ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินผู้อื่น 2

ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินผู้อื่น 2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การกระทำบางอย่างเป็นความรับผิดทางอาญาอย่างเดียว การกระทำบางอย่างเป็นความรับผิดทางแพ่งอย่างเดียว และการกระทำบางอย่างเป็นทั้งความรับผิดทางอาญาและความรับผิดทางแพ่งร่วมด้วย ดังนั้นถ้ากรณีข้อเท็จจริงชัดเจนว่าเป็นเรื่องของคดีแพ่ง การดำเนินการในทางคดีเพื่อจะได้รับการชดใช้เยียวยาก็คือการหาทนายความให้ช่วยเหลือในคดี เพราะพนักงานสอบสวนจะดำเนินการให้ในกรณีที่มีมูลคดีทางอาญา ส่วนมูลคดีความผิดทางแพ่งประชาชนจะต้องดำเนินการฟ้องร้องคดีเอง

การดำเนินการที่โรงพักในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจะเป็นเพียงการบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น การที่ประชาชนดำเนินคดีแพ่งเองก็คือการให้ทนายความซึ่งเป็นนักกฎหมายดำเนินการในชั้นศาล เช่น การฟ้องเจ้าของที่ดินที่ปลูกสร้างรุกล้ำให้รื้อถอนออกไปโดยการทำสภาพให้เหมือนเดิม หรืออาจจะฟ้องโดยไม่ต้องให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำออกไปก็ได้ แต่ฟ้องเพื่อให้ผู้ปลูกสร้างรุกล้ำชดใช้ราคาค่าที่ดินส่วนที่รุกล้ำให้แก่เจ้าของที่ดินแทน

กรณีการบุกรุกที่ดินของผู้อื่น ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นบางกรณีเป็นความผิดทางอาญา แต่ข้อเท็จจริงในบางกรณีเป็นความรับผิดทางแพ่งเรื่องละเมิดซึ่งอาจไม่เป็นความผิดทางอาญา เช่นมีการทราบว่ารุกล้ำเมื่อมีการรังวัดแนวเขตในภายหลัง จะเห็นได้ว่า เดิมเข้าใจว่าแนวเขตที่สร้างเป็นที่ดินของตนเอง ซึ่งกรณีที่ยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์กันอยู่นั้น ศาลได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่าไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก เช่น แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2537 คดีนี้นั้นโจทก์และจำเลยต่างนำสืบโต้แย้งแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่ ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ความชัดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จริงหรือไม่ มูลกรณีจึงเป็นเรื่องคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญาหรือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2539 คดีนั้นจำเลยเข้าปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาท ซึ่งฝ่ายโจทก์จำเลยยังโต้เถียงการครอบครองกันอยู่ เป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก

(กรุณาอ่านต่อฉบับวันอังคารหน้า)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook