มาร์ครับจัดการยาเสพติดท้าทายรบ. ขู่เล่นงานจนท.มีเอี่ยว คุย3เดือนรวบระดับบิ๊ก353ราย

มาร์ครับจัดการยาเสพติดท้าทายรบ. ขู่เล่นงานจนท.มีเอี่ยว คุย3เดือนรวบระดับบิ๊ก353ราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายกฯเผยแก้ปัญหายาเสพติดให้ดีสุดต้องสร้างรั้วป้องกันและสร้างความเข้มแข็งให้สังคม ควบคู่ปราบปราม ขู่จัดการจนท. มีเอี่ยวเผย 3 เดือนรวบตัวราชายาเสพติด 353 ราย อายัดทรัพย์91 ล.ด้านก.ทภ.3เผยผู้ค้านอกประเทศ87%ใช้แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่-เชียงรายเป็นจุดพักยา ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จังหวัดนนทบุรี เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมสนทนาสดกับผู้ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขยาเสพติด ผ่านรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ภายใต้ชื่อตอน "5 รั้วล้อมไทย พ้นภัยยาเสพติด โดยมีใจความสำคัญว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการประเมินว่ามีบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องกับวงจรยาเสพติด 1-2 แสนราย รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกำหนดยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเมื่อพูดถึงปัญหายาเสพติด คนจะนึกถึงการปราบปราม ซึ่งบางช่วงได้เน้นการปราบปรามอย่างหนักจนเกินเลยไปถึงขั้นฆ่าตัดตอน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีผู้เสียชีวิตถึง 2-3 พันราย ซึ่งต่อมาก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าหลายคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในช่วงที่ดำเนินนโยบายด้านการปราบปรามอย่างเข้มข้นนั้น ก็ดูเหมือนยาเสพติดจะลดน้อยลง แต่มันเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น เพราะการฆ่าตัดตอนได้ทำให้ราคายาเสพติดสูงขึ้น และทำให้กลุ่มค้าขายไปร่วมกันจัดรูปองค์กรใหม่ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดจึงอยู่ที่การสร้างรั้วป้องกันและสร้างความเข้มแข็งให้สังคม ไปพร้อมๆ กับการปราบปราม

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ในช่วง 3 เดือนหลังรัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ "5 รั้วป้องกัน ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม-15 มิถุนายน พบว่า มีการจับกุมคดียาเสพติดสำคัญในพื้นที่ 50 จังหวัด สามารถจับกุมได้ 190 คดี มีผู้ต้องหา 353 คน โดยมีของกลางเป็นยาเสพติดหลายชนิด อาทิ ยาบ้ากว่า 3 ล้านเม็ด ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถอายัดทรัพย์สินได้ถึง 91.9 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของผู้เสพที่เข้ารับการบำบัดมีประาณ 1.1 หมื่น แต่พบว่าในระยะหลังมานี้ผู้เสพที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดเองได้ลดปริมาณลง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ถูกจับกุมและถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัดเสียมากกว่า

"ที่แย่คือมีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะปัญหายาเสพติดมักพัวพันไปยังปัญหาอื่น โดยเฉพาะปัญหาผู้มีอิทธิพล ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คนเหล่านั้นก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นหลักสำคัญคือต้องจัดการเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด และไปคุ้มครองคนทำผิดกฎหมาย นี่คือจุดท้าทายที่สุดสำหรับรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าว

ด้านพ.ท. กฤษฎา สืบสันติ หัวหน้าแผนกและโครงการฝ่ายยุทธการศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด กองทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงสถานการณ์ยาเสพติดตามแนวชายแดน ว่า บริเวณที่ถูกใช้เป็นแหล่งผลิต หรือเป็นจุดพักยาเสพติดในไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนคือ จ. แม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่ เนื่องจากบริเวณชายแดนเหล่านั้นมักมีชนเผ่ามาพักอาศัยอยู่ ซึ่งชนเผ่าเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับผู้ค้ายาเสพติดจากภายนอกประเทศในฐานะเป็นเครือญาติกัน ทั้งนี้จากสถิติพบว่าในปี 2551 พบปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบนถึงร้อยละ 80 จากนั้นในช่วงต้นปี 2552 ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ดังกล่าวได้ขยายตัวขึ้นเป็นร้อยละ 87 นอกจากนี้ยังพบปัญหาในพื้นที่ภาคอีสานบางส่วนร้อยละ 10 ซึ่งฝ่ายปฏิบัติได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยระยะสั้นจะใช้การกดดันเพื่อให้สถานการณ์การนำเข้าลดลง ส่วนในระยะยาวกองทัพภาคที่ 3 ได้เน้นสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยตั้งหมู่บ้านยามตามแนวชายแดน

พ.ท. กฤษฎากล่าวต่อว่า ส่วนการป้องกันยาเสพติดจากภายนอกทะลักเข้าประเทศไทย ก็มีทั้งการหาข่าวในทางลับ การซุ่มโจมตี การสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ และพลเรือนเพื่อปิดล้อมและตรวจค้นในกรณีที่ยาเสพติดทะลักเข้ามาจุดพักยาในไทยแล้ว ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ที่มีปัญหาทั้งการค้าและการแพร่ระบาดของยาเสพติด ก็จะมีการเปิดยุทธการขั้นเด็ดขาดเป็นช่วงๆ 10-15 วัน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็จะประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ก่อนระดมสรรพกำลังไปเกาะติดพื้นที่ตลอดเวลา

ต่อมาในเวลา 10.30 น. นายอภิสิทธิ์เป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดประจำปี 2552 โดยแบ่งเป็นรางวัลยอดเยี่ยม 5 รางวัล และรางวัลดีเด่นอีก 136 รางวัล โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รมว. ยุติธรรม และพล.ต.ท. กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมแสดงความยินดี

สำหรับบุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 5 รางวัล ประกอบด้วย 1. นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง ได้รับรางวัลด้านการพัฒนานโยบายและการแก้ไขปัญหายาเสพติด 2. นายปราณีต บุญมี ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ได้รับรางวัลด้านการป้องกันยาเสพติด 3. พ.ต.ท. ชำนาญ พุ่มไพจิตร สารวัตรปกครองป้องกัน สถานีตำรวจภูธรสบปราบ จ. ลำปาง ได้รับรางวัลด้านการปราบปรามยาเสพติด 4. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กองบิน 4 อ. ตาคลี จ. นครสวรรค์ ได้รับรางวัลด้านการบำบัดฟื้นฟูและพัฒนาผู้ติดยาเสพติด และ 5. นายธรณิศวร์ บุญแข็ง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจ. เพชรบูรณ์ ได้รับรางวัลด้านการส่งเสริม/สนับสนุนการแก้ปัญหายาเสพติด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook