พายุฤดูร้อนถล่ม "มณฑปจตุรมุข" หลังเดียวของไทยเสียหาย หาอะไหล่ซ่อมยาก

พายุฤดูร้อนถล่ม "มณฑปจตุรมุข" หลังเดียวของไทยเสียหาย หาอะไหล่ซ่อมยาก

พายุฤดูร้อนถล่ม "มณฑปจตุรมุข" หลังเดียวของไทยเสียหาย หาอะไหล่ซ่อมยาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนเชียงใหม่เร่งบูรณะหลังคามณฑปจตุรมุข-วิหารคด วัดต้นเกว๋น อายุกว่า 150 ปี หลังโดนพายุฤดูร้อนรุนแรงสุดในรอบ 50 ปี พัดถล่มได้รับความเสียหาย แต่อะไหล่ต่างๆ หาได้ยาก เพราะปัจจุบันไม่มีใครผลิตแล้ว

ภาพความเสียหายของหลังคามณฑปจัตุรมุข แบบพื้นเมืองล้านนา และ ศาลาบาตร หรือ วิหารคด ที่มีอายุกว่า 150 ปี ภายในวัดอินทราวาส หรือ วัดต้นเกว๋น ใน ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากแรงพายุฤดูร้อนในพื้นที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้กระเบื้องดินขอมุงหลังคาหลุดปลิวและตกแตกเสียหายจำนวนมาก

แต่การบูรณะหลังคาโบราณสถานเก่าแก่ของวัดแห่งนี้ ยังติดขัดปัญหาเรื่องของกระเบื้องดินขอ เนื่องจากค่อนข้างหายาก เพราะปัจจุบันแทบหาโรงงานที่ผลิตไม่ได้แล้ว การซ่อมแซมจึงต้องสั่งทำเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ได้กระเบื้องดินขอที่ใกล้เคียงกับของเดิม และมีความกลมกลืนเข้ากับสถาปัตยกรรมของมณฑปจตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนาที่พบเพียงหลังเดียวในประเทศไทย รวมทั้ง ศาลาบาตร หรือ วิหารคด ที่ตั้งล้อมรอบวิหารวัดต้นเกว๋น

พระมหาชลัน ภูริวฑฒโน เจ้าอาวาสวัดต้นเกว๋น กล่าวว่า พายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือว่ารุนแรงและหนักที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งวัดพยายามจะซ่อมแซมและบูรณาปฎิสังขรให้กลับคืนสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด แต่กระเบื้องดินขอค่อนข้างหายาก เพราะโรงงานส่วนใหญ่เลิกผลิตไปแล้ว จึงต้องสั่งทำเป็นพิเศษ

ขณะนี้ทางวัดได้สั่งไปแล้วแต่คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทำให้ทางวัดกังวลว่าหาเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นอีก จะทำให้โบราณสถานของวัดเสียหายมากกว่านี้

สำหรับวัดอินทราวาส หรือ ต้นเกว๋น สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2412 สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าหลวงปกครองเมืองเชียงใหม่ เหตุที่ชื่อต้นเกว๋น ตั้งตามชื่อที่ชาวบ้านเรียกว่า มะเกว๋น หรือ ต้นตะขบป่า ซึ่งอยู่ล้อมรอบพื้นที่วัด แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอินทราวาส ตามชื่อครูบาอินทร์ เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น

วัดต้นเกว๋นถือว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์ที่สุด และ เป็นวัดที่งามที่สุดแห่งหนี่งในประเทศไทย จนได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพฯ ในปี 2532 ขณะที่วิหารวัดต้นเกว๋น ยังเป็นต้นแบบของหอคำหลวง ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook