กอ.รมน.ยันไม่มีสิทธิเรียกปรับทัศนคติ-กักตัว คนเห็นต่างทางการเมือง

กอ.รมน.ยันไม่มีสิทธิเรียกปรับทัศนคติ-กักตัว คนเห็นต่างทางการเมือง

กอ.รมน.ยันไม่มีสิทธิเรียกปรับทัศนคติ-กักตัว คนเห็นต่างทางการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กอ.รมน. แจงอำนาจมี พ.ร.บ. ความมั่นคง เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับ คำสั่ง คสช. ยันไม่มีสิทธิเรียกบุคคลใดมาปรับทัศนคติ และกักตัว รวมถึงคนเห็นต่างทางการเมือง

พลตรีธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า เมื่อ คสช.สิ้นสุดลง รัฐบาลใหม่เข้าถวายสัตย์ฯ กอ.รมน. ก็ยังทำงาน ดูแลความมั่นคง ในสถานการณ์ปกติต่อไป ในฐานะหน่วยประสานงาน และ แม้ว่าจะมีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 อยู่ แต่ กอ.รมน. ก็ไม่ได้มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้ เพราะ กอ.รมน. มีพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร 2551 อยู่แล้ว หากเกิดสถานการณ์ใด ก็สามารถแก้ปัญหาด้วยประกาศพื้นที่ความมั่นคง ตามมาตรา 15 และมาตรา 16 ได้

เมื่อมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงเกิดขึ้น ก็จะประกาศเป็นพื้นที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เมื่อมีการประกาศแล้วก็จะต้องมีการใช้กำลังตาม มาตรา 16 กอ.รมน.เลือกว่าจะใช้อำนาจหน้าที่อย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ยืนยันว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง2551 ไม่ได้ให้อำนาจในการควบคุมตัว หรือเรียกใครมาปรับทัศนคติได้ โดย กอ.รมน. เป็นแค่หน่วยประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ หากจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ก็สามารถใช้กฎหมายปกติ ของหน่วยราชการ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานั้นได้ ไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในการเชิญตัวมาได้

ในส่วนของ มาตรา 13/1 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการอำนวยการ กอ.รมน. ระดับจังหวัด เชิญตัวบุคคลมาได้นั้น ไม่ใช่การเชิญมาปรับทัศนคติ แต่เป็นการเชิญมาให้ข้อมูล ในกรณีที่มีประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หรือจังหวัด ที่ต้องการความเห็นเพิ่มเติม แต่ยังขาดข้อมูลจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็สามารถเชิญมาได้ และ สามารถเชิญมาให้ความร่วมมือในการทำเรื่องดีๆ ให้กับจังหวัดและในพื้นที่ได้ได้ด้วย

นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติในพื้นที่ ก็สามารถเชิญบุคคล หรือตัวแทนหน่วยงานต่างๆ มาร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหาในทันทีทันใดได้เช่นกัน

"ขอยืนยันว่าพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่ได้เชิญตัวบุคคลมาสอบปากคำ หรือ กักขัง เพราะเป็นกฎหมายคนละอย่างกับ คสช. และกอ.รมน.ก็เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสำนักงานนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่กองทัพ กฎหมายนี้ กอ.รมน.จะพยายามใช้โดยที่ไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน เน้นใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่ได้มีอำนาจเรียกบุคคลที่เห็นต่างทางการเมืองเข้ามาพูดคุย รวมถึงการเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ขณะนี้เดินสายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับต่างประเทศด้วย" พล.ต.ธนาธิป กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook