ธ ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม (2)

ธ ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม (2)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2489 ภาพฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม และแสดงออกถึงความจงรักภักดี เต็มไปด้วยความรักและห่วงใย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร มีเสียงหนึ่งที่ตะโกนแทรกเข้าพระกรรณว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน ในขณะนั้นทรงนึกตอบในพระทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นภาพที่ติดอยู่ในพระราชหฤทัยจนไม่อาจทรงลืมได้ จากเดิมที่ทรงตัดสินพระทัยเพียงว่า จะทรงอยู่จนถึงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาเสร็จสิ้นเท่านั้น กลับทำให้ทรงได้คิดว่า ทรงมีหน้าที่เพื่อชาติ และถึงโอกาสแล้วที่ควรจะทรงทำหน้าที่เพื่อชาติและประชาชนตามที่ทรงได้รับมอบมา ประชาชนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินพระทัยแน่วแน่ที่จะอยู่ทำหน้าที่ตามที่ประชาชนพร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวายพระราชภาระแสนยิ่งใหญ่ "ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จรดปลายปากกาเขียนไว้ในหนังสือ "ทำเป็นธรรม เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ว่า ในการตัดสินพระทัยที่ทรงรับพระราชภาระจากสมเด็จพระบรมเชษฐาในครั้งแรก คงจะทรงรับเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะพระพักตร์ในเวลาอันรวดเร็ว ที่จะต้องตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครที่จะถวายความเห็นได้ หันพระพักตร์ไปทางไหนก็ทรงพบแต่ความโศกเศร้า สมเด็จพระราชชนนีได้แต่ทรงพระกันแสง ไม่เสวย ไม่บรรทม แม้พระองค์เองก็แทบจะหมดพระสติ สิ่งที่ทรงรำลึกถึงคือ จะต้องทรงจัดงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาให้สมพระเกียรติ เมื่อทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่า จะทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ จึงทรงมุ่งมั่นศึกษา เพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมรับพระราชภารกิจ โดยทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษาใหม่เป็นรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ อย่างไรก็ดี ทรงยืนกรานที่จะศึกษาจนสำเร็จก่อน แล้วค่อยเสด็จนิวัตประเทศไทย เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทั่งเดือนมีนาคม ปี 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จนิวัตประเทศไทย เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสระบรมเชษฐา หลังจากนั้นในวันที่ 28 เมษายน ปีเดียวกัน ความโศกสลดของปวงชนชาวไทยได้ทุเลาเบาบางลง เมื่อทรงจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสี และต่อมาได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี และแล้ววันที่ประชาชนชาวไทยรอคอยก็มาถึง เมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตามโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 โดยครั้งนั้น ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทย โดยทศพิธราชธรรมจริยา ขณะประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร นับแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงยึดถือพระปฐมบรมราชโองการเป็นแนวทางแห่งการปกครองแผ่นดิน โดยทรงตั้งพระราชปณิธานว่าจะทรงร่วมรับมิว่าทุกข์หรือสุขของประชาชนเท่ากับทุกข์หรือสุขของพระองค์เอง จะทำความดี พัฒนา นำความเจริญความสุขสวัสดีมาสู่ประเทศชาติอย่างแน่วแน่ และดีที่สุดที่จะทรงทำได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงงานอย่างหนัก โดยระยะนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จไปแทบทุกตำบล จากหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี จากนั้น ก็เสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาค ทั้งภาคกลาง, อีสาน, เหนือ และใต้ แต่ละภาคจะเสด็จฯ นานเป็นแรมเดือน โดยทุกภาคที่เสด็จฯ ผ่านมา ล้วนแต่ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ กระนั้นทั้งสองพระองค์ก็มิเคยทรงปริพระโอษฐ์บ่น และจะทรงปรึกษาหารือกันตลอดถึงสิ่งที่ทรงพบเห็น เพื่อหาทางแก้ไขและช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดระยะเวลา 63 ปีของการครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัฯ ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริเพื่อการพัฒนาประเทศไว้มากมาย โดยทรงใช้เวลาศึกษาแผ่นดินไทย แลละเอียดของพื้นดิน ภูมิประเทศหลักๆ ของแหล่งน้ำการเกษตร ความต้องการของประชาชน ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพว่าถิ่นไหนเหมาะแก่การครองชีพอย่างไร โดยทรงทราบถึงความทุกข์ของประชาชนผ่านการถ่ายทอดจากปากสู่พระกรรณ และจากสายพระเนตรที่ทรงพบเห็นด้วยพระองค์เอง ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิ 7 มูลนิธิ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกกว่า 2,000 โครงการ โดยล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และพัฒนาน้ำเป็นอันดับแรก รองลงมาก็คือดิน ธรณีวิทยา การเกษตรทั้งหลาย ตลอดจนการจัดสรรที่ดิน รวมถึงการอนุรักษ์และพัฒนาป่า โครงการที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับทั่วโลก อาทิ "โครงการหลวง กำเนิดขึ้นจากการที่ได้ทอดพระเนตรถึงปัญหาการปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา จึงมีรับสั่งให้ทดลองหาพืชเมืองหนาว ให้ชาวเขาปลูกแทนฝิ่น, "โครงการฝนหลวง กำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม ทรงศึกษาค้นคว้าแนวทางการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เอง ก่อนจะโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการทดลองจริงเป็นครั้งแรก ที่วนอุทยานเขาใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ซึ่งสำนักสิทธิบัตรยุโรปได้ออกสิทธิบัตรถวาย นับเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกและพระองค์เดียวในโลก และล่าสุดที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงคือ โครงการพัฒนาคนตามแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้พระราชทานเป็นแนวทางการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน และเป็นหนทางแก้ไขวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ทั้งหลายทั้งปวงนี้คือ พระราชสัตยาอธิษฐานที่ทรงตั้งปณิธานมาตลอด 6 ทศวรรษการครองสิริราชสมบัติ ที่ทรงดำรงไว้ตามพระราชดำรัสอย่างแท้จริง ในการทำงานอันเป็นภาระกิจที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยเหลือผสกนิกรชาวไทย จนเป็นที่ประจักษ์แก่คนไทยทั้งแผ่นดินว่า ''พ่อหลวง ของคนไทย คือ ผู้ทรงทศพิธราชธรรม อย่างแท้จริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook