ต่างชาติโพสต์หยุดซื้อ "สังฆทานสำเร็จ" ถวายพระ เหตุของใช้ไม่ได้-สร้างขยะ

ต่างชาติโพสต์หยุดซื้อ "สังฆทานสำเร็จ" ถวายพระ เหตุของใช้ไม่ได้-สร้างขยะ

ต่างชาติโพสต์หยุดซื้อ "สังฆทานสำเร็จ" ถวายพระ เหตุของใช้ไม่ได้-สร้างขยะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชายชาวต่างชาติหัวใจพุทธ โพสต์เตือนสติสังคม หยุดซื้อสังฆทานสำเร็จรูป ชี้ของใช้ไม่ได้จริง สร้างปัญหาขยะให้วัด ด้านอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แนะลดสร้างขยะให้วัด เปลี่ยนมาใช้ปิ่นโตแทน

ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก Aaron Puranasamriddhi ชายชาวต่างชาติ ได้โพสต์ประเด็นน่าสนใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาขยะที่กำลังรณรงค์ในการลดใช้พลาสติก โดยระบุว่า

"คนไทยเชื่อเรื่องการทำบุญมาก โดยเฉพาะการ “ถวายสังฆทาน” ไม่ว่าจะถวาย”สังฆทานเวียน” ตามวัด (พระมุ่งแต่หาเงิน โดยลืมคำว่า ”สังฆทาน” คืออะไร) หรือซื้อ "ถังสังฆทาน" ไปถวาย โดยเชื่อว่าจะได้บุญเยอะ?

คลิปและรูปที่ให้ดูนี้ผมถ่ายเองที่วัดพระรามเก้า เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา กับของที่คนมาถวายพระ ซึ่งพวกผมนำมาแยกเพื่อรีแพคใหม่ส่งไปช่วยคนที่ประสบอุทกภัย จะเห็นว่าของไม่มีคุณภาพ แม้กระทั่งใส่กล่องใหญ่ๆ แต่ของชิ้นนิดเดียว

เมื่อถาม “คนซื้อมาถวาย เคยดูไหม” ตอบ “ ไม่เคยดู ถวายพระแล้วก็จบ”

เมื่อสมัยผมบวชที่วัดชลประทาน แล้วไปอยู่วัดปัญญานันทาราม เมื่อ 16 ปีที่แล้วพระปัญญานันทมุนี (สง่า) จะพูดกับโยมเสมอว่า อย่าซื้อถังสังฆทานและหลอดไฟมาถวายพระ เพราะอะไร?

เพราะของไม่มีคุณภาพ และที่สำคัญ พระไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่ได้ แถมเกินความจำเป็น

การทำบุญ “ให้ได้บุญ” นั้น ประกอบด้วยบุญกิริยา 3 คือ ก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ มีจิตใจที่บริสุทธิ์ ทรัพย์ที่ถวายพระมาโดยชอบ และผู้รับได้ใช้ประโยชน์

แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นถังสังฆทานและหลอดไฟกองเต็มวัด กลายเป็นขยะ เพราะความเชื่อ(ไม่รู้ใครบอก) ของคนแต่ที่แน่ๆ บริษัทขายหลอดไฟและขายถังสังฆทานรวย การถวายสังฆทาน ไม่จำเป็นต้องชุดใหญ่ แค่ซื้อของชิ้นสองชิ้นที่เรามองว่าเป็นประโยชน์ เช่น น้ำยาล้างจาน ไม้กวาด น้ำมันพืช ฯลฯ ก็ได้ ไปถวายก็เรียกถวายสังฆทานแล้ว

กล่องยาบอกได้เลยว่า “ล้นวัด” แถมกล่องและถัง พอเอาของออกก็เกินความจำเป็น ไม่รวมถึงพลาสติกต่างๆที่ห่อของ ยิ่งประดิษฐ์ประดอยเท่าไหร่ นั้นคือ “ขยะ” ที่มากขึ้นเท่านั้น

ศาสนาพุทธ สอนให้เราใช้ปัญญา ไม่ใช่ความงมงาย ถวายของแต่พอควร บุญมีวิธีทำมากมาย แค่ถือศีล 5 ก็มากกว่าถวายสังฆทานแล้ว แถมไม่เสียเงิน

ขอร้องเถอะครับ “เลิกเป็นเหยื่อทางการตลาด” จากพวกที่ฉกฉวยหาประโยชน์จากความเชื่อของคุณ เลิกซื้อถังสังฆทาน กล่องยา หลอดไฟ ถวายพระเถอะครับ

ลดขยะให้โลก เพิ่มปัญญาให้ตนเอง อยากแข็งแรง ไม่มีโรค ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ อยากชีวิตสดใส ขยันทำงาน ใช้ปัญญาแก้ปัญหา อยากรวย ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน ถ้าอยากถวายสังฆทาน ซื้อของเอง ง่ายกว่าเยอะครับ"

ขณะที่ทางด้าน นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้กล่าวถึงปัญหาประเด็นนี้เช่นกันว่า ปัจจุบันสถานที่ที่กำลังประสบกับปัญหาขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก คือ วัด หรือศาสนสถานของพุทธศาสนิกชนชาวไทย จากการดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

พบวัดหลายแห่ง โดยเฉพาะวัดในเขตเมืองกำลังเผชิญกับปัญหาการจัดการขยะในวัดที่มาจากสังคมนิยมความสะดวกสบายทำให้วิถีการทำบุญเปลี่ยนแปลงไป เช่น นิยมถวายอาหารสำเร็จรูปที่บรรจุในถุงพลาสติกและถุงพลาสติกหูหิ้ว การถวายเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปที่ห่อหุ้มด้วยพลาสติก

การใช้พวงหรีดดอกไม้สดที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้นอกจากการนำไปกำจัดทำลาย ที่สำคัญการจัดงานต่างๆ ในวัดนิยมใช้ภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น แก้วพลาสติก ช้อน-ส้อมพลาสติก หลอดพลาสติก เพื่อความสะดวกสบายโดยไม่ต้องล้างทำความสะอาด ซึ่งก่อให้เกิดขยะและขยะพลาสติกจำนวนมากที่เป็นภาระต่อพระสงฆ์และบุคลากรในวัดที่ต้องรับผิดชอบกำจัดทำลาย

นายรัชฎา กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงรณรงค์เชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการลดการใช้ถุงพลาสติกและถุงพลาสติกหูหิ้วใส่อาหารถวายพระในการทำบุญใส่บาตรในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะวันออกพรรษานี้ โดยขอให้ทำบุญที่ไม่สร้างภาระทางสิ่งแวดล้อมให้กับวัด ช่วยลดปริมาณขยะและขยะพลาสติกในวัด

เลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ล้างทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ปิ่นโต กล่องใส่อาหาร การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ใบบัว แทนการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม รวมถึงการใช้ถุงผ้า ตะกร้าใส่ของไปทำบุญ หรือใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่จตุปัจจัย เครื่องไทยธรรม ไทยทาน ถวายพระสงฆ์ เพื่อให้การทำบุญใส่บาตรของพุทธศาสนิกชนไม่ก่อภาระทางสิ่งแวดล้อมให้กับวัด ลดภาระการจัดการขยะและขยะพลาสติกให้กับพระสงฆ์และบุคลากรในวัดและช่วยลดโอกาสการสร้างขยะพลาสติกที่อาจเล็ดลอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อมด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook