนือนิยมเลี้ยงกระบือไว้บริโภค และใช้ในการขนส่งเทียมเกวียน จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า การใช้แผนที่ภูมิสารสนเทศสถิติมีประโยชน์ในการแสดงสถานการณ์ และช่วยในการวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่ อันจะนำไปสู่การวางแผน และบริหารจัดการเชิงพื้นที่ต่อไป ผู้สนใจสามารถใช้บริการแผนที่ภูมิสารสนเทศสถิติ ด้วยระบบ Web Map Service (WMS) และ Web Feature Service (WFS) ตามมาตรฐานของ OGC : Open Geospatial Consortium ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ที่ www.nso.go.th
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook