การกีดกันทางการค้ายาพิษเศรษฐกิจโลก

การกีดกันทางการค้ายาพิษเศรษฐกิจโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นับตั้งแต่โลกประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งมโหฬาร ที่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศพี่เบิ้มยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาล้มระเนระนาดไม่เป็นท่ามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนทำให้ต้องรัดเข็มขัดแบบแทบไม่ต้องหายใจกันไปตาม ๆ กัน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการล้มครืนของเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมของอเมริกาก็คือ ความพยายามในการสร้างการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การกีดกันทางการค้าคืออะไร การกีดกันทางการค้า คือ การค้าที่มุ่งคุ้มกันตลาดสินค้าภายในประเทศ โดยพยายามไม่ให้ประเทศอื่นส่งสินค้าชนิดนั้น ๆ เข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตภายในประเทศ โดยสาเหตุที่หลายประเทศนำมาตรการกีดกันทางการค้าหรือ มาตรการที่มิใช่ภาษี มาใช้ เนื่องจาก ปัจจุบันมีความตกลงการค้าเสรีในกรอบพหุภาคี หรือทวิภาคี โดยมีความตกลงว่าการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันให้มากที่สุด ซึ่งความตกลงจะครอบคลุมมาตรการที่มิใช่ภาษีด้วย ทำให้หลายประเทศนำมาตรการที่มิใช่ภาษี มาใช้แทน ลักษณะมาตรการของการกีดกันทางการค้า สำหรับมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) คือมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นกฏระเบียบข้อบังคับของภาครัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างระเทศ โดยองค์การการค้าโลก (WTO) อนุญาตให้ใช้ได้ในกรณีของการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม หรือมีสิทธิใช้เป็นข้อยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน และจำเป็น รวมทั้งเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ พืชและสัตว์ ทั้งนี้ จะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่มีเหตุผล และ/หรือไม่มีผลต่อการกีดกันการค้าอย่างแอบแฝงและต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใต้ความตกลงที่กำกับดูแล ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (The Application of Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) มาตรการเกี่ยวกับอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to trade:TBT) ระเบียบวิธีการออกใบอนุญาตนำเข้า (Import Licensing Procedures) มาตรการการประเมินราคาเพื่อการศุลกากร (Customs Valuation) การตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออก (Pre-shipment Inspection : PSI) มาตรการปกป้อง (Safeguards) มาตรการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) มาตรการเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุน (Subsidies and Countervailing Measures : SCM) มาตรการว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) การต่อต้านการกีดกันทางการค้าในอาเซียน ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่อาเซียนมีการรวมตัวกันเข้มแข็งขึ้น ประเด็นสำคัญที่อาเซียนพยายามเรียกร้องก็คือ การต่อต้านการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการประกาศจุดยืนที่หนักแน่นในการสนับสนุนการเจรจารอบโดฮา อันเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาและการต่อต้านการกีดกันทางการค้า เนื่องจากประเทศอาเซียนที่รวมตัวกันทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงประเทศคู่เจรจานั้น ต่างเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกจำนวนมหาศาล ดังนั้นหากมีการตั้งกำแพงกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าเดิม การส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของบางประเทศก็จะได้รับผลกระทบจนอาจเกิดความเสียหายขึ้นมากกว่าที่คาดเดา จนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของโลกให้ยิ่งถดถอยมากกว่าเดิม ดังนั้นในเวทีการประชุมสหประชาชาติ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจึงได้กล่าวสุนทรพจน์ ในเวทีการประชุมสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 24 - 26 มิถุนายน 2552 ณ นครนิวยอร์ก ว่า ลัทธิกีดกันทางการค้าเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดซึ่งส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของเศรษฐกิจโลก มีศักยภาพในการทำลายล้างสูง โดยจะทำให้ประโยชน์มหาศาลที่เคยได้รับ ทั้งในรูปของการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรือง ที่เคยช่วยให้คนนับล้านหลุดพ้นจากความยากจนมาในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่มีอีกต่อไป อานุภาพทำลายล้างของการกีดกันทางการค้า ดังที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวมาแล้วว่า การกีดกันทางการค้ามีผลกระทบต่อทั้งรูปแบบของการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรือง รวมทั้งปัญหาความอดอยาก หากกล่าวเพียงเท่านี้อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดเจน ตัวอย่างง่าย ๆ ของผลกระทบที่เกิดคือกระบวนการส่งออกสินค้า ประเทศกำลังพัฒนามักมีรายได้สำคัญมาจากการส่งออก เมื่อการส่งออกสินค้าต้องเจอกับกำแพงต่าง ๆ ในการกีดกันการค้า การส่งออกย่อมชะงัก ผู้ส่งออกขาดรายได้ ทำให้ลดการสั่งสินค้าจากผู้ผลิต ซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกรที่ผลิตสินค้าการเกษตรที่เน่าเปื่อยเสียหายได้ ดังนั้นตลอดกระบวนการของการกีดกันทางการค้า จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรในประเทศผู้ส่งออกซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อเรียกร้องจากไทย ในการกล่าวสุนทรพจน์ของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของไทย ยังได้กล่าวว่าถึงขณะนี้ยังไม่มีวีใดที่จะแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้าได้ นอกจากพวกผู้นำของแต่ละประเทศ ในฐานะผู้นำและผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการค้าของประเทศที่จะ ต้องร่วมกันแสดงจุดยืนที่มั่นคง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งโลก ในการนี้นายประดิษฐ์ได้ย้ำว่า ความกล้าหาญที่จะตัดสินใจในภาวะที่ยากลำบากเพื่อประชาชนของแต่ละประเทศ จะทำให้ประวัติศาสตร์บันทึกถึงการตัดสินใจนี้ว่า ณ ช่วงเวลาสำคัญนี้ พวกเราได้ละทิ้งความเห็นแก่ตัว และมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อการพัฒนาและ เพื่อมนุษยธรรม นายประดิษฐ์ ได้กล่าวอีกว่าไม่มีหนทางอื่นที่ดีกว่านี้อีกแล้วที่จะจำกัดผลกระทบของวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินที่มีต่อการพัฒนาของโลก นอกเสียจากการรักษากลไกเสรีการค้าโลกเอาไว้ และเร่งการปฏิบัติให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของการประชุมองค์การการค้าโลกรอบโดฮา เราต้องลงมือทำ เพื่อให้ผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเกิดขึ้นแล้วตกทอดไปสู่ประเทศต่างๆ ของโลกอย่างรวดเร็ว เพราะหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการค้าโลกในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนา แต่หากเราล้มเหลวที่จะแก้ปัญหานี้อย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ เท่ากับเป็นการผลักภาระให้คนรุ่นหลังต้องมาแก้ไข และเราจะสูญเสียเวลาอีกนับสิบปีไปโดยเปล่าประโยชน์ เพื่อให้ผู้นำประเทศได้เข้ามาดำเนินการแก้ไข และขจัดอุปสรรคการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้กลุ่มประเทศอาเซียน และ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ได้ลงนามร่วมกันแล้ว ที่จะขยายขอบเขตทางการค้าและการลงทุนแบบเสรี และยึดมั่นที่จะต่อต้านมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจถดถอยให้เลวร้ายยิ่งขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงที่จะสร้างกำแพงกีดกันการค้าใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นอุปสรรคระหว่างกัน การกีดกันทางการค้า เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับการค้าแบบเสรี ซึ่งต่างมีทั้งด้านบวกและด้านลบ การกีดกันทางการค้าส่งผลเสียมากกว่าผลดีในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยต่อประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ในขณะเดียวกันสำนักข่าวแห่งชาติเห็นว่า การค้าที่เสรีจนไร้ขีดจำกัดก็ส่งผลกระทบเสียหายได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันต่อประเทศกำลังพัฒนาเช่นเดียวกัน หลักสำคัญในการสร้างประโยชน์นั้นไม่ใช่การกำจัดสิ่งใดหนึ่งออกไป ทว่าคือการสร้างดุลยภาพ ด้วยการยึดหลักมนุษยธรรม ยุติธรรม และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มากกว่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook